9.11.13

#บันทึก EF 2013 7 พฤศจิกายน 2556 Q and A กับ ส.ว.หญิงรัฐมิสซูรี่ พรรคเดโมแครต

#บันทึก EF 2013 7 พฤศจิกายน 2556  Q and A กับ ส.ว.หญิงรัฐมิสซูรี่ พรรคเดโมแครต

Sen. Claire McCaskill (D-Mo) วุฒิสมาชิกหญิงคนแรกของรัฐ Missouri วันนี้สละเวลามาตอบคำถามของ Eisenhower Fellows ที่ Missouri History Museum 

Senator Claire McCaskill แห่งรัฐมิสซูรี่ ในช่วงถาม-ตอบ กับ Eisenhower Fellows at Missouri History Museum 

Senator Claire McCaskill (D-MO)


เป็นนักการเมืองหญิงที่เต็มไปด้วยมันสมอง และความตั้งใจในสายอาชีพนักการเมืองอย่างชัดเจน แม้จะมีเวลาเพียง 15 นาทีกับการตอบคำถาม 4-5 คำถาม แต่เป็นการตอบที่สะท้อนตัวตนของวุฒิสมาชิกหญิงท่านนี้ได้เป็นอย่างดี ที่ฉันสนใจอย่างมากคือจุดยืนของความเป็นนักการเมืองผู้หญิง ท่านวุฒิสมาชิกบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะเป็นทั้งผู้นำและเป็นเหยื่อในเวลาเดียวกัน ที่มาไกลได้ขนาดนี้เพราะทำงานหนัก เตรียมตัวตลอดเวลา และมีอารมณ์ขัน และเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่จะต้องมั่นคงกับจุดยืนของตนเอง ไม่ใช่เรื่องผิดที่ผู้หญิงจะต้องมียุทธศาสตร์ และมีความทะเยอทะยาน

สำหรับบทบาทของผู้หญิงในฐานะนักการเมือง ที่ต้องทำงานในสภาคองเกรสที่แบ่งแยกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน วุฒิสมาชิกแห่งรัฐมิสซูรี่ ตอบอย่างติดตลกว่า ต้องสร้างห้องน้ำเพิ่ม และอธิบายต่อว่า ตอนนี้มี ส.ว. หญิง 20 คน เวลาไปเข้าห้องน้ำพร้อมๆกันแค่ 4-5 คนก็ต้องต่อคิว เพราะมีห้องน้ำแค่สองห้อง ถ้ามี ส.ว. ผู้หญิงเพิ่มต้องขอห้องน้ำเพิ่ม” (ส.ว.อเมริกันมีทั้งหมด 100 คนค่ะ  ฉะนั้นสัดส่วน ส.ว.หญิงคือ 20 เปอร์เซ็นต์)  

(ฟังดูอาจจะขำๆที่ ส.. มาพูดเรื่องห้องน้ำ แต่ดิฉันยกนิ้วให้ด้วยความชื่นชมเลย ที่ท่าน ส.ว. หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาแบบติดตลก เรื่องนี้เป็นอีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับลักษณะกายภาพของผู้หญิง แต่เวลาสถาปนิกก่อสร้างตึก หรืออาคารต่างๆ มักจะไม่ได้นึกถึงความจำเป็นเรื่องนี้ ว่าเวลาผู้หญิงทำธุระส่วนตัวจะใช้เวลานาน และจะยุ่งยากกว่าผู้ชาย เวลาไปเข้าห้องน้ำในที่สาธารณะเช่นโรงหนัง โรงละคร จะพบว่าผู้หญิงต้องต่อคิวยาวนานกว่า ใช้เวลามากกว่า และที่จริงจำนวนห้องน้ำสำหรับผู้หญิงอาจจะต้องมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ)



แม้จำนวน ส.ว.หญิงของสหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 5 ของ ส.ว. ผู้ชาย คุณแคลร์บอกว่าตอนนี้ทำงานแบบเป็นเพื่อนกัน ถึงแม้จะอยู่ต่างพรรค และพยายามช่วยเหลือกัน คุยกันฉันท์มิตร  และบอกว่าในระบบประชาธิปไตยจำเป็นที่จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเป็นมิตรต่อกัน และทำงานร่วมกันในฐานะผู้หญิง ที่จริงไม่มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนมากๆก็ช่วยได้เยอะเหมือนกัน  (ฮา)
การทำงานในฐานะนักการเมืองหญิงบอกว่า ตอนอายุ 13 ตั้งใจเลยว่าจะต้องเป็นผู้ว่าการรัฐให้ได้ แต่ดิฉันก็ล้มเหลว ไม่ได้รับเลือก แต่ที่สุดดิฉันได้เป็นวุฒิสมาชิกผู้หญิงคนแรกของรัฐ คุณแคลร์บอกได้ความภูมิใจ

มุมมองต่อบทบาทของรัฐบาลสหรัฐน่าสนใจไม่น้อย คุณแคลร์บอกว่า บทบาทของรัฐบาลสำคัญ แต่ไม่ควรจะยิ่งใหญ่จนเกินไป รัฐบาลต้องยอมรับว่าได้เข้ามาทำงานจากการเลือกตั้ง และต้องยอมรับว่าขอบเขตอำนาจมีจำกัด ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลคือสร้างประโยชน์ให้มากที่สุดกับประชาชน เธอเสริมว่า สิ่งที่สหรัฐต้องเร่งสร้างคือพัฒนาคุณภาพการศึกษา เน้นการสร้างงาน  ต้องมองไปข้างหน้าแล้วว่าบุคลากรรุ่นต่อไปจะทำงานอะไรในเศรษฐกิจระดับโลก ที่ความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐกำลังลดลง ตลาดแรงงานหันไปอยู่ที่ประเทศอื่น ชนชั้นกลางของสหรัฐไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เคยเป็น จะปรับตัวอย่างไรเพื่ออนาคตของประเทศ นี่คือคำถามสำคัญ

คุณแคลร์ปิดท้ายว่า เราทุกคนต่างวางตนเองเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ และเป็นเรื่องง่ายที่จะคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก เป็นเรื่องยากที่แต่ละคนจะก้าวออกมาจากพื้นที่ส่วนตัว คือครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เพื่อที่จะทำประโยชน์ช่วยเหลือคนอื่น แต่เราต้องคิดถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และพิจารณาว่าเราจะทำอะไรเพื่อคนอื่น เป็นเรื่องสำคัญที่จะนำพาสังคมให้ก้าวหน้า

พูดสั้นๆ กระชับ ตรงไปตรงมา และรับรู้ได้ถึงความตั้งใจทำงาน และความห่วงใยต่ออนาคตประเทศชาติ ฟังเธอพูดแล้วอดย้อนคิดถึงการเมืองไทยไม่ได้..ไม่ต้องพูดถึงว่าอนาคตจะไปทางไหน ถ้ายังติดหล่มปัจจุบันกันอยู่แบบนี้


Senator Claire McCaskill (D-Mo) had Q and A session with EF Fellow at Missouri History Museum.

A remarkable U.S. woman politician who has shown strong conviction in what she is doing. On being a woman politician, she said “I was determined since I was 13 that I wanted to be a governor, I failed, but I turned out to be the first woman senator of Missouri.”

On woman senator’s role in bipartisan atmosphere, she said “we have 20 women senators now, if we have more, we need more restrooms.” She said that women senators from both parties have developed friendships and trust which is very important to gain in democracy. “Not much testosterone and it helps,” Sen. McCaskill notes.


She also stresses that it is hard to be leader and a victim at the same time, she said “I succeed because I work hard, I am very prepared and I have a sense of humor. Also it is very important for women to have affirmation, nothing is wrong to be strategic and ambitious (for women).” 

8.11.13

บันทึก EF2013 6 พ.ย.2556 พบองค์กรสื่อที่ Washington DC

บันทึก EF2013 6 พ.ย. 56 พบผู้ให้ทุน Public Media ผู้กำกับสื่อ และนักวิชาการสื่อที่ DC

ห่างหายจากการ up blog ไปนาน ติดค้างข้อมูลอยู่เยอะมาก นอกจากจะประชุมพบกับบุคลากรในวงการสื่อแล้ว ยังเดินทางหลายเมืองแต่ละเมืองอยู่ประมาณ 2-3 คืน จึงไม่ค่อยเอื้ออำนวย แต่จะพยายามต่อไปค่ะ เรื่องความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในไทยกับการรวมพลังส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับการเร่งรีบผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้เห็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนอีกครั้ง และครั้งนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ หรือ social media มีบทบาทอย่างมาก ที่สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนให้ออกไปร่วมชุมนุมโดยมิได้นัดหมาย แต่เป็นการแสดงพลังอย่างพร้อมใจกัน โดยที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลเร่งรีบออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใด หรือกลุ่มใด แต่ต้องการให้เกิดการตรวจสอบตามหลักนิติรัฐอย่างแท้จริง แม้ข่าวในไทยจะไม่ได้เป็นข่าวเกรียวกราวในสหรัฐ แต่สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง และสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกกับดิฉันว่าดูเหมือนการเมืองไทยจะกลับมาร้อนแรงอีกแล้ว และสิ่งที่คนอเมริกันที่ห่วงใยประเทศไทยฝากบอกคือ หวังว่าจะไม่เห็นความรุนแรงเกิดขึ้นอีกตามท้องถนน เป็นเสียงสะท้อนจากคนอเมริกันท่านหนึ่งที่คุ้นเคยกับประเทศไทยมานาน รักและห่วงใยประเทศไทยไม่แพ้คนไทยเช่นกันค่ะ

6 พฤศจิกายน ดิฉันอยู่ที่กรุงวอชิงตันดีซีค่ะ กลับไปที่เมืองหลวงของสหรัฐอีกครั้งเพราะว่าเป็นนัดแรกๆของต้นเดือนตุลาคมที่ต้องยกเลิกไปเพราะเจอปัญหา Government Shutdown โชคดีที่สับเปลี่ยนเวลาได้ลงตัวได้มีโอกาสกลับไปที่ DC อีกรอบ

กับคุณ Pat Harrison ประธาน CPB 



นัดแรกตอนเช้าพบกับคุณ Pat Harrison ผู้นำหญิงที่ทำงานมาหลายภาคทั้งภาคการเมืองและภาคธุรกิจ ตอนนี้ดำรงตำแหน่งประธาน CPB หรือ Corporate for PBS

อธิบายง่ายๆคือคุณ Pat ผู้ดูแล CPB เป็นผู้คุมกระเป๋าเงินสำหรับสื่อสาธารณะในสหรัฐ ที่มีทั้ง PBS, NPR และ ITVs เป็นต้น โดยเป็นหน้าที่ของ CPB ที่จะเป็นหน้าด่านดูแลสื่อสาธารณะ คอยจัดสรรเงินให้ และคอยต่อรองกับรัฐบาล แต่ละปี CPB จะได้งบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนเงินลดลงมาเรื่อยๆ จากแต่ก่อนที่ได้สูงถึงปีละ 485 หรือ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

งบประมาณที่ CPB ได้จำนวนนื้ จะใช้จัดสรรเพื่อสนับสนุนการพัฒนารายการต่างๆและข่าวของ PBS และNPR เป็นต้น โดยไม่ใช่ว่าแต่ละสถานีของ PBS จะได้งบประมาณเท่าๆกัน เป็นเรื่องที่แต่ละสถานีท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ 360 แห่งทั่วประเทศจะต้องสร้างผลงานให้ประจักษ์ และมีเหตุผลดีมากพอที่จะขอรับเงินสนับสนุนจาก CPB และแนวทางระดมทุนอีกด้านของแต่ละสื่อท้องถิ่นก็คือการหาเงินบริจาคจากคนในท้องถิ่นเพื่อความอยู่รอด และคงไว้ซึ่งปรัชญาของ PBS ถ้าคิดคำนวณโดยเฉลี่ยงบประมาณจากภาษีที่คนอเมริกันจ่ายให้ CPB อยู่ที่ $1.35 ต่อคน ต่อปี ซึ่งต่ำมาก ซื้อกาแฟหนึ่งแก้วยังไม่ได้เลย

คุณ Pat ระบุว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองภายในสหรัฐ และมีความไม่ลงรอยกันสูงระหว่างพรรครีพับลิกัน และเดโมแครต สถานการณ์ ของสื่อสาธารณะยิ่งอันตราย เพราะจะถูกแรงกดดันให้ต้องลดงบประมาณลงเรื่อยๆ คุณแพทบอกอย่างมุ่งมั่นว่าอย่างไรจะไม่มีทางละทิ้งอุดมการณ์ของความเป็นสื่อสาธารณะที่ต้องเน้นทำรายการเพื่อสังคม แม้จะเป็นรายการที่อาจจะขายไม่ได้ในเชิงพาณิชย์ แต่เป็นความจำเป็นของสื่อสาธารณะที่จะต้องคงอยู่เพื่อผลิตงานคุณภาพ ความหลากหลาย และสะท้อนสังคม โดยไม่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของฝ่ายใด รายการที่คุณแพท กำลังมุ่งมั่นมากก็คือรายการเด็ก Hispanic-American ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก และสะท้อนกลุ่มคน Hispanic ที่เป็นฐานใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังกำหนดทิศทางทางการเมืองในสังคมอเมริกันอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มขึ้น

ที่พอจะทำให้อุ่นใจได้ขณะนี้คือ CPB จะได้รับเงินก้อนอย่างน้อย 2 ปีล่วงหน้าเพื่อที่จะรับประกันว่าจะมีเงินในการจัดสรรให้กับสื่อสาธารณะไปจนถึงปี 2016 ซึ่งแต่ละครั้งเงินก้อนที่ผูกพันจะได้รับคำมั่นต่อสัญญาครั้งละ 2 ปีล่วงหน้า ฉะนั้นช่วงนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำงานและเสนอทางออกเพื่อคลายแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองด้วย

คุณแพท เปรยว่าได้รับโทรศัพท์จากนักการเมืองบ่อยในระดับหนึ่ง ที่โทรมาบ่นว่าทำไมบางรายการเนื้อหาเอียง หรือดูเข้าข้างอีกฝ่าย คุณแพทบอกสั้นๆว่า “They just called me directly, but I am not afraid of it” คุณแพทบอกว่าโทรสายตรงมาหาเธอเลย แต่ฉันไม่กลัวหรอก และย้ำว่า CPB ไม่มีหน้าที่ไปกำกับเนื้อหาของ PBS แต่มีหน้าที่พิจารณาให้เงิน PBS มีหน้าที่พิสูจน์คุณภาพกับคนดูด้วยการผลิตรายการที่มีคุณภาพเพื่อประชาชน และต้องระลึกถึงประชาชนส่วนใหญ่ของสหรัฐที่ไม่ยอมจ่ายเงินเป็นสมาชิก Cable TV เพราะว่าด้านหนึ่งอาจจะไม่มีกำลังจ่าย แต่อีกด้านหนึ่งชื่นชมความเป็นสื่อสาธารณะและต้องการติดตามต่อไป


มีนัดต่อที่ FCC และคุณกับอาจารย์ Barbara Cochran จะนำมาเล่าต่อนะคะ