หายไปนานเลยค่ะ ง่วนอยู่กับการติดตามข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ตั้งแต่นำร่องก่อนเริ่มประชุมกับการรายงานสดจากมุมภาคประชาสังคม และก่อนหน้านั้นที่ลงพื้นที่ไปสิงคโปร์ จนวันประชุมจริงที่หัวหิน แล้วก็ทบทวนงานกันหลังการประชุม
รวบรวมภาพบางส่วนมาให้ดูกันไปพลางๆก่อน
มีอะไรเกิดขึ้นหลายประเด็นกับการประชุมสุดยอดครั้งที่ 14 นี้ และยังมีอะไรที่ไม่เกิดขึ้นในหลายประเด็นเช่นเดียวกัน
และก็คงจะไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับคนที่ต้อง "อยู่" กับอาเซียนมานาน
โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ได้สัมภาษณ์ ออง เคง ยอง อดีตเลขาธิการอาเซียนจากประเทศสิงคโปร์ และ อาจิต ซิง อดีตเลขาธิการอาเซียนจากประเทศมาเลเซีย ทั้งสองท่านในฐานะคนใน เห็นพ้องกันว่าอาเซียนเติบโตไปมากนับจากวันที่ก่อตั้งเมื่อ 8 สิงหาคม 2510 อย่าไปบ่นเลยว่าอาเซียนไม่เห็นจะคืบหน้าเลย เพราะแค่มองย้อนกลับไปไม่นาน แค่จะให้ผู้นำมานั่งลงพูดคุยกันเรื่องกฎบัตรอาเซียน หรือ Asean Charter ก็ไม่ต้องคิดหรอก เพราะไม่มีใครกล้าคิดว่าจะเกิดขึ้นได้
จนถึงขณะนี้กฎบัตรอาเซียนเกิดขึ้นแล้วจริงๆ และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 15 ธันวาคม ปีที่แล้ว ฉะนั้นประเด็นอื่นๆที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดก็อาจจะเป็นจริงก็ได้
ท่านออง เคง ยอง บอกว่าต้องใจเย็นๆ มองอาเซียนแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆทำ เดินช้าแบบมั่นคงดีกว่า สะดุดอะไรบ้างก็ต้องเดินกันต่อ ท่านอาจิต ซิง ก็ย้ำค่ะว่า นักข่าวชอบถามว่าจะกระบวนการทั้งหลายจะเร็วขึ้นได้อย่างไร ท่านก็บอกให้ใจเย็นๆอีกเช่นกัน แถมยังยิ้มอย่างสงบตอนตอบคำถาม ตอบแบบผู้มองโลกด้วยสายตาที่ผ่านประสบการณ์มามาก
ขณะที่เรื่องโรฮิงยา ก็ถูกวิพากษ์กันค่อนข้างหนักว่าสุดท้ายแล้วในสุนทรพจน์ปิดการประชุมของท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่เห็นระบุเรื่องโรฮิงยาเลย เพียงแต่พูดถึงกรอบการทำงานคร่าวๆว่าต้องเป็นกระบวนการที่ทำกันในระดับภูมิภาค หลายท่านอาจจะผิดหวังค่ะ แต่สำหรับวินมิตร ผู้สื่อข่าวบีบีซี ภาคภาษาพม่า บอกว่าแค่ที่ประชุมคุยกันเรื่องโรฮิงยาด้วยก็เกินความคาดหมายของเขาไปแล้ว
หรือโลกจะเปลี่ยนไปจริงๆ สำหรับอาเซียน
คงจะยังไม่เร็วขนาดนั้นค่ะ เพราะปัญหาที่ยังคาราคาซังก็อีกมาก อย่างเช่นการเมืองภายในพม่า ที่ผู้นำอาเซียนก็รู้ทั้งรู้ว่าทั่วโลกต่างจับตามอง แต่จะเข้าไปก้าวก่ายก็ทำไม่ได้ เพราะยังยึดโยงอยู่กับหลักการร่วมกันของอาเซียนว่าจะไม่ก้าวก่ายการเมืองภายในของกันและกันหรือ non-interference หรือถึงอยากจะเข้าไปยุ่งแต่ก็ติดเงื่อนไขของแต่ละประเทศเองที่ทำการค้ากับพม่าอยู่ ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ พอมีสัมพันธ์กันทางธุรกิจแล้วจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ยังจะเกรงกันอยู่มาก
ที่ผิดหวังไปบ้างแต่ก็ยังแฝงด้วยความหวังอยู่ก็คือภาคประชาสังคม ที่คราวนี้เตรียมงามกันมานาน แถมยังจัดประชุมใหญ่กันที่เมืองไทยหนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนจริง และได้วางตัวแทนไว้ 10 คนจาก 10 ประเทศเพื่อหารือในห้องกับผู้นำทั้ง 10 ประเทศ เอาเข้าจริงคืนก่อนวันเข้าพบ ผู้นำจากพม่าและกัมพูชา บอกว่าจะไม่ยอมพบกับตัวแทนภาคประชาสังคมของประเทศตน ผู้นำพม่าจะไม่ยอมพบเลย ขณะที่ผู้นำกัมพูชาบอกว่าให้พบได้แต่ต้องเป็นตัวแทนที่รัฐบาลกัมพูชาจัดไว้
เกือบจะจบ...แต่ก็ไม่จบ เพราะตัวแทนภาคประชาสังคมตัดสินใจไม่คว่ำบาตรการเลือกตั้ง เข้าข่ายยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต คือถึงแม้เพื่อนจากพม่าและกัมพูชาจะเข้าไปไม่ได้ ก็ขอให้เพื่อนจากชาติอื่นๆเข้าไป เพื่อให้การผลักดันในเรื่องต่างที่วางไว้เดินหน้าต่อ ดีกว่าจะต้องล้มหมากทั้งกระดาน
นักเคลื่อนไหวจากมาเลเซียพูดไว้น่าฟังมากค่ะว่า ยอมที่จะรักษาความเป็น constructive engagement หรือยุ่งเกี่ยวแบบสร้างสรรค์ ดีกว่าจะกลายเป็น confrontational engagement หรือยุ่งเกี่ยวแบบเผชิญหน้า
ท้ายสุดนายกรัฐมนตรีไทยก็คลี่คลายให้สถานการณ์ดีขึ้นและได้รับคำชมมาก ว่ามีจุดยืนที่ชัดเจน โดยพูดคุยกับตัวแทนประชาสังคมของทั้ง 10 ประเทศ นอกห้องประชุม ไม่ทำให้ภาคประชาสังคมเก้อ และรักษาหน้าของผู้นำ 10 ชาติไปพร้อมๆกัน
มีกลยุทธ การเดินเกม วางหมาก กันในหลายรูปแบบสำหรับการเจรจาระดับผู้นำประเทศแบบนี้ การพูดคุยกันในวงกาแฟ หรือช่วงรับประทานอาหารว่าง มีผลกว่าการคุยกันอย่างเป็นทางการในห้องประชุมเสียอีก
3 comments:
ชอบรายการที่นำทั้ง5ท่านที่ไปเจาะลึกประเทศต่างๆในอาเซียนมาร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะรายการส่วนมากมักจะไปสอบถามหรือพูดคุยกับนักวิชาการ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่นำความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆมาเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าคนที่มีประสบการณ์โดยตรงน่าจะให้ข้อมูลได้มากกว่า เนื่องจากเกี่ยวข้องกับตัวปัญหาโดยตรง อีกทั้งได้มาฟังผู้ที่มีประสบการณ์ด้านข้อมูลข่าวสารมานาน มาแสดงความคิดเห็นบ้างก็ดีหมือนกัน เพราะส่วนมากจะเห็นแต่ไปสัมภาษณ์บุคคลอื่น คราวนี้ได้มาแสดงความคิดเห็นเอง ความจริงน่าจะทำรายการที่ไปรายงานสดในคราวที่มีเหตุการณ์สำคัญๆแบบนี้บ่อยๆ เพราะหลายคนคงไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองกันทุกคน แต่ก็คงอยากจะทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวต่างๆด้วยเหมือนกัน อีกทั้งอาจจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น หรือเสนอแนะ และมีส่วนร่วมต่อไปในอนาคต
โชคดีที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนที่กลัวไว้แต่แรก และโชคดีอีกอย่างที่ได้การรายงานการประชุมในแง่มุมต่างๆ และหลากหลายจากทีวีไทยซึ่งไม่เหมือนกับหลายๆ สถานีที่มุ่งตอบคำถามแค่ตอนนี้ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ แต่เนื้อหาสาระที่ได้จากการประชุมครั้งนี้แทบไม่มีเลย.. ยังไงก็ขอบคุณณัฏฐาและทีมงานอีกครั้ง
เกือบลืมไป เราชอบการวิเคราะห์ประเด็นสตรีเมื่อคืนวันศุกร์มาก ถ้าจะให้ดีน่าจะสัมภาษณ์อาจารย์ด้านสตรีศึกษาท่านอื่นๆ บ้าง เพราะจำได้ว่าสัมภาษณ์แต่อาจารย์.. (ขออภัยจำชื่อไม่ได้แล้ว)จริงๆ นักวิชาการด้านสตรีศึกษาในประเทศไทยยังมีอีกหลายคน เช่น ผศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ (สสส.) รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ (นิเทศฯ จุฬาฯ)ทั้งสองท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเราเอง และอีกหลายๆ ท่านที่มีแนวคิดด้านนี้ที่น่าสนใจมาก เราเองก็ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ gender เหมือนกัน จึงขออนุญาตเสนอแนะความคิดเห็น
ต้องขอขอบคุณสำหรับรูปสวยๆของเจ้าของblogที่ให้ไว้ดูต่างหน้า
Post a Comment