5.12.08

สามสาวสามมุม กับบทบาทระดับโลก




สามรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงของสหรัฐ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่?
วันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน เป็นอีกวันที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับการเมืองสหรัฐ และอาจจะเป็นระดับโลกด้วย เมื่อประธานาธิบดีคลินตันในยุคนั้น แต่งตั้งนางเมเดลีน อัลไบรท์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 64 และเป็นผู้หญิงคนแรกของสหรัฐที่ได้ทำงานนี้

แต่ไม่ได้จบแค่คุณอัลไบรท์ค่ะ เพราะวันนั้นเป็นเพียงการปูทางให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ จนถึงวันนี้ สหรัฐกำลังจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้หญิงถึง 3 คนในรอบ 12 ปี

หลังจากคุณอัลไบรท์ ก็มีพลเอกโคลิน พาว มาคั่นกลาง ก่อนที่จะตามมาด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนถัดมา คือ ดอกเตอร์คอนโดลีซ่า ไรซ์ และ กำลังจะตามมาด้วยอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ นางฮิลลารี คลินตัน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากว่าที่ประธานาธิบดีโอบามา ของสหรัฐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คำถามน่าจะเกิดตามมาว่า ผู้หญิงหรือที่เหมาะกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ความเป็นผู้หญิงจะช่วยให้การเจรจาต่อรองทางการเมืองสำคัญๆที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด สำเร็จได้มากขึ้นหรือไม่

ส่วนหนึ่งก็คงอดไม่ได้นะคะที่นักวิเคราะห์จะมองอย่างนั้น แต่ถ้าพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะตัวของทั้งสามคนจะเห็นได้เลยว่ามีความสามารถโดดเด่น ในสายงานเวทีระดับระหว่างประเทศ และความสามารถทางการเมืองไม่ได้น้อยหน้าใครเลย

ดอกเตอร์เมเดลีน อัลไบรท์ เป็นลูกสาวของนักการทูตค่ะ พ่อของเธอโจเซฟ คอร์เบล เคยทำงานด้านการทูตที่สาธารณรัฐเชค และต่อมาเป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์คนสำคัญก็คือ คอนโดลีซ่า ไรซ์ และเขาเป็นคนที่กระตุ้นให้เธอเห็นว่าอนาคตของเธอจะต้องอยู่ในวงการระหว่างประเทศ
ดอกเตอร์อัลไบรท์ เป็นผู้เปิดฉากประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงและถือได้ว่าอยู่ในตำแหน่งที่สูงสุดเท่าที่ผู้หญิงเคยทำงานในรัฐบาลสหรัฐ

ผลงานหลักๆของเธอก็คือการให้การสนับสนุนด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และ ส่งเสริมการค้าการลงทุนของสหรัฐ และการยกระดับเรื่องการจ้างงานและสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศของเธอเน้นด้านบอสเนียเฮอร์เซโกวิน่า และเรื่องตะวันออกกลาง

อีกหนึ่งหญิงที่สร้างประวัติศาสตร์ก็คือ ดอกเตอร์คอนโดลีซ่า ไรซ์ ผู้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเมื่อปี 2005 หรือ 2548 เป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้ทำหน้าที่นี้ และเป็นคนผิวสีคนที่สอง ต่อจากพลเอกโคลิน พาว ที่ได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศผิวสีคนแรก

ก่อนหน้าที่ดอกเตอร์ไรซ์ จะเป็นรัฐมนตรี เธอเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงภายในให้กับประธานาธิบดีบุช นโยบายของเธอเน้นการส่งเสริมประชาธิปไตย และตะวันออกกลาง แต่ช่วงที่เธอรับตำแหน่งประเด็นสงครามอิรักกลายเป็นเรื่องใหญ่ตลอดเวลา 8 ปี ของวาระประธานาธิบดีบุช เลยดูเหมือนจะทำให้บทบาทของเธอดูไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

และอีกคนที่กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าก็คือ นางฮิลลารี คลินตัน ที่กำลังจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนถัดไปของสหรัฐ และเธอจะกลายเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐคนแรกที่รับหน้าที่นี้ และจะเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่ได้รับเลือกได้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี

ไม่ต้องพูดถึงประสบการณ์อันมากมายของเธอในช่วงที่เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่เป็นผู้นำสหรัฐ ช่วงปี 1993-2001 และตัวฮิลลารีเอง ความสามารถก็เป็นที่ประจักษ์กับการเป็นวุฒิสมาชิกนครนิวยอร์ค โดยได้รับเลือกด้วยคะแนนล้นหลามในปี 2000 และ 2006
สำหรับภาระหน้าที่ใหม่ ทั่วโลกก็คงจะได้เห็นเธอเดินทางไปในประเทศต่างๆ เพื่อทำงานสำคัญๆให้กับรัฐบาลของโอบามา ก็จะต้องจับตากันจริงๆนะคะว่าเธอจะทำงานร่วมกับประธานาธิบดีโอบามาได้ขนาดไหน จะเข้ากันได้มั้ย หรือจะแย่งชิงกันเป็นดาวเด่น

ฮิลลารี บอกว่า ตำแหน่งใหม่นี้ “น่าจะเป็นการผจญภัยที่ลำบากแต่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น”





2 comments:

Unknown said...

ผมยอมรับความสามารถของผู้หญิงทั้งสาม แต่ผมไม่ยอมรับด้านจุดยืนของไรซ์ คำอธิบายว่า เธอมีจุดยืน "นโยบายของเธอเน้นการส่งเสริมประชาธิปไตย และตะวันออกกลาง" ถ้าย้อนกลับไปอรัมภบทที่กล่าวถึงอิรัก ของ "Give Peace a Chance: ให้โอกาสสันติภาพ" ต้องทราบดีว่า เธอเป็นผู้ผลักดันคนสำคัญ
หลังจาก สหรัฐไม่สามารถกล่าวหาอิรัก 2 ข้อหาคือ การมีอาวุธทำร้ายล้างสูงและการเชื่อมโยงกับอัลไคด้า จึงเปลี่ยนไปสู่ "นำประชาธิปไตยไปสู่อิรัก" ถ้าใช้การรณรงค์นี้มาบอกว่า เธอมีจุดยืนดังกล่าวคงไม่ถูกต้อง
สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมกับนโยบายต่างประเทศของบุชควรอ่านแนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ โดยเรื่อง "Rebuilding American's Defense" จะเข้าใจบริบททางการเมืองต่างประเทศของสหรัฐ ภายใต้แนวคิดนี้ ผมยากจะภูมิใจกับไรซ์

Anonymous said...

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล