31.12.08

สวัสดีปี 2552


นับถอยหลังสู่วันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่ 2552 กันแล้ว
มีความสุขกันมากๆนะคะ
พักกาย พักใจ พัก…ผ่อน กันให้เต็มที่ ก่อนเริ่มสัปดาห์ใหม่ค่ะ
อย่าลืมแวะมาติดตาม ที่นี่ ทีวีไทย กันต่อ
ทีมงานจะร่วมกันเฟ้นหารายงานในทุกแง่มุม
เพื่อค้นหาคำตอบ นำเสนอให้ท่านผู้ชมค่ะ

19.12.08

เวปฮอต แข่งขว้างเกือกใส่หน้าบุช


ไม่ว่าจะเหตุการณ์หนักหรือร้ายขนาดไหน คนหัวใสก็ไม่วายแปลงเป็นไอเดียสนุกๆ แถมยังขายไอเดียทำเงิน
ตอนนี้หนีไม่พ้นเวปไซต์ sockandawe ที่คนเขียนเกม Alex Tew นำมาจากความชอกช้ำของประธานาธิบดีบุช ที่ต้องหลบรองเท้าของผู้สื่อข่าวชาวอิรัก มันทาซาร์ อัลไซดี้ ขณะแถลงข่าวที่กรุงแบกแดด ของอิรัก เมื่อสุดสัปดาห์ทีผ่านมาค่ะ

หลายท่านคงจะคุ้นกับภาพข่าวจริงๆไปแล้ว

นาย Tew ผู้เชี่ยวชาญการเขียนเวปก็เลยเอามาแปลงเป็นเกมซะเลย

ตอนนี้ฮิตติดลมบนค่ะ เปิดตัวมาสามวันมีคนเข้าชมล้านกว่าคนแล้ว

หน้าผู้นำสหรัฐก็คงจะช้ำไปหมดแล้ว เพราะโดนรองเท้าเข้าที่หน้าไป 37 ล้านกว่าครั้งแล้วจนถึงขณะนี้

อารมณ์ขันก็แรงเชียวค่ะ

ผู้สื่อข่าวต้นเรื่องตัวจริง มันทาซาร์ อัลไซดี้ มีรายงานว่าได้เขียนจดหมายขอโทษสำหรับ shameful act หรือ การกระทำที่น่าละอาย ส่งถึงนายกรัฐมนตรีมาลิกี ของอิรักแล้ว

รายงานระบุว่ามันทาซาร์ ถูกตั้งข้อหาว่า รุกรานประธานาธิบดี และจะต้องถูกจำคุก 15 ปี

น้องชายเขาบอกว่าไม่เชื่อว่าพี่ชายจะยอมเขียนหนังสือขอโทษจริงๆ แต่ถ้าทำก็คงจะเป็นเพราะถูกกดดัน

รองเท้าเจ้ากรรมคู่นั้นถูกทำลายไปแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องตรวจสอบว่ามีระเบิดหรือไม่

เหตุการณ์นี้ทั้งนักข่าว และ ประธานาธิบดีบุช ก็คงจะไม่มีวันลืมค่ะ รวมถึงชาวอาหรับนับล้านคนที่ชื่นชมและเห็นมันทาซาร์ เป็นวีรบุรุษไปแล้ว

วันศูกร์ที่ 19 ธันวาคม อย่าลืมติตตามโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ค่ะ

15.12.08

นายกรัฐมนตรีคนที่ 27: อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


นายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 27 ได้รับทราบกันแล้วนะคะว่า คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หลังจากการโหวดกันในสภา ของบรรดา สส คะแนนที่ออกมา สนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ 235 เสียง ต่อ 198 เสียง ที่ให้พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก

งานนี้เห็นท่าว่าจะไม่มีช่วงน้ำผึ้งพระจันทร์ทางการเมือง เพราะมีภาระหน้าที่ที่ต้องสะสางมากมาย
แค่แบ่งโควต้ารัฐมนตรีก็คงจะเป็นบททดสอบสำคัญแล้วละค่ะ สำหรับผู้นำคนใหม่คนนี้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมในที่นี่ทีวีไทยคืนนี้นะคะ ถึงจุดอ่อน จุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ และนโยบายการทำงานที่ผ่านมาของพรรคจะถูกใจคนในภูมิภาค และคนหาเช้ากินค่ำในเมืองหลวงหรือไม่ แล้วพรรคควรจะปรับทิศทางอย่างไร เพื่อให้ถูกใจชาวบ้าน

14.12.08

อภิสิทธิ์ หรือ ประชา


ทราบกันไปแล้วนะคะว่า ไม่มีการ "โฟนอิน" ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในการชุมนุมของกลุ่ม นปช หรือกลุ่มพลคนเสื้อแดง ในรายการความจริงวันนี้สัญจร เพียงแต่ได้เห็นภาพวีดีโอบางส่วนที่บันทึกไว้ล่วงหน้า
คุณทักษิณบอกว่าคุณเสนาะ เที่ยนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ขอไว้ว่าอย่าโทรศัพท์เข้ามาคุยสด เพื่อจะได้เสนอชื่อของพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นนายกรัฐมนตรี
จากนี้ไปจนถึงเวลา 9.30น วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม ก็คงจะเกิดความเคลื่อนไหวนอกสภาบ้าง แต่ผลจะชี้ชัดก็ต้องรอการโหวตกันในสภาแล้วละค่ะ ว่าที่การพูดคุยต่อรอง ที่ประกาศกันมาตลอดหนึ่งสัปดาห์ จะลงเอยด้วยประการใด
ตอนนี้นอกจากจะเป็นศึกระหว่าง "แม่บ้าน" ของสองค่าย ก็คือทางคุณเสนาะ เทียนทอง และ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ จากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว
"ว่าที่" นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ก็คงจะลุ้นๆกันอยู่ว่าจะได้เป็นหรือไม่
ณ นาทีนี้ก็เห็นแล้วนะคะว่าเป็นการขับเคี่ยวระหว่าง "หล่อใหญ่" และ "อินทรีย์อิสาน" หรือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับ พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพือแผ่นดิน
ก็ต้องติดตามการขับเคี่ยวกันในสภาแล้วละค่ะ ว่าจะลงเอยประการใด ระหว่างนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัย 44 ปี หรือ นายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ไม่ว่าจะเป็นใครภาระข้างหน้าที่ใหญ่หลวงกำลังรออยู่

5.12.08

สามสาวสามมุม กับบทบาทระดับโลก




สามรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงของสหรัฐ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่?
วันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน เป็นอีกวันที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับการเมืองสหรัฐ และอาจจะเป็นระดับโลกด้วย เมื่อประธานาธิบดีคลินตันในยุคนั้น แต่งตั้งนางเมเดลีน อัลไบรท์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 64 และเป็นผู้หญิงคนแรกของสหรัฐที่ได้ทำงานนี้

แต่ไม่ได้จบแค่คุณอัลไบรท์ค่ะ เพราะวันนั้นเป็นเพียงการปูทางให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ จนถึงวันนี้ สหรัฐกำลังจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้หญิงถึง 3 คนในรอบ 12 ปี

หลังจากคุณอัลไบรท์ ก็มีพลเอกโคลิน พาว มาคั่นกลาง ก่อนที่จะตามมาด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนถัดมา คือ ดอกเตอร์คอนโดลีซ่า ไรซ์ และ กำลังจะตามมาด้วยอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ นางฮิลลารี คลินตัน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากว่าที่ประธานาธิบดีโอบามา ของสหรัฐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คำถามน่าจะเกิดตามมาว่า ผู้หญิงหรือที่เหมาะกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ความเป็นผู้หญิงจะช่วยให้การเจรจาต่อรองทางการเมืองสำคัญๆที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด สำเร็จได้มากขึ้นหรือไม่

ส่วนหนึ่งก็คงอดไม่ได้นะคะที่นักวิเคราะห์จะมองอย่างนั้น แต่ถ้าพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะตัวของทั้งสามคนจะเห็นได้เลยว่ามีความสามารถโดดเด่น ในสายงานเวทีระดับระหว่างประเทศ และความสามารถทางการเมืองไม่ได้น้อยหน้าใครเลย

ดอกเตอร์เมเดลีน อัลไบรท์ เป็นลูกสาวของนักการทูตค่ะ พ่อของเธอโจเซฟ คอร์เบล เคยทำงานด้านการทูตที่สาธารณรัฐเชค และต่อมาเป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์คนสำคัญก็คือ คอนโดลีซ่า ไรซ์ และเขาเป็นคนที่กระตุ้นให้เธอเห็นว่าอนาคตของเธอจะต้องอยู่ในวงการระหว่างประเทศ
ดอกเตอร์อัลไบรท์ เป็นผู้เปิดฉากประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงและถือได้ว่าอยู่ในตำแหน่งที่สูงสุดเท่าที่ผู้หญิงเคยทำงานในรัฐบาลสหรัฐ

ผลงานหลักๆของเธอก็คือการให้การสนับสนุนด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และ ส่งเสริมการค้าการลงทุนของสหรัฐ และการยกระดับเรื่องการจ้างงานและสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศของเธอเน้นด้านบอสเนียเฮอร์เซโกวิน่า และเรื่องตะวันออกกลาง

อีกหนึ่งหญิงที่สร้างประวัติศาสตร์ก็คือ ดอกเตอร์คอนโดลีซ่า ไรซ์ ผู้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเมื่อปี 2005 หรือ 2548 เป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้ทำหน้าที่นี้ และเป็นคนผิวสีคนที่สอง ต่อจากพลเอกโคลิน พาว ที่ได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศผิวสีคนแรก

ก่อนหน้าที่ดอกเตอร์ไรซ์ จะเป็นรัฐมนตรี เธอเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงภายในให้กับประธานาธิบดีบุช นโยบายของเธอเน้นการส่งเสริมประชาธิปไตย และตะวันออกกลาง แต่ช่วงที่เธอรับตำแหน่งประเด็นสงครามอิรักกลายเป็นเรื่องใหญ่ตลอดเวลา 8 ปี ของวาระประธานาธิบดีบุช เลยดูเหมือนจะทำให้บทบาทของเธอดูไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

และอีกคนที่กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าก็คือ นางฮิลลารี คลินตัน ที่กำลังจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนถัดไปของสหรัฐ และเธอจะกลายเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐคนแรกที่รับหน้าที่นี้ และจะเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่ได้รับเลือกได้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี

ไม่ต้องพูดถึงประสบการณ์อันมากมายของเธอในช่วงที่เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่เป็นผู้นำสหรัฐ ช่วงปี 1993-2001 และตัวฮิลลารีเอง ความสามารถก็เป็นที่ประจักษ์กับการเป็นวุฒิสมาชิกนครนิวยอร์ค โดยได้รับเลือกด้วยคะแนนล้นหลามในปี 2000 และ 2006
สำหรับภาระหน้าที่ใหม่ ทั่วโลกก็คงจะได้เห็นเธอเดินทางไปในประเทศต่างๆ เพื่อทำงานสำคัญๆให้กับรัฐบาลของโอบามา ก็จะต้องจับตากันจริงๆนะคะว่าเธอจะทำงานร่วมกับประธานาธิบดีโอบามาได้ขนาดไหน จะเข้ากันได้มั้ย หรือจะแย่งชิงกันเป็นดาวเด่น

ฮิลลารี บอกว่า ตำแหน่งใหม่นี้ “น่าจะเป็นการผจญภัยที่ลำบากแต่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น”





1.12.08

Give Peace a Chance: ให้โอกาสสันติภาพ

ห้าปีก่อนถ้ามีใครมาบอก หรือมาคาดเดา ว่าในปี 2008 จะเกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย และอาจจะต้องถึงขั้นใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ดิฉันก็คงจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้ได้คิดว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นได้และเป็นไปได้จริงๆค่ะ
ตอนที่ดิฉันเคยเดินประท้วงร่วมกับชาวกรุงลอนดอน และชาวนานาประเทศ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2003 เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนั้นเป็นช่วงที่ชาวโลกตื่นตัวมากกับการทำสงครามของสหรัฐในอิรัก อดีตนายกรัฐมนตรีแบลร์ ของอังกฤษ ให้ความร่วมมือกับประธานาธิบดีบุชของสหรัฐคนปัจจุบัน (ที่กำลังใกล้จะหมดวาระ) พาประเทศและกองกำลังของทหารนานาชาติ เข้าไปบุกอิรัก โดยอ้างว่าเพื่อค้นหาอาวุธทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction)
กระแสจงเกลียดจงชังถูกปลุกเร้าสูงมากในยุคนั้น โดยเฉพาะต่อชาวมุสลิม โดยที่ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำ แต่การที่รัฐบาลสหรัฐวาดภาพให้ชาวมุสลิม เป็นกลุ่มที่โจมตีสหรัฐ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2001 ทำให้พี่น้องมุสลิมจำนวนมากตกเป็นผู้ต้องสงสัยไปอย่างช่วยไม่ได้

เหตุที่ต้องออกไปประท้วงกันตามท้องถนนมากมายขนาดนั้น เพราะคนไม่ต้องการเห็นการทำสงครามอีกแล้ว ไม่ต้องการเห็นการสูญเสีย เลือดเนื้อ และชีวิต เพราะสงครามไม่ได้สร้างคุณงามความดีให้กับใครเลย มีแต่ความสูญเสีย ไม่แต่เฉพาะคนที่ต้องเสียชีวิตเท่านั้น ญาติ พี่น้อง ครอบครัว ก็ต้องรับความเสียหายทั้งร่างกาย จิตใจ และ อารมณ์ตามไปด้วย

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในไทยตอนนี้ช่างน่าสะท้อนใจเหลือเกิน ว่าคนไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก้ปัญหาอย่างสันติ ไม่เผชิญหน้ากัน กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว (อย่างน้องก็สำหรับกลุ่มที่พยายามเอาชนะกันอยู่)

จนถึงขณะนี้เชื่อมั่นว่ายังไม่สายเกินไปค่ะ ที่ทุกคนจะร่วมกันหยุดยั้งไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง ไม่ต้องรอให้มีคนบาดเจ็บ ล้มตาย ไปนับร้อย นับพัน แล้วค่อยมาพูดถึงการเจรจาแก้ปัญหาด้วยสันติภาพ

เริ่มตอนนี้แหละค่ะ ช่วยกันคิดก่อนว่าความรุนแรงจะต้องไม่เกิด แล้วทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยกันไม่ให้เกิด ดิฉันเชื่อว่าถ้าเรามั่นใจก่อนว่าสันติภาพจะเกิดได้ แทนที่จะไปปลุกเร้าเพื่อให้ย่อยยับกันไปข้างหนึ่ง เสียงเพียงหนึ่งเสียงจะกลายเป็นหลายเสียงเพื่อกระจายออกไปให้ดังๆว่า เราต้องการการแก้ปัญหาด้วยสันติภาพ ดีกว่าตะโกนว่ากระหายเลือดเป็นไหนๆ