“ทางออกประเทศไทย 19 มกราคม 2557”: ThaiPBS
หนึ่งสัปดาห์เต็มของมาตรการ “ปิดกรุงเทพ” โดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(กปปส.)
เกิดเหตุรุนแรงขึ้นทุกวัน วันศุกร์ที่ 17 มกราคม เหตุระเบิดช่วงบ่ายขณะกปปส.เดินย่านบรรทัดทอง มีผู้บาดเจ็บ 40 คน เสียชีวิต 1 คน
คือคุณประคอง ชูจันทร์ วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม เกิดเหตุระเบิดเวลา 13.35 น. ที่เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้บาดเจ็บ
28 คน หนึ่งในนั้นคือผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์
จนถึงวันนี้นับตั้งแต่เกิดเหตุปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น
ดินแดง เมื่อ 26 ธันวาคม มีผู้บาดเจ็บรวม 238 คน เสียชีวิต 4 คน ขณะที่ฝั่งรัฐบาลมีท่าทีราดน้ำมันบนกองเพลิงมากขึ้นเมื่อ ศอ.รส.ออกมาแถลงว่าผู้ชุมนุมสร้างสถานการณ์ที่ถ.บรรทัดทอง
อีก 13 วัน จะถึงวันเลือกตั้ง 2
กุมภาพันธ์ รัฐบาลยืนยันจะต้องเดินหน้า กกต.ระบุว่าจะเดินหน้าจัดเลือกตั้งตามที่รัฐบาลต้องการ แต่จะไม่ดูแล 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร กปปส. ยืนยันไม่ถอย ไม่เจรจา และจะ “ปิดกรุงเทพ” ให้สนิทกว่าเดิม
"ทางออกประเทศไทย" 19 มกราคม 2557 คุยกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ รศ. ดร. ไชยันต์ ไชยพร |
“ทางออกประเทศไทย” ในสถานการณ์เผชิญหน้าทางการเมืองเช่นนี้คืออะไร ในภาวะที่คนถามหาคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง
ภาวะที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมประนีประนอม ฝ่ายกปปส. ระบุต้องการเดินหน้าเพื่อ “ปฏิวัติประชาชน” รัฐบาลต้องการเดินหน้าเพื่อ
“รักษาประชาธิปไตย”
รายการพิเศษ “ทางออกประเทศไทย” ศ.ดร.ชัยวัฒน์
สถาอานันท์ นักปรัชญาการเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สกว. คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักปรัชญาการเมือง คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมหาทางออก
ทั้งสองท่านเห็นตรงกันว่าขณะนี้ยังไม่ถึงขั้น
“สงครามกลางเมือง” อ.ชัยวัฒน์ระบุว่า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะใช้คำนี้
แต่ตอนนี้สิ่งที่เห็นคือ “เป็นความรุนแรงที่ถึงขั้นตายได้” และเรียกสถานการณ์นี้ว่า
“สงครามความชอบธรรม” อ.ชัยวัฒน์ประเมินว่ามีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
จึงจำเป็นต้องหาทางช่องทางที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้คนที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง
ข้อเสนอของ อ.ชัยวัฒน์ คือ คนที่ไม่พอใจรัฐบาล ขอให้ไปเลือกตั้ง แล้วทำบัตรเสีย เพื่อให้รู้ว่าไม่พอใจ
หรือ กกต.จัดหาตรายาง เพื่อให้คนประทับว่า “ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง” และเสนอให้ กปปส. หรือเจ้าหน้าที่หยั่งเสียงหน้าคูหาเลือกตั้ง
(exit poll) เพื่อนับจำนวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งจริงๆ
เพื่อเป็นฐานเสียงที่จะชี้ให้เห็นว่าคนไม่ต้องการการเลือกตั้งครั้งนี้มากน้อยขนาดไหน
อ.ไชยันต์ ไชยพร เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
และเสริมว่า “พรรคเพื่อไทย และ
กปปส. ต้องกล้าวัดใจกันผ่านกระดาษ ต้องยอมให้ทำแบบนี้เพื่อที่คนจะไม่ต้องตายกัน”
อ.ไชยันต์ ยอมรับว่าถ้าเลือกตั้งแบบนี้เดาได้ไม่ยากว่า
พรรคเพื่อไทยก็คงจะชนะ แต่อีกด้านหนึ่งจะได้เห็นว่าจำนวนคนที่ไม่ต้องการการเลือกตั้งเยอะมากเช่นกัน
และอาจจะนำไปสู่การพิจารณาสละสิทธิของพรรคเพื่อไทยก็เป็นได้
ดิฉันแซว อ.ชัยวัฒน์
ว่าข้อเสนอแบบนี้ที่ต่อเนื่องกับ “พาราความขัดแย้ง”
ที่อาจารย์เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ว่า ขอให้เพิ่มช่อง
“ไม่ต้องการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์”
ในบัตรเลือกตั้ง คนอาจจะมองว่าคิดแบบโลกสวย
อาจารย์ตอบกลับแบบยิ้มๆว่าถ้ามองโลกสวยผิดตรงไหน โลกสวยเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่เหรอ
อ.ไชยันต์ เสริมว่า “ที่จริงเรามานั่งคุยแบบนี้เรากำลังมองโลกในแง่ร้ายมากกว่า
เรากำลังกลัวว่าจะมีคนตาย ขณะที่สองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งมองโลกในแง่สวยมากกว่าเราอีก”
ดิฉันเลยถามอาจารย์ไชยันต์ต่อว่า
ข้อเสนอแปลกๆที่อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าถ้าฝ่ายไหนทำจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะ
คืออะไร
อ.ไชยันต์ อธิบายว่า “คือข้อเสนอที่อยากให้ทั้ง 2 ขั้วการเมือง
เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สร้างสันติภาพ ชิงบทบาทความเป็นผู้มีมนุษยธรรม
ชิงความเป็นผู้รักสันติภาพ เสียสละตนเองเพื่อไม่ให้เงื่อนไขรุนแรงขึ้น ก่อนวันที่ 2 กุมภาพันธ์”
อาจารย์ไชยันต์เสริมด้วยว่า “ขณะนี้สองฝ่ายกำลังเล่นเกมกับดักทางการเมืองที่ที่สุดแล้วจะ “เจ๊งทั้งคู่” ตอนนี้สุ่มเสี่ยงอย่างมากกับการเล่นกับมวลชนทั้งสองฝ่าย
ในภาพรวม อ.ไชยันต์เห็นว่าทหารวางตัวได้ดีแล้ว
ที่จำกัดบทบาทตนเองเช่นนี้ และควรจะอยู่แบบนี้ต่อไป
ถ้าผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยจริงๆ
สิ่งที่อ.ชัยวัฒน์เป็นห่วงอย่างมากคือทัศนคติที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือ
“war mentality” ลักษณะที่ว่านี้คือถ้าไม่เห็นด้วยกับฉัน
เธอคือศัตรู เป็นทัศนคติเหมือนที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้ลูก
เคยบอกกับผู้คนทั่วโลกหลังเหตุการณ์ 11 กันยายนว่า “You are either with us
or against us” ซึ่งเสมือนกับเป็นการผลักให้คนเลือกข้าง
“War Mentality”กำลังเกิดขึ้นในไทย
เพราะคนไม่ฟังเหตุฟังผล พร้อมที่จะชี้หน้าต่อว่ากัน “สังคมทุกวันนี้ถูกฉีกออกจากกันด้วยความคิด War Mentality” ถ้าไม่อยู่ข้างผม ก็อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นศัตรูที่เกลียดชังกัน “แต่เมื่อสถานการณ์ยิ่งแรงขึ้นแบบนี้ ยิ่งต้องหาแนวทางสันติวิธี” อ.ชัยวัฒน์ระบุ
ผู้ที่กำลังมีความรู้สึกร่วมกับคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย
อาจจะรู้สึกว่าข้อเสนอจากทั้งสองท่าน “โลกสวย” หรือ “ไม่มีทางเป็นไปได้” แต่ในฐานะผู้ดำเนินรายการ
ดิฉันยังมีความหวัง และเห็นว่าข้อเสนอของทั้งสองท่านน่ารับฟัง และจะต้องฟัง แม้จะแปลก แม้จะไกลตัว บางคนบอกเสียเวลา ในทางกลับกันถ้าไม่คิด เฝ้ามอง ปล่อยให้สถานการณ์ลากไป
จนตีบตันลงไปทุกขณะ อาจจะแย่กว่าไม่พยายามทำอะไรเลยก็ได้
ยังมีเวลาที่จะหยุดยั้งความรุนแรงได้ ยังมีเวลาที่จะไม่ติดกับดักที่จะ “เจ๊งทั้งคู่” ยังมีเวลาที่สังคมไทยจะได้แสดง “วุฒิภาวะ” ว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ
ยังมีเวลา...ก่อนที่จะสายเกินไป
เพราะเมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว
ไม่มีใครเรียกชีวิตกลับคืนมาได้
ขอให้โชคดีจงมีแด่ทุกท่าน
ณัฏฐา โกมลวาทิน
19 มกราคม 2557
1 comment:
เห็นด้วยกับอาจรย์ค่ะ ถ้าคุณปูจะช่วยโดยกการประกาศไม่รับตำแหน่งนายกสมัยหน้าซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวเพื่อการปฏิรูปจะดีมาก แล้วหลังเค้าเลือกตั้งหลังจากนั้นค่อยมาลง พรรคการเมืองลงสัตยาบันว่าจะปฏิรูป ส่วนภาคเอกชน และองค์กรอื่นๆที่สนับสนุนการปฏิรูปภายใต้กติกาประชาธิปไตยก็ร่วมกันลงสัตยาบันว่าจะช่วยกันผลักดัน ถ้าการปฏิรูปไม่เดินก็พร้อมใจออกมากดดัน คราวนี้อาจถึงขั้นshutdown Thailand กันเลย ถ้าเรารวมตัวกันได้เราจะมีพลังมากกว่าที่กปปสมีอยู่ เราเห็นเหมือนกันเรื่องปฏิรูป หันหน้ามาคุยกันอน่าผลักไสเราเพราะแนวทางที่ต่างกันเล็กน้อย
Post a Comment