8.3.09
รำลึก 100 ปี สตรีสากล
8 มีนาคม 2552 วันสตรีสากล ผู้หญิงทั้งหลายที่ได้ใช้ชีวิตกันเต็มที่ทั้งในอาชีพการงาน ก้าวหน้ากันในเรื่องครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิงชนชั้นกลาง และ ชั้นสูง อาจจะไม่ค่อยได้ใส่ใจกับวันนี้เท่าไร หรือไม่ก็คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ฉันจะไปเรียกร้องทำไมกับสิทธิทั้งหลาย ก็ฉันได้มาแล้วเต็มที่ !?!
เมื่อมองย้อนดูประวัติศาสตร์ กว่าจะมาไกลจนถึงวันนี้ และที่ผู้หญิงชนชั้นกลางที่ได้โอกาสในชีวิตอย่างเต็มที่ ก็ต้องไม่ลืมผู้หญิงที่ขาดโอกาส หรือกลุ่มชนใช้แรงงานด้วย ที่ทุกวันนี้พวกเธอยังทำงานหนักและกำลังแสวงหาโอกาสให้กับชีวิตเช่นกัน
ราว 100 ปีก่อน Clara Zetkin ผู้ใช้แรงงานหญิงและนักสังคมนิยมหญิงชาวเยอรมัน ทนไม่ได้กับสภาพการจ้างงานที่ต้องถูกกดขี่อย่างหนัก ยุคนั้นเป็น
ยุคอุตสาหกรรมเบ่งบานในโลกตะวันตกค่ะ โรงงานทอผ้า โรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปเยอะขึ้น และอาศัยแรงงานผู้หญิงเป็นหลัก เป็นยุคที่เริ่มเข้าสู่ทุนนิยมที่แรงงานได้รับการแปรค่าเป็นเงินตรา และถ้าผู้หญิงไม่ออกมาทำงานนอกบ้าน สมาชิกในบ้านก็จะต้องอด จะรอพึ่งสามีเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ สามีเองก็ทำงานหนักเช่นกัน แต่แรงงานหญิงมักจะได้ค่าแรงถูกกว่า ขณะที่ต้องเลี้ยงหลายปากในครอบครัว
คุณคลาร่า เป็นแกนนำในการประท้วง และต้องการให้มีวันสตรีสากล เพื่อระลึกถึงคุณูปการ ความเหนื่อยยากของแรงงานหญิง ที่ต้องต่อสู้ ทำงานอย่างหนัก
เมื่อ ค.ศ. 1910 คุณคลาร่าผลักดันแนวคิดนี้ และมีผู้หญิงจาก 17 ประเทศ รวมกว่า 100 คน จากหลายประเทศทางฝั่งตะวันตกด ทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นสำเร็จ
และเมื่อวงการอุตสาหกรรมไหลมาถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่หรือที่ได้ชื่อว่า NICs (New Industrialised Countries) ในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 โรงงานทั้งหลายก็กระจายมาใช้แรงงานราคาถูกของผู้หญิงในเอเชีย ทั้งที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงของไทยด้วยค่ะ ถ้ายังจำกันได้ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงช่วงต้น 1990 เศรษฐกิจไทยเติบโตมาก และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้แรงงานหญิงราคาถูก พอถึงยุคเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 1997 แรงงานถูกปลดออกจากงานกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งแรงงานผู้หญิง เป็นส่วนใหญ่ ที่มักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม
Last In, First Out คือได้รับเข้าทำงานหลังสุดแต่ถูกบอกเลิกจ้างงานก่อนใครเพื่อน
แน่นอนเมื่อผู้หญิงถูกเลิกจ้างงาน ครอบครัว และ ลูกๆ ก็ถูกกระทบหนักตามมา ช่วงนั้นมีปัญหาคนฆ่าตัวตาย และครอบครัวไม่ได้รับการเหลียวแลมากทีเดียวค่ะ
ถึงปีนี้ วิกฤติเศรษฐกิจกำลังถาโถม และนักวิเคราะห์บางท่านมองว่าจะเจ็บหนักกว่าเมื่อ 12 ปีก่อน เพราะคราวนี้แรงงานในเมืองจะหลั่งไหลกลับไปพึ่งเกษตรกรรมก็ยากแล้ว เพราะขายไร่ ขายนา ให้เจ้าของเงินทุนกันไปหมดแล้ว
กลับมาเรื่องแรงงานหญิงบ้าง ดิฉันเห็นว่า คำว่า ผู้หญิงทำงาน ก็คงไม่ห่างจากผู้หญิงทุกคน ที่ต้องรับผิดชอบไม่เฉพาะแต่ตนเองนะคะ มีทั้งคนใกล้ชิด พ่อ แม่ พี่ น้อง และลูกๆ ที่ตนเป็นห่วงอีกมากมาย ขอร่วมเห็นคุณค่ากับสองมือ สิบนิ้ว หนึ่งสมอง ของผู้หญิงทุกท่าน และ ขอขอบคุณคุณผู้ชายทุกคนที่ให้การสนับสนุนผู้หญิงของคุณมาตลอด รวมถึงกลุ่มอื่นๆที่ไม่จัดตนเองว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายด้วยค่ะ
7.3.09
เหลียวมอง การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่เพิ่งผ่านพ้น
หายไปนานเลยค่ะ ง่วนอยู่กับการติดตามข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ตั้งแต่นำร่องก่อนเริ่มประชุมกับการรายงานสดจากมุมภาคประชาสังคม และก่อนหน้านั้นที่ลงพื้นที่ไปสิงคโปร์ จนวันประชุมจริงที่หัวหิน แล้วก็ทบทวนงานกันหลังการประชุม
รวบรวมภาพบางส่วนมาให้ดูกันไปพลางๆก่อน
มีอะไรเกิดขึ้นหลายประเด็นกับการประชุมสุดยอดครั้งที่ 14 นี้ และยังมีอะไรที่ไม่เกิดขึ้นในหลายประเด็นเช่นเดียวกัน
และก็คงจะไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับคนที่ต้อง "อยู่" กับอาเซียนมานาน
โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ได้สัมภาษณ์ ออง เคง ยอง อดีตเลขาธิการอาเซียนจากประเทศสิงคโปร์ และ อาจิต ซิง อดีตเลขาธิการอาเซียนจากประเทศมาเลเซีย ทั้งสองท่านในฐานะคนใน เห็นพ้องกันว่าอาเซียนเติบโตไปมากนับจากวันที่ก่อตั้งเมื่อ 8 สิงหาคม 2510 อย่าไปบ่นเลยว่าอาเซียนไม่เห็นจะคืบหน้าเลย เพราะแค่มองย้อนกลับไปไม่นาน แค่จะให้ผู้นำมานั่งลงพูดคุยกันเรื่องกฎบัตรอาเซียน หรือ Asean Charter ก็ไม่ต้องคิดหรอก เพราะไม่มีใครกล้าคิดว่าจะเกิดขึ้นได้
จนถึงขณะนี้กฎบัตรอาเซียนเกิดขึ้นแล้วจริงๆ และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 15 ธันวาคม ปีที่แล้ว ฉะนั้นประเด็นอื่นๆที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดก็อาจจะเป็นจริงก็ได้
ท่านออง เคง ยอง บอกว่าต้องใจเย็นๆ มองอาเซียนแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆทำ เดินช้าแบบมั่นคงดีกว่า สะดุดอะไรบ้างก็ต้องเดินกันต่อ ท่านอาจิต ซิง ก็ย้ำค่ะว่า นักข่าวชอบถามว่าจะกระบวนการทั้งหลายจะเร็วขึ้นได้อย่างไร ท่านก็บอกให้ใจเย็นๆอีกเช่นกัน แถมยังยิ้มอย่างสงบตอนตอบคำถาม ตอบแบบผู้มองโลกด้วยสายตาที่ผ่านประสบการณ์มามาก
ขณะที่เรื่องโรฮิงยา ก็ถูกวิพากษ์กันค่อนข้างหนักว่าสุดท้ายแล้วในสุนทรพจน์ปิดการประชุมของท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่เห็นระบุเรื่องโรฮิงยาเลย เพียงแต่พูดถึงกรอบการทำงานคร่าวๆว่าต้องเป็นกระบวนการที่ทำกันในระดับภูมิภาค หลายท่านอาจจะผิดหวังค่ะ แต่สำหรับวินมิตร ผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาพม่า บอกว่าแค่ที่ประชุมคุยกันเรื่องโรฮิงยาด้วยก็เกินความคาดหมายของเขาไปแล้ว
หรือโลกจะเปลี่ยนไปจริงๆ สำหรับอาเซียน
คงจะยังไม่เร็วขนาดนั้นค่ะ เพราะปัญหาที่ยังคาราคาซังก็อีกมาก อย่างเช่นการเมืองภายในพม่า ที่ผู้นำอาเซียนก็รู้ทั้งรู้ว่าทั่วโลกต่างจับตามอง แต่จะเข้าไปก้าวก่ายก็ทำไม่ได้ เพราะยังยึดโยงอยู่กับหลักการร่วมกันของอาเซียนว่าจะไม่ก้าวก่ายการเมืองภายในของกันและกันหรือ non-interference หรือถึงอยากจะเข้าไปยุ่งแต่ก็ติดเงื่อนไขของแต่ละประเทศเองที่ทำการค้ากับพม่าอยู่ ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ พอมีสัมพันธ์กันทางธุรกิจแล้วจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ยังจะเกรงกันอยู่มาก
ที่ผิดหวังไปบ้างแต่ก็ยังแฝงด้วยความหวังอยู่ก็คือภาคประชาสังคม ที่คราวนี้เตรียมงามกันมานาน แถมยังจัดประชุมใหญ่กันที่เมืองไทยหนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนจริง และได้วางตัวแทนไว้ 10 คนจาก 10 ประเทศเพื่อหารือในห้องกับผู้นำทั้ง 10 ประเทศ เอาเข้าจริงคืนก่อนวันเข้าพบ ผู้นำจากพม่าและกัมพูชา บอกว่าจะไม่ยอมพบกับตัวแทนภาคประชาสังคมของประเทศตน ผู้นำพม่าจะไม่ยอมพบเลย ขณะที่ผู้นำกัมพูชาบอกว่าให้พบได้แต่ต้องเป็นตัวแทนที่รัฐบาลกัมพูชาจัดไว้
เกือบจะจบ...แต่ก็ไม่จบ เพราะตัวแทนภาคประชาสังคมตัดสินใจไม่คว่ำบาตรการเลือกตั้ง เข้าข่ายยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต คือถึงแม้เพื่อนจากพม่าและกัมพูชาจะเข้าไปไม่ได้ ก็ขอให้เพื่อนจากชาติอื่นๆเข้าไป เพื่อให้การผลักดันในเรื่องต่างที่วางไว้เดินหน้าต่อ ดีกว่าจะต้องล้มหมากทั้งกระดาน
นักเคลื่อนไหวจากมาเลเซียพูดไว้น่าฟังมากค่ะว่า ยอมที่จะรักษาความเป็น constructive engagement หรือยุ่งเกี่ยวแบบสร้างสรรค์ ดีกว่าจะกลายเป็น confrontational engagement หรือยุ่งเกี่ยวแบบเผชิญหน้า
ท้ายสุดนายกรัฐมนตรีไทยก็คลี่คลายให้สถานการณ์ดีขึ้นและได้รับคำชมมาก ว่ามีจุดยืนที่ชัดเจน โดยพูดคุยกับตัวแทนประชาสังคมของทั้ง 10 ประเทศ นอกห้องประชุม ไม่ทำให้ภาคประชาสังคมเก้อ และรักษาหน้าของผู้นำ 10 ชาติไปพร้อมๆกัน
มีกลยุทธ การเดินเกม วางหมาก กันในหลายรูปแบบสำหรับการเจรจาระดับผู้นำประเทศแบบนี้ การพูดคุยกันในวงกาแฟ หรือช่วงรับประทานอาหารว่าง มีผลกว่าการคุยกันอย่างเป็นทางการในห้องประชุมเสียอีก
Subscribe to:
Posts (Atom)