2.9.08

สนามสื่อ ใน สนามการเมืองแบบดุดุ

เป็นสัปดาห์ที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยค่ะ กับการบุกยึดทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม

วันอังคารที่ 2 กันยายน ก็จะครบ 7 วัน

ตอนนี้หลายฝ่ายต่างก็คาดเดากันไปต่างๆนานา ว่าจะจบลงอย่างไร แต่โดยมากไม่อยากเห็นความรุนแรง

ช่วงนี้สื่อมวลชนทำงานกันยากขึ้น เป็นความท้าทายในยามนี้

เมื่อวันพุธที่แล้วนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช บอกว่าถึงเวลาแล้วที่สื่อมวลชนต้องเลือกข้าง จะเป็นกลางไม่ได้

พอถึงวันอาทิตย์ในรายการสนทนาประสาสมัคร นายกรัฐมนตรีบอกว่าสื่อมวลชนต้องเลือกรายงานเกี่ยวกับฝ่ายหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งต้องให้เวลากับรัฐบาลด้วย แสดงว่านายกรัฐมนตรีกำลังหมายความว่าสื่อต้องเป็นกลาง!?!

ช่วง 6 วันที่ผ่านมา ทีมงานต้องอยู่กันดึกๆกว่าปกติติดต่อกันเกือบทั้งสัปดาห์ค่ะ และก็หนีไม่พ้นที่จะได้ช่วยกันรับโทรศัพท์จากทางบ้านที่โทรเข้ามาแสดงความคิดเห็น

ชัดเจนว่า ผู้ดูมักจะมองว่าทีวีไทยเลือกข้าง แต่ที่แปลกและอาจจะไม่น่าแปลกในคราวเดียวกันคือ ผู้ดูแบ่งออกเป็นสองฝ่ายค่ะ คือฝ่ายที่บอกว่าทีวีไทยเข้าข้างพันธมิตร และฝ่ายที่บอกว่าทีวีไทยเข้าข้างรัฐบาล

ทั้งสองฝ่ายต่างไม่พอใจ ทีวีไทย !!!

นอกจากจะต้องผ่านการตรวจสอบตลอดเวลาจากผู้ดูแล้ว การทำงานระหว่างทีมงานก็ใช่ว่าจะราบรื่นค่ะ

เพราะทุกฝ่ายต่างตรวจสอบ ระแวดระวังกันอยู่ในที ในประเด็นที่นำเสนอ

การทำงานทีวี ที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างยิ่งยวด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นบททดสอบความคิด การทำงาน การปรึกษาหารือ และการประสานงานร่วมกันของทีมงานทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน อย่างหนักหน่วงจริงๆค่ะ

แน่นอนค่ะมีการกระทบกระทั่งกันทางความคิด

ดิฉันคิดว่า จุดยืนแต่ละคนมีได้ และไม่น่าจะมีการบังคับให้ต้องเห็นเหมือนกัน เพราะความแตกต่างหลากหลายย่อมแฝงไปด้วยความงดงาม เหมือนป่าที่อุดมสมบูรณ์จะมีต้นไม้เพียงพันธุ์เดียวไม่ได้

แต่เมื่อต้องทำงานร่วมกัน ในภาวะที่ต้องแข่งกับเวลาก็อาจจะต้องละทิ้งความเห็นต่างไปบ้าง เพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพที่สุดเท่าที่จะมากได้

ไม่เฉพาะความร่วมแรงร่วมใจระหว่างทีมงานที่ต้องพิสูจน์กันในยามนี้

สนามการแข่งขันในโลกภายนอกก็ช่างดุเดือดยิ่งนัก

6 comments:

Anonymous said...

เห็นคุณณัฏฐาแวบๆ ตอนถ่ายทอดสด ในฐานะคนดูก็นอนดึกแบบระทึกใจ เหมือนว่ากำลังดูหนังสงครามที่ยังไม่ถึงไคล์แมกซ์ และและรู้สึกเศร้าใจกับภาพข่าวที่รุนแรงจนเกิดความสูญเสีย ใจหายวูบ จากนั้นก็ตาค้างและรู้สึกแปลกๆ กับตัวเองว่า นี่เราเป็นอะไรไป ทำไมสมองและจิตใจกลับว่างเปล่าทั้งๆ ที่เพิ่งเสพ reallyty war ชนิดเข้มข้นทั้งคืน เราแค่ติดตามข่าวใช่ไหม เราไม่เกี่ยวกับใคร เราไม่ใช่ใครสักคน แม้จะใจจะรู้สึกห่อเหี่ยวเฉาๆ ยามเช้า แต่หลังจากนั้นตัวตนก็ยังว่างเปล่าอยู่ดี ทั้งๆ ที่ความตายผ่านสายตาเมื่อคืนนี้

Anonymous said...

เรียนคุณณัฏฐา

รู้สึกเห็นใจคุณณัฏฐาและผู้สื่อข่าวที่ต้องทำงานท่ามกลางความกดดัน ความคาดหวัง การตอบสนอง ความชลมุนชุนเก และความรับผิดชอบ ขณะที่ปัจจัยภายนอกแทบไม่อยู่ในวิสัยที่จะควบคุมได้เลย การบริหารวิกฤติข่าวของสื่อมวลชนจึงลำบากอย่างที่เห็น เพราะแบกรับความคาดหวัง ที่น่าจะเป็นของหลายฝ่าย และในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างนี้แล้ว การบริหารจัดการข่าวคงต้องออกมาเป็น war room ใช่ไหมคะ ทั้งนี้เพื่อปรับกลไกให้เอื้อต่อสถานการณ์ที่ไร้สภาวะ ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน ครบถ้วน อันนี้น่าจะใช่หัวใจหลักพอๆ กับความรวดเร็วต่อสถานการณ์ การแข่งขัน รึเปล่า การเป็นกระบอกเสียงของผู้เกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องตอบสนองผู้ชมที่จะออกมาทั้งทางหัวและก้อย ถ้าอย่างนั้นเราจะจัดสรรช่องทางและเวลาอันมีค่าแก่ steak holder อย่างไรให้ทั่วถึง และตรงกับความต้องการ คงเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ซึ่งดิฉันมองว่า ภารกิจเฉพาะกิจของ war room น่าจะสะท้อนศักยภาพของทีมข่าว ที่ไม่เห็นในภาวะปกติ ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงรู้สึกว่าทางสถานีไม่ได้ใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมในการรับมือช่วงเวลาที่กิดการปะทะทางอาวุธในคืนวันจันทร์ที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ดิฉันโทษพี่จัดพีธีกรตามเวลาเวรยาม แต่เมื่อเกิดวิกฤติ และวิกฤติ เขาและเธอ รับมือได้สุดความสามารถจริง ๆ ในแง่มุมของผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารวิกฤติแล้ว คนที่น่าจะรับมือได้น่าจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ข่าว คนที่สื่อสารได้เข้าใจไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง คนที่ติดตามข่าวสารต่อเนื่อง คนที่มีแหล่งข่าวดี และคนที่สามารถสรุปเหตุการณ์ได้ดี ซึ่งก็น่าจะเป็นคุณณัฏฐา คุณกรุณา หรือซีเนียร์ซักคน เพราะมีความเกี่ยวพันจากรายการทีนี่ ทีวีไทยเมื่อตอนหัวค่ำ และพื้นที่ในห้วงเวลานั้นมีเพียง ช่อง tpbs & nbt เท่านั้นที่เกาะติดสถานการณ์
หันกลับที่สนามรบท่ามกลางความอึมครึมที่ยังไร้ทางออก ดิฉันได้ยินเสียงเรียกร้องชัดเจน 2-3 เรื่อง หนึ่งล่ะเรียกร้องให้นายกฯลาออก และที่ดิฉันสนใจอีก สอง เรื่อง คือ การไม่ใช้ความรุนแรง และความเป็นกลางของสื่อมวลชน
ในเวทีความขัดแย้ง ย่อมมีคู่กรณี 2 ฝ่าย แต่อย่าลืมว่าเรื่องระบบประชาธิปไตย ระบบการเมือง เป็นประเด็นวาระของคนทั้งชาติอย่างแน่นอน จึงมีเสียงสะท้อนจากหลายมุมมองว่า เวทีนี้ไม่ใช่แค่ 2 ฝ่าย เพราะเห็นชัดเจนว่าประเด็นที่เรียกร้อง เป็นประเด็นสาธาณะที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตบุคคลทุกสถานะในประเทศ เราจึงได้เห็นข้อเรียกร้องของฝ่ายที่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง การไม่ใช้กำลังทหาร และความเป็นกลางของสื่อ
ในมุมมองดิฉัน ข้อเรียกร้องที่ได้รับการยกระดับแล้วคือ ข้อเรียกร้องของฝ่ายที่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรงจากภาคสังคม และทหารที่ยังคงสงวนการใช้อำนาจ ซึ่งยังต้องพิสูจน์กันอีกหลายรอบ
ขณะเดียวกันเวทีนี้ยังมีพี่เลี้ยงและผู้สนับสนุนหลากหลาย ซ้ำยังมีนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว คอยตะโกนและกดคะแนนข้างเวที ส่วนสื่อมวลชนในขณะนี้เท่าที่มอนิเตอร์นอกเหนือจากการเรียกร้องความเป็นกลาง ดิฉันได้เห็น สภาวะที่ต้องเคลื่อนตามเกม พร้อมๆ กับการกดคะแนนในที
ที่ดิฉันเห็น สื่อเป็นทั้งผู้เล่นและเป็นผู้ให้คะแนน
ดิฉันติดใจที่คุณณัฏฐาแสดงความแปลกใจต่อความเห็นของผู้ชม และนายกฯสมัคร กรณีต่อความเป็นกลางของสื่อมวลชน ซึ่งดิฉันสงสัยว่า ถึงที่สุดแล้ว สถานะของสื่อสารมวลชนของ tpbs ในห้วงเวลานี้คืออะไร ด้วยเหตุผลอะไร และเพื่ออะไร ถ้ามองจากปัจจัยต่อไปนี้
1. ปรัญาของสถานี
2. จรรยาบรรณวิชาชีพ (ความถูกต้อง/เป็นกลาง/ข้อมูลรอบด้าน/การดำรงอยู่ ฯลฯ)
3. ค่านิยม (ใหม่) ของสถานี
4. จุดยืนของ tpbs ที่ตอบสนองต่อแนวทางประชาธิปไตย และระบบการเมือง
5. การตอบนองผู้ชม และsteak holder
6. แนวโน้มสถานการณ์
7. การทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว (ของคุณณัฏฐาและเพื่อนๆ)


ดิฉันหวังว่า คุณณัฏฐาจะช่วยให้ความกระจ่างและคลี่คลายข้อสงสัยได้ และจะคอยฝังข่าว “เล่าสู่กันฟัง” จากบล็อกณัฏฐา ขอให้กำลังใจและรับมือต่อไป เพราะภาระอยู่ในมือคุณและเพื่อนๆ

Unknown said...
This comment has been removed by the author.
Unknown said...

การสื่อสารเพื่อที่จะให้ตรงใจทุกคนคงเป็นไปได้อย่าก การตีความ ความเข้าใจ ภาพเข้าที่ออกมามันก็เหมือนๆกันทุกช่อง เพราะประเด็นข่าวในตอนนี้มองเห็นได้ชัดเจน เพียงแต่ใครจะนำเสอนก่อน หรือใครมีอะไรในส่วนคนอื่นไม่มีแล้วออกมานำเสอน มันก็เลยแปลกไม่เหมือนชาวบ้าน สื่อมีหน้าที่นำเสอนก็ทำถุกแล้ว ผมนังอ่านมาตังแต่เมือวานอ่านแล้วอ่านอีก มันทำให้ผมนึงถึงหนังไทยเรื่องนึงตอนจบของหนังมีคำขึ้นมาว่า

ชีวิตเมื่อเกิดจะดำเนิน ไม่รู้จบ
เพราะริ้วรอยจะฝังอยู่ในความทรงจำ
วิถีสังคมจะแยกแยะ สีขาว สีดำ

ยังไงขอเป็นกำลังใจให้ครับ สู้ สู้

hypoboyz said...

ผมยังติดตาม และชื่นชมการนำเสนอข่าว ของทีวีไทย มาโดยตลอดครับ เสนอข่าวได้รอบด้า่น และเป็นกลางที่สุด เป็นกำลังใจให้พี่ณัฎฐาเสมอครับ

krit said...

ขึ้นชื่อว่านักการเมืองเหมือนทั่วโลกน่ะ