6.8.17

Meet Up With Nattha: คุยกับรองเลขาธิการอาเซียน ด้านประชาสังคมและวัฒนธรรม



Meet up with Nattha: คุยกับ

คุณวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที รองเลขาธิการอาเซียน ด้านประชาสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อความเข้าใจของคนไทยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน มักจะนึกถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC  แต่ที่จริงอาเซียนมีสามเสาหลักนอกเหนือไปจากประชาคมเศรษฐกิจ อีกสองเสาคือเสาการเมืองและความมั่นคง และเสาสังคมและวัฒนธรรม

เสาสังคมและวัฒนธรรม  (Socio Cultural Community) ทำหน้าที่ดูแลประชากรกว่า  600 ล้านคนในอาเซียน และคนที่เป็นผู้นำดูแลด้านนี้คือ คุณวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที รองเลขาธิการอาเซียน ด้านประชาสังคมและวัฒนธรรม ฟังวิสัยทัศน์และมุมมองเพื่อที่จะทำให้คนอาเซียนรู้จักกันใกล้ชิดมากขึ้น

โดยเฉพาะในปีนี้ที่อาเซียนกำลังจะครบรอบ  50 ปี

ออกอากาศในรายการข่าวเจาะย่อโลก ThaiPBS
เสาร์ที่ 5 สิงหาคม เวลา 22.05 น.




เมื่อผู้นำสหรัฐฯ​ และรัสซีย ต่างพักร้อนไล่เลี่ยกัน ในช่วงอุณหภูมิการเมืองร้อนระอุระหว่างสองประเทศ

เรื่องชิลชิล ของผู้นำรัสเซียและสหรัฐฯ ที่ลาพักผ่อนระหว่าง อุณหภูมิการเมืองระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย ที่กำลังร้อนสุดขั้ว

ขณะที่ท่านผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์​ เจ ทรัมป์ ลาพักร้อนยาว 17 วัน ด้วยเหตุผลว่ากำลังปรับปรุงระบบปรับอากาศที่ทำเนียบขาว ขอลาพักร้อนยาวๆ ไปตีกอล์ฟ ดีกว่า บอกว่าจะทำงานไปด้วย แต่ที่เคยต่อว่าประธานาธิบดีโอบามาไว้ ผ่านทวิต ว่าท่านอดีตประธานาธิบดีพักร้อนนานเกินไป ข้อมูลคือโอบามา ไม่เคยลาพักนานติดต่อกันเท่าทรัมป์

ท่าน วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มีภาพนี้มาอวดต่อสายตาชาวโลก ขณะกำลังไปพักผ่อนที่เมืองตากอากาศทางตอนใต้ของไซบีเรีย นอกจากจะนอนเล่นอาบแดดบนเรือ โชว์กล้ามอย่างสบายใจแล้ว ยังมีชอตตกปลาตัวโต ภาพนี้ปรากฎผ่านสถานี RT ของรัสเซีย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีรายละเอียดว่าท่านผู้นำรัสเซียไปล่องแพ ขับเรือยนต์ เดินป่า และขับรถขับเคลื่อนสี่ล้อในป่า ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ยืนยันว่าเป็นผู้นำที่ดูแลสุขภาพ และฟิตมากสำหรับความเป็นประธานาธิบดี


ในเชิงจังหวะเวลาน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะท่านปูติน เลือกที่จะใช้เวลาไปพักผ่อน หลังจากรัสเซียมีคำสั่งว่าสหรัฐฯจะต้องลดจำนวนนักการทูตในรัสเซียลง 755 คน และเตือนว่าสถานการณ์สองประเทศอาจจะต้องตึงเครียดกันไปอีกพักใหญ่ หลังจากสภาคองเกรสลงมติคว่ำบาตรรัสเซียระลอกใหม่

ขณะที่ท่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศหยุดพักเป็นเวลา 17 วัน โดยจะใช้เวลาที่กอล์ฟคลับส่วนตัว ที่ New Jersery ซึ่งการประกาศพักผ่อนยาวๆเช่นนี้ ต่างกับที่เคยประกาศไว้อย่างสิ้นเชิง ทรัมป์เคยบอกว่าจะไม่หยุดพักร้อน เพราะไม่รู้จะหยุดไปทำไม

การพักผ่อนเป็นเวลา 17 วันของทรัมป์ เริ่มนับหนึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลอาจจะมาจากความจำเป็นเรื่องการปรับปรุงระบบปรับอากาศบริเวณ West Wing และ Oval Office ของทำเนียบขาว โดยเจ้าหน้าที่สื่อของทรัมป์ระบุว่า เป็นการทำงานไปด้วยพักผ่อนไปด้วย "Working Vacation"


ปี 2004 ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์กับ Larry King ว่า คนที่ประสบความสำเร็จที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ไม่เคยหยุดพักร้อน เพราะการทำงานก็คือการพักอยู่แล้ว ผมแทบจะไม่เคยหยุด
ช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ทรัมป์เคยทวิต mention Obama ต่อว่าตรงๆว่า เห็นท่านเล่นกอล์ฟเมื่อวาน แล้ววันนี้ลาพักต่ออีก 10 วัน ดูแล้วช่างเป็นจริยธรรมที่ดีในการทำงาน!

*หมายเหตุ: ภาพนี้คือภาพที่ทรัมป์ตีกอล์ฟ ที่ผู้สื่อข่าวบันทึกได้เมื่อปี 2012 ไม่ใช่ภาพปัจจุบันในปี 2017

10.2.16

Nattha's blog

Nattha's blog
“ประธานาธิบดีสหรัฐแห่งแปซิฟิค” โอบามา เร่งกระชับสัมพันธ์กับผู้นำอาเซียนในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ คานสมดุลอำนาจกับประเทศจีน

ปี 2552 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยกล่าวไว้อย่างขึงขังว่าเขาคือ “ประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกแห่งแปซิฟิค” ในระหว่างการเยือนสี่ประเทศในเอเชีย คือญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และเกาหลีใต้ ความหมายโดยนัยยะสำคัญต่อจุดยืนของสหรัฐในระดับภูมิภาค ที่นอกจากจะส่งสารถึงผู้นำในเอเชียว่า “สหรัฐกลับมาแล้ว” หลังจากห่างหายจากภูมิภาคไปในยุคของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันตั้งใจส่งสัญญาณถึงจีนโดยตรงว่าสหรัฐไม่ละบทบาทความเป็นผู้นำในเอเชียแปซิฟิค ซึ่งตามมาด้วยการประกาศ “Pivot to Asia” หรือนโยบายสร้างสมดุลใหม่ในเอเชีย

เมื่อมองไปข้างหน้า บารัก โอบามา เหลือเวลาทำงานในฐานะผู้นำสหรัฐถึงปลายปี 2559 ก่อนที่จะต้องส่งมอบตำแหน่งให้กับผู้นำคนใหม่ และดูเหมือนมีหลายเรื่องที่พยายามผลักดันที่เกี่ยวข้องกับแปซิฟิค เพื่อให้สมกับที่เคยเอ่ยว่าเป็นประธานาธิบดีแห่งภูมิภาคนี้

นอกจากเรื่องข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค ที่ขับเคลื่อนจน 12 ประเทศสมาชิกลงนามไปแล้ว โอบามากำลังจะหารือกับบรรดาผู้นำ 10 ประเทศในอาเซียนในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ ที่ Sunnylands รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นคำเชิญที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2558 และกำลังจะนำไปสู่การหารือท่ามกลางบรรยากาศสบายๆแห่งขุนเขา และอาจจะได้เห็นภาพผู้นำเดินคุยกัน ไม่ผูกเนคไท อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนที่เชิญ สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ไปหารือ ณ ที่เดียวกัน เมื่อเดือนกรกฎกาคม ปี 2556 ต่างกันก็แต่ครั้งนี้ไม่มีผู้นำจีน แต่จะคุยกันเรื่องจีน

วาระการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-อาเซียน ที่จะจัดขึ้นที่ Sunnylands เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การเมือง ความมั่นคง และความร่วมมือระดับภาคประชาชน

ถ้าดูรายละเอียดของแต่ละประเทศอาเซียนมีความแตกต่างกันอย่างมาก และวาระหลากหลาย สิงคโปร์ มีแนวทางเดินตามตลาดเสรี ขณะที่อินโดนีเซียระมัดระวังและปกป้องตลาดภายใน กัมพูชาและลาวเป็นที่รับรู้ว่าใกล้ชิดกับประเทศจีน ขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามพยายามที่จะใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้นสืบเนื่องจากเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ ขณะที่ประเทศไทยถูกจับตามองเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียน

สหรัฐไม่ได้ระบุว่าวาระการหารือนี้เกี่ยวข้องกับประเทศจีนโดยตรง เพียงแต่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การประชุมที่จะมีขึ้นเพื่อความก้าวหน้าของนโยบายสร้างสมดุลใหม่ในเอเชียและแปซิฟิค ทั้งสหรัฐและอาเซียนทำงานร่วมกันมากว่า 40 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน และหวังว่าการประชุมนี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ของสองฝ่าย

ในการหารือกันครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเชิญผู้สื่อข่าวจาก 10 ประเทศอาเซียน ร่วมรายงานการประชุมในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ และจะพาไปศึกษาแหล่งที่มาของนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐในระดับภูมิภาค ดิฉันได้รับโอกาสสำคัญเพื่อร่วมติดตามทำข่าวและรายงานการประชุมครั้งนี้ โดยภารกิจเริ่มต้นที่ โฮโนลูลู รัฐฮาวาย เพื่อไปเยือนศูนย์บัญชาการสหรัฐแห่งแปซิฟิค (USPACOM) ที่ดูแลน่านน้ำทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ครอบคลุมอินเดีย แอนตาร์กติกา ไปถึงขั้วโลกเหนือ โดยย้ำว่าเอเชีย แปซิฟิค มี 36 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประชากรครึ่งหนึ่งของโลก และมีฐานะทัพใหญ่ๆของโลกหลายแห่ง โดยห้าประเทศเป็นพันธมิตรกับสหรัฐผ่านข้อตกลงด้านกลาโหม ฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชีย อาเซียน เอเปค ผู้รู้เรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ ไปดูฐานทัพเพิร์ล ฮาร์เบอร์ จากนั้นติดตามการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-อาเซียน ที่ Sunnylands 15-16 ก.พ. และการประชุมสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน 17 ก.พ. น่าติดตามการหารือชุดใหญ่ว่าจะมีนักธุรกิจกลุ่มใดของสหรัฐมาร่วมตั้งวงคุยกันกับภาคเอกชนแห่งอาเซียน

ในภาพรวมเรื่องของวาระที่จะหารือและท่าทีของผู้นำอาเซียนที่จะคุยกับผู้นำสหรัฐจึ่งน่าจับตามองอย่างยิ่งยวด อาเซียนปฏิเสธไม่ได้ถึงความสำคัญและบทบาทที่มากขึ้นของประเทศจีน ขณะที่การเลือกตั้งสหรัฐจะมีผู้นำคนใหม่จะเป็นใคร และจะวางทิศทางกับเอเชียไปในทิศทางใดล้วนต้องติดตาม โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โจทย์ความมั่นคงและการก่อการร้ายจากกลุ่มไอเอส ทวีความซับซ้อนมากขึ้น

ขณะนี้ดิฉันอยู่ที่ฮาวายแล้ว และจะติดตามความเคลื่อนไหวในครั้งนี้มารายงานต่อค่ะ



ฮาวาย คือรัฐที่ 50 ของสหรัฐ เป็นรัฐน้องใหม่ที่สุด ชื่อเล่นคือ อโลฮา หรือรัฐอโลฮา เมืองหลวงของรัฐนี้คือโฮโนลูลู มีประชากรรวมประมาณ 1.4 ล้านคน คำเรียกคนฮาวายคือ “ฮาวายเอี้ยน” ที่นี่เป็นรัฐเพียงรัฐเดียวของประเทศสหรัฐที่ตั้งอยู่ที่ Oceania เป็นรัฐเดียวของสหรัฐที่มีสภาพเป็นเกาะ และเป็นรัฐเดียวที่ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ทวีปอเมริกา มาช่วงนี้คนที่นี่บอกว่าหนาวที่สุดแล้วในรอบปี อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 29 องศาเซลเซียส

ด้วยความที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณใจกลางฝั่งแปซิฟิคและเป็นยุคของการโยกย้ายเพื่อการทำงานในศตวรรษที่ 19 ทำให้วัฒนธรรมของฮาวาย ได้รับอิทธิพลจากอเมริกาเหนือและเอเชีย เพิ่มเติมจากคนท้องถิ่นฮาวายดั้งเดิม

ฮาวาย ได้รับความนิยมเป็นที่พูดถึงในช่วงหลังเมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามา ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัวที่นี่ และฮาวายคือสถานที่เกิดของประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2504 ที่เมืองโฮโนลูลู โดยแม่เป็นคนจากรัฐแคนซัส และพ่อจากเคยยา (แต่มีบางทฤษฎีแย้งว่าโอบามาเกิดที่เคนยา)

ต้องติดตามว่าเรื่องที่ “ประธานาธิบดีสหรัฐแห่งแปซิฟิค” จะตอกย้ำก่อนอำลาวาระคืออะไร

2.3.14

วิกฤตยูเครน บานปลาย อยู่ระหว่างอำนาจโลกตะวันตกและรัสเซีย

ระอุ! หรือยูเครนจะบานปลาย กลายเป็นสงครามระหว่างโลกตะวันตก และตะวันออก ?!?

เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จนแทบจะตามไม่ทันสำหรับการเมืองในยูเครน ที่ตอนนี้ถูกดึงให้กลายเป็นศึกระหว่างประเทศไปแล้ว
สัปดาห์ที่แล้วรัฐสภาลงมติขับวิคเตอร์ ยานูโควิช อดีตประธานาธิบดีลงจากตำแหน่ง เขาหนีไปกบดานอยู่ที่คาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครนที่ฝั่งตะวันออก และเป็นที่รับรู้ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน หนุนยานูโควิชมาตลอด

ประชาชนยูเครนฝั่งตะวันออกหนุนยานูโควิช และรัสเซีย ขณะที่ฝั่งตะวันตกหนุนสหภาพยุโรปและสหรัฐ

เหตุปะทะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างประชาชนสองกลุ่ม และหนักมากเมื่อคืนนี้ ที่เมืองคาร์คีฟ เมื่อสองฝ่ายปะทะกันตรงๆ ขณะที่รัฐสภารัสเซีย ลงมติเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่ยูเครน

ประชาชนที่สนับสนุน และต่อต้านรัสเซีย ปะทะกันอย่างหนักเมื่อคืนที่เขตไครเมีย


สหรัฐมีท่าทีมาตลอดว่าเห็นใจผู้ชุมนุมที่อยู่ฝั่งตะวันตก ประธานาธิบดีโอบามา ยกหูโทรศัพท์สายตรงคุยกับวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย คุยกันถึง 90 นาที ร้องขอให้รัสเซียถอนกำลังออกจากเขตไครเมีย แต่ปูตินปฏิเสธ และระบุว่ารัสเซียมีสิทธิ์ที่จะปกป้องผลประโยชน์ขอตน และดูแลคนยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย

รักษาการประธานาธิบดียูเครน โอเล็กซานเดอร์ เทอร์คีนอฟ ระบุว่าเร่งเพิ่มกองกำลังรักษาความมั่นคงในพื้นที่หลักๆแล้ว เช่น โรงงานนิวเคลียร์

ประธานาธิบดีโอบามา พยายามร้องขอต่อปูติน ให้พูดคุยหารือกันเพื่อหาทางออกอย่างสันติ โดยควรจะต้องคุยกับรัฐบาลยูเครน และองค์กรไกล่เกลี่ยระดับระหว่างประเทศ และระบุว่าสิ่งที่รัสเซียกำลังกระทำก็คือการละเมิดอำนาจอธิปไตยของยูเครน และละเมิดพรมแดน ฉะนั้นจึงเท่ากับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ และละเมิดข้อตกลงทางทหารที่รัสเซียทำไว้กับยูเครนในปี 2540

ขณะที่ประธานาธิบดีปูติน ตอบกลับทางโทรศัพท์ว่า กำลังเกิดภัยคุกคามต่อชีวิตและความปลอดภัยของคนรัสเซีย และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในยูเครน

บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ร้องขอให้เรียกความสงบกลับคืนและเร่งเจรจาหาทางออกกันโดยเร็วที่สุด

ทำไมเหตุการณ์จึงร้อนระอุที่เขตไครเมีย
เขตนี้เป็นเชตปกครองตนเองภายใต้การกำกับของยูเครน
เขตไครเมียถ่ายโอนอำนาจจากรัสเซียเมื่อ 60 ปีก่อน
มีคนเชื้อสายรัสเซีย 58.5% เชื้อสายยูเครน 24.4% เป็นคนไครเมียน 12.1%

ในยูเครน พื้นที่ที่ตึงเครียดที่สุดขณะนี้น่าจะเป็นที่เขตไครเมีย เพราะเห็นประชาชนที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายปะทะกันอย่างหนัก  ขณะที่ที่เมืองอื่นๆในยูเครนมีเหตุประท้วงด้วยเช่นกัน เช่น Donetsk, คาร์คีฟ และมาริอูโพล

ผู้คนที่ไครเมียดีใจ ที่กองกำลังรัสเซียเข้าประจำการที่เขตไครเมีย


สภาสูงของรัสเซียอนุมัติคำขอของประธานาธิบดีปูติน อย่างรวดเร็ว เรื่องส่งทหารเข้าประจำการที่เขตไครเมีย

สำนักข่าว RT ของรัสเซียรายงานว่า ส.ส.ของรัสเซีย มีจุดยืนเป็นเอกภาพในเรื่องนี้ เพราะเป็นห่วงสถานการณ์ในยูเครน เสียงส่วนใหญ่รับรู้ว่าหลังจากการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่กรุงเคียฟ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยกลุ่มชาตินิยมสายแข็งกร้าวเข้าไปมีอำนาจมากขึ้น และยิ่งคุกคามกลุ่มที่ต่อต้าน โดยเฉพาะคนรัสเซียในยูเครนถูกคุกคาม 

ทหารรัสเซียที่เข้าประจำการที่เขตไครเมีย


RT รายงานว่าคนไครเมียนเริ่มประท้วง หลังจากรัฐบาลกลางที่กรุงเคียฟ ออกกฎหมายห้ามใช้ภาษาอื่นเป็นภาษาราชการในยูเครน ขณะที่ประชาชนมากกว่าครึ่งที่เขตไครเมียเป็นคนรัสเซีย และใช้ภาษารัสเซียในชีวิตประจำวัน คนในไครเมียนถึงกับประกาศว่าจะทำการลงประชามติในวันที่ 30 มีนาคม เพื่อที่จะกำหนดอนาคตของเขตไครเมีย ซึ่งขณะนี้มีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองในยูเครน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นวันนี้ตามเวลาในยูเครน
รัฐสภายูเครนจะจัดการประชุมฉุกเฉิน
กองกำลังยูเครนประจำการอย่างเต็มที่ หลังจากกองทัพรัสเซียกระจายกำลังทหารไปที่เขตไครเมีย

นาโต้ จะจัดการประชุมฉุกเฉินเรื่องสถานการณ์ที่ร้อนแรงในเขตไครเมีย 


แผนที่ยูเครน และเขตไครเมีย


กลุ่มประท้วงต่อต้านอดีตประธานาธิบดีไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ 88 คน ที่กรุงเคียฟ

ข้อมูลจาก BBC, RT 
ภาพจาก Reuters, AP, Getty Images และ BBC 

22.2.14

ยานูโควิช ผู้นำยูเครน ถอยจากกรุงเคียฟ ไปปักหลักที่คาร์คีฟ ผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาลยึดเมืองหลวงยูเครน

ข่าวด่วนจากยูเครน!!
ประธานาธิบดีวิคเตอร์  ยานูโควิช ยืนยันไม่ยอมลาออก และระบุว่าความพยายามของกลุ่มต่อต้านที่ไปปิดล้อมทำเนียบประธานาธิบดีที่พักของเขา และการยึดพื้นที่ใจกลางกรุงเคียฟ คือการก่อรัฐประหาร
ฝ่ายค้านที่นำโดยวิทาลี คลิทชโก  หัวหน้าพรรค UDAR .. ในรัฐสภา ผู้เป็นแกนนำการประท้วง และยึดที่ทำการรัฐบาล และรัฐสภาไว้ได้แล้ว
ผู้ประท้วงต่างเดินหน้าอย่างไม่หวั่นเกรงไปสู่ทำเนียบประธานาธิบดี และที่พำนัก

ผู้ประท้วงที่ยูเครน ยึดพื้นที่ใจกลางกรุงเคียฟ ปิดล้อมทำเนียบประธานาธิบดี

ที่จริงสองฝ่ายคือรัฐบาล และกลุ่มต่อต้านบรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้วเมื่อวานนี้  แต่ผู้ประท้วงไม่ยอม ยืนยันยานูโควิชต้องลาออกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ข้อตกลงที่บรรลุเมื่อวานคือจะจัดการเลือกตั้งก่อนสิ้นปี จัดรัฐบาลกลางและหานายกฯคนกลางภายใน 10 วัน และแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กลับไปใช้ฉบับปี 2004
ท่าทีกลับกลายเป็นตรงกันข้ามในวันนี้ เมื่อยานูโควิช ระบุว่าต้องปกป้องประชาชนที่สนับสนุนเขา และจะทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดเหตุนองเลือด
ยานูโควิช ยืนยันว่าตนเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และจะไม่หนีออกจากยูเครน จะไม่ยอมลาออก
เขาเรียกสถานการณ์ที่กรุงเคียฟว่า "ความพยายามก่อรัฐประหาร"

เหตุปะทะระหว่างผู้ประท้วง และเจ้าหน้าที่ยูเครน 20 กุมภาพันธ์ 2557 ที่กรุงเคียฟ

แผนที่ยูเครน กรุงเคียฟ และเมืองคาร์คีฟ 

มีรายงานว่ายานูโควิช ย้ายจากกรุงเคียฟ ไปปักหลักที่คาร์คีฟ ฐานที่มั่นทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ สนับสนุนเขา และมีรายงานว่าบรรดาคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆไปสมทบด้วย

สัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการเจรจาระหว่างสองฝ่าย และความสับสน  แม้สองฝ่ายจะประกาศพักรบชั่วคราว เมื่อวานรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี และโปแลนด์ ช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย เหมือนจะตกลงกันได้ แต่ไม่สำเร็จ
มีรายงานว่ายานูโควิช ไปคาร์คีฟ หลังจากประธานาธิบดีบารัก โอบามา โทรหาวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เพื่อหารือถึงสถานการณ์สุ่มเสี่ยงในยูเครน
สหรัฐยืนยันว่าต้องลดความรุนแรง และผ่อนคลายสถานการณ์ จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว
ขณะนี้เห็นได้ชัดว่ามวลชนที่รวมตัวกันประท้วงกว่า 3 เดือน ไม่พอใจข้อตกลง เพราะโกรธแค้นจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 2 วันก่อน สิ่งที่ผู้ประท้วงยืนยัน ณ ขณะนี้ คือยานูโควิช ต้องลาออก
แกนนำผู้ประท้วง Vitali Klitschko ประวัติน่าสนใจอย่างมาก เป็นอดีตนักมวยแชมเปี้ยนรุ่น Heavyweight  ขึ้นชื่อเรื่องน๊อคคู่ต่อสู้ และเป็นนักมวยที่ครองแชมป์มายาวนาน แถมยังเรียนเก่ง เป็นนักมวยคนแรกที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก เมื่อผันตัวมาเป็น ส.ส. ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้คนอย่างมาก  และเป็นหัวพน้าพรรค UDAR ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน แนวทางของเขาคือต่อต้านคอร์รัปชั่น ตรวจสอบรัฐบาลที่รวบอำนาจ มีแผนเตรียมลงสู้ศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2015 แต่เมื่อเข้าสู่การต่อสู้ตามท้องถนนเช่นนี้ มิแน่ใจว่าจะวางอนาคตทางการเมืองอย่างไร แต่สำหรับคนหนุ่ม แชมป์มวยวัย 43 ปี คงยังมีเส้นทางอีกไกลในถนนสายการเมืองยูเครน อยู่ที่ว่าจะผ่านจุดนี้อย่างไร
 Vitali Klitschko  แชมป์มวยเฮฟวี่เวท ที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง แกนนำการประท้วง 
วิคเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบัน วัย 63 ปี ที่กำลังถูกกลุ่มต่อต้านประท้วงอย่างหนัก ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำยูเครน หลังชนะการเลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2553 ที่จริงเขาเคยสมัครเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2547 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นศาลฎีกาตัดสินให้เป็นโมฆะ เพราะเต็มไปด้วยรายงานเหตุทุจริต ซื้อเสียง ข่มขู่  ท่ามกลางการประท้วงของมวลชนในช่วงการเลือกตั้ง ที่เรียกว่า Orange Revolution  

วิคเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนวัย 63 ปี ที่กำลังโดนขับไ่ล่ 
เหตุประท้วงที่เริ่มต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 กำลังสั่นคลอนยานูโควิชอย่างหนัก จากการชุมนุมที่ดูเหมือนจะสงบในตอนแรก เพื่อแสดงความไม่พอใจที่เขาปฏิเสธข้อตกลงให้เงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และหันไปขอกู้เงินจากรัสเซียแทน คนรุ่นใหม่ของยูเครนไม่พอใจอย่างมาก การประท้วงเริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาเป็นอย่างที่เห็นกันล่าสุด
 เหตรุนแรงระลอกล่าสุดคือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ตำรวจพยายามสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิต 28 คน มีตำรวจและนักข่าวรวมอยู่ด้วย บาดเจ็บ 335 คน ถัดมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ผู้เสียชีวิตสูงถึง 77 คน บาดเจ็บอีก 2000  คน และขณะนี้กำลังมีกระแสกังวลว่ายูเครนกำลังเข้าสู่สงครามกลางเมือง 

16.2.14

สื่อพม่ารายงาน "ทักษิณ-พจมาน" ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ที่พม่า

นิตยสารอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ว่า 

เวปข่าวของอิระวดี

“Thaksin’s Former Wife visits Burmese Astrologer”  
อดีตภริยาของคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย เดินทางไปพม่า/เมียนมาร์ เพื่อพบกับหมอดูชื่อดังที่สุดคนหนึ่งในพม่า

คุณทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ปรากฎตัวพร้อมกันครั้งท้ายสุดปี 2008 


รายงานระบุว่า ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เดินทางไปพม่าพร้อมกับคุณทักษิณ โดยไปพบกับหมอดูคนดังแห่งพม่า “San Zarni Bo” เพื่อขอคำแนะนำเรื่องกลับเข้าประเทศไทย และการทำธุรกิจรร่วมกับพม่า

รายงานระบุว่าทั้งสองหย่ากันเมื่อปี 2551 หลังจากแต่งงานกันนานกว่า 30 ปี แต่ยังเป็นเพื่อนสนิทกัน
แหล่งข่าวที่รู้เรื่องบอกกับนิตยสารอิระวดีว่า สถานการณ์การเมืองในไทยไม่ดี ทั้งสองจึงต้องการทำมนต์ “yadaya” เพื่อให้เกิดสันติ และเปิดทางให้คุณทักษิณกลับประเทศไทย

Yadaya คือรูปแบบการทำพิธีไสยศาสตร์เพื่อปัดเป่าความชั่วร้าย และบั่นทอนกำลังศัตรู
รายงานระบุว่าทั้งสองไปที่ Kaba Aye Pagoda หรือเจดีย์แห่งสันติภาพติโลก เพื่อทำพิธี yadaya

เจดีย์กะบาเอ Kaba Aye 


อิระวดีระบุว่า เดือนเมษายนปีที่แล้วคุณทักษิณเดินทางไปพบกับท่านนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสูดของพม่า และระบุว่าคุณทักษิณมีอสังหาริมทรัพย์จำนวนหนึ่งในเมืองทวาย ที่เขตตะนาวศรี ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้สุดของทวาย และเป็นพื้นที่ก่อสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจ และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย

การเดินทางไปพม่าครั้งนี้ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการทำพิธีไสยศาสตร์เพื่อต่อสู้กับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และพระพุทธะอิสระ แกนนำกปปส. ที่เรียกร้องให้นายกฯรักษาการคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก

โดยก่อนหน้านี้คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขยคุณทักษิณ ระบุว่าคุณทักษิณเดินทางไปพม่าเพื่อเข้าร่วมงานทำบุญเท่านั้น

ขณะที่เจ้าหน้าที่ดูแลเจดีย์กะบาเอ ระบุว่าไม่รู้เรื่องว่าคุณทักษิณเดินทางไปหรือไม่ เพราะไม่ได้รับแจ้งก่อนหน้านี้ว่าจะมีการเดินทางไปเยือน

อิระวดีรายงานด้วยว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าวว่าคุณทักษิณไปขอคำแนะนำจากหมอดูในพม่า ปีที่แล้ว AFP รายงานว่าคุณทักษิณไปพบกับหมอดู ET ก่อนเกิดเหตุรัฐประหารในปี 2549 

หลังจากอิระวดีมีรายงานออกมาเช่นนี้ วันนี้ 16 กุมภาพันธ์ facebook ของคุณพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายคนโตของคุณทักษิณ มีข้อความว่า


อยู่ๆ "สลิ่ม" ก็ Forward Message ต่อกันเป็นวรรคเป็นเวรว่า คุณพ่อ-คุณแม่ของผมไปเจอกัน และทำพิธีกรรมอะไรกันที่พม่า 

ผมขอยืนยันว่า 
"ตั้งแต่เกิดมาคุณแม่ผมยังไม่เคยไปพม่าเลยแม้แต่ครั้งเดียวครับ..!!"

สำหรับพิธี Yadaya เวปไซต์ Wikileaks ให้ข้อมูลว่าเป็นพิธีไสยศาสตร์ที่ผู้นำพม่าเชื่อ และนำมาปฏิบัติ เช่นการก่อสร้างเจดีย์ กว่า 60,000 แห่ง โดยผู้นำอูนุ เมื่อปี 1961 หรือการตัดสินใจเปลี่ยนเลนการจราจนเมื่อปี 2513จากขับชิดซ้าย ให้เป็นชิดขวา ถึงแม้รถพม่าจะใช้พวงมาลัยซ้าย เป็นคำสั่งที่ผู้คนเชื่อว่าน่าจะมาจาก yadaya เพื่อบรรเทาการถูกโจมตีทางการเมืองต่อผู้นำในยุคนั้น

ออง ซาน ซูจี นุ่งโสร่งแบบผู้หญิงพม่า ในงานรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย นุ่งโสร่งแบบผู้หญิงพม่า 

 เมื่อเร็วๆนี้ที่ได้เห็นผู้นำชายของพม่าเช่นนายพลตาน ฉ่วย นุ่ง longyi หรือโสร่ง แบบผู้หญิง  ในงานฉลองวันเอกภาพแห่งชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554 ผู้คนก็มองว่าอาจจะเป็นไปตามความเชื่อแบบ yadaya เพื่อปัดเป่าอำนาจของออง ซาน ซูจี จึงต้องแก้พลังด้วยการให้ผู้นำผู้ชายใส่โสร่งแบบที่ผู้หญิงใส่ //

21.1.14

Ordinary Love: ความรักธรรมดาที่ไม่ธรรมดา (U2)

Ordinary Love (U2 2013)

คงจะกล่าวอ้างว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ U2 ไม่ได้ เพราะไม่ได้ตามเพลงของวงดนตรีไอริช วงนี้อย่างจริงๆจัง เพียงแต่ชื่นชอบอยู่หลายเพลง  ดิฉันไม่แน่ใจว่าชอบเพราะนักร้องนำ Bono หรือความแนวของวงดนตรีไอริช ที่เพื่อนคนไอริช แนะนำให้รู้จักสมัยเรียนอยู่ลอนดอน ซึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ปีที่แล้ว

ตอนแรกที่ได้ยินเพลงของวงนี้ อยู่ที่ผับแห่งหนึ่ง จู่ๆเพื่อนชาวไอริชบอกว่าฟังสิ เพลงนี้ดีมาก ความที่เราไม่สันทัดเรื่องเพลง และอาจจะมีอาการฟังเพลงแบบ ไม่แตกเลยส่ายหน้า บอกเพื่อนกลับไปว่า เหรอ เฉยๆ ไม่รู้สึกว่าเพลงพิเศษอะไรเลย วันนั้นเพื่อนคงผิดหวังในตัวดิฉันไม่น้อย ว่าอะไรกันเธอไม่รู้จักวงดังแห่งไอร์แลนด์ อย่าง U2 นี่เลยหรือ ?!?

โธ่ เรื่องรสนิยมเพลงคงห้ามกันไม่ได้ นักศึกษาจากเมืองไทยอย่างดิฉันช่วงนั้นฟังแต่ easy fm เพลงสบายๆ แนว Norah Jones และ Enya ประมาณนั้น  ในช่วงนั้น

อย่ากระนั้นเลย เมื่อเพื่อนไอริช ซึ่งดิฉันนิยมเธอมาก เพราะเป็นเพื่อนที่แนว หัวคิดก้าวหน้า เรียนเก่งเป็นเลิศ มีอะไรมักจะแบ่งปันกับเพื่อนๆเสมอ แถมยังใจดี คอยแก้ไขภาษาอังกฤษเวลาเขียนงานส่งอาจารย์ ดิฉันเลยเห็นว่าเพื่อตอบแทนในมิตรไมตรีของเธอ จะต้องพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ U2 สักหน่อย จะได้คุยกับเธอรู้เรื่อง

ไม่ผิดหวังจริงๆ จากนั้นมารู้จักวง U2 และนิยมชมชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความหนักแน่นของเนื้อเพลง จังหวะดนตรีแนวอีเลคทริค ที่ผันมาเป็นป๊อบกึ่งร๊อค เนื้อหาเพลงกินใจ กลิ่นอายดนตรีไอริช มีนักร้อง นักแต่งเพลง มือกีต้าร์ ที่เป็นแม่เหล็กของวงอย่าง  Bono 


 เอาละก็พอจะมีเพลงของ U2 ในหัวใจบ้างอย่าง Beautiful Day, City of Binding Lights   เห็นเขาเล่นคอนเสิร์ตก็พอจะฮัมตามได้แบบ อิน ซะหน่อย

เรื่องเพลงขอบอกว่าอย่าไปแหยมกับคนไอริช เพราะเป็นอีกเรื่องที่เป็นความภูมิใจระดับชาติ พอๆกับเบียร์ดำ Guinness และนักเขียนคนดังอย่าง James Joyce

U2 ขึ้นชื่อความเป็นวงร๊อคที่ขายตั๋วฮิตติดลม ได้รางวัลแกรมมี่ถึง 22 รางวัล มากว่าวงใดๆ และวงนี้ขึ้นชื่อเรื่องรณรงค์เพื่อช่วยเหลือคนยากจนในอัฟริกา และสิทธิมนุษยชน และช่วยองค์กรอย่าง Amnesty International เป็นต้น

ดิฉันเพิ่งจะได้ฟังซิงเกิ้ลล่าสุดของ U2 “Ordinary Love” เพลงประกอบภาพยนตร์เพื่อรำลึกและเป็นเกียรติแด่ เนลสัน แมนเดลา วีรบุรุษตลอดกาลเพื่อสันติภาพ ในหนังเรื่อง “Mandela: Long Walk to Freedom” เนื้อเพลงเนื้อหาแนว U2 ชัดๆ และเป็นเพลงแรกของ U2 ในรอบกว่า 3 ปี เพลงนี้ออกมาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ท่านแมนเดลา จะถึงแก่อสัญกรรม กำลังได้รับการเสนอชิงรางวัล “Academy Award for Best Original Song” นิตยสาร Rolling Stone ระบุว่า เพลง Ordinary Love คือเพลงเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์แห่งความฝัน ท่วงทำนองของ U2 เข้ากันได้ดีกับเนื้อเพลง ที่ให้ความรู้สึกติดดิน และมองขึ้นฟ้าต่อสู้อย่างมีความหวัง

เนื้อเพลงน่าจะหมายถึงความเรียบง่าย การต่อสู้ ที่เต็มไปด้วยความหมาย และแน่นอนเกี่ยวพันกับเนลสัน แมนเดลา ในวันที่ท่านเดินออกจากเรือนจำหลังจากถูกคุมขังถึง 27 ปี

The sea wants to kiss the golden shore
The sunlight warms your skin
All the beauty that’s been lost before wants to find us again.

I can’t fight you anymore, it’s you I’m fighting for
The sea throws rock together but time leaves us polished stones.

We can’t fall any further, if we can’t feel ordinary love
And we can’t reach any higher, if we can’t deal with ordinary love.

น่าจะมีความหมายว่า เนลสัน แมนเดล่า เมื่อได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ต้องการที่จะสร้างสันติภาพ เพื่อยุติปัญหากีดกันสีผิว ( I can’t fight you anymore) และการต่อสู้เพื่อประเทศที่จะต้องเดินหน้าไปด้วยกัน โดยปราศจากความเกลียดกัน (It’s you I am fighting for) ท้องทะเลโยนหินกระทบกัน เวลาสรรค์สร้างให้ก้อนหินที่ขรุขระเป็นหินที่งดงาม น่าจะหมายถึงเวลาทำให้ผู้คนทะเลาะกัน แต่เวลาก็ช่วยขัดเกลาความคิดของคนให้สวยงามได้ หลังจากผ่านความชั่วร้ายไปแล้ว คนอัฟริกาใต้จะเดินไปข้างหน้าสร้างประเทศร่วมกันไม่ได้ถ้ายังคงความเกลียดชังกันอยู่ (We can’t reach any higher, if we can’t feel ordinary love) ...จงจัดการกับความรู้สึกแบ่งแยกให้ได้เถิด เพื่อหัวใจจะได้เรียนรู้ที่จะรักกัน!

Ordinary love which is extraordinary.

http://www.youtube.com/watch?v=XC3ahd6Di3M

Ordinary Love U2


ขอให้โชคดีจงมีแด่ทุกท่าน
ณัฏฐา โกมลวาทิน
ราตรีสวัสดิ์

20 มกราคม 2557