31.10.13

บันทึก EF2013 23-25 ตุลาคม เยือน new media อย่าง Google Storify และ Twitter ณ San Francisco

บันทึก EF 2013 
23-25 ตุลาคม  เยือน new media  Google Storify และ Twitter ณ San Francisco 

ติดค้าง blog ไว้หลายวันมากค่ะ ตั้งแต่อยู่ที่ San Francisco มีรายละเอียดมาเล่าให้ฟังเยอะค่ะ การไปเยือนเมือง San Francisco วันที่ 23 ตุลาคม ได้พบกับสื่อต่างกลุ่ม ต่างสาขา เริ่มต้นจากการพบกับนักกฎหมายผู้หญิงที่ทำงานเพื่อเสริมศักยภาพผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีคือ Watermark และตามมาด้วยการไปเยือนสำนักงานใหญ่ของ Google ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นมิตรกับพนักงาน และการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน

EF Fellows  Elisa จากอินโดนีเซีย John และ Abidin จาก มาเลเซีย 


24 ตุลาคม เริ่มต้นกับการคุยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย UC of Berkeley เรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตัล อาจารย์กำลังฝึกฝนผู้สื่อข่าวรุ่นกลางและรุ่นใหม่ให้ใช้สื่อดิจิตัลอย่างจริงๆจังๆ แม้จะเห็นความท้าทายรออยู่มากมาย แต่คุยกับคณบดีด้านนิเทศศาสตร์ของ UC of Berkeley แล้วใจชื้นขึ้นมาก เมื่ออาจารย์บอกว่าเป็นช่วงโอกาสทองของคนทำสื่อจริงๆ เพราะว่าเทคโนโลยีเอื้อต่อการทำงานมาก มีรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย และมีโอกาสที่สื่อเล็กๆ จะหาช่องทางทำงานได้มากขึ้น เฉพาะด้านมากขึ้น

จากนั้นไปคุยกับผู้ก่อตั้ง Storify คุณ Burt Herman ผู้ที่เป็นอดีตผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว AP เคยมาทำงานในเอเชีย และสนใจข่าวต่างประเทศเป็นหลัก และยืนยันว่าตอนที่เริ่มก่อตั้ง Storify ไม่ได้คิดเรื่องเงิน หรือต้องการทำอะไรใหญ่โต เพียงแต่เชื่อในเรื่องข่าว และเทคโนโลยี และอยากให้คนเข้าถึงมากขึ้น

บ่ายวันเดียวกันไปคุยกับคุณ Richard O’Connell ผู้บริหารของ ITVS เป็นผู้ผลิตงานสารคดีป้อนให้กับ PBS America คุณ Richard ทำงานนี้มากว่า 12 ปีแล้ว ตอนบรรยายลงรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของ PBS และเน้นว่าเป็นพื้นที่ที่ให้นำเสนอวาระสำคัญทางสังคม และให้การสนับสนุนผู้ผลิตอิสระ เพื่อให้มีโอกาสทำงานป้อนสื่อสาธารณะ ได้ดีวีดีติดไม้ติดมือกลับบ้านหลายเรื่องเลยค่ะที่เป็นตัวอย่างสารคดีสั้น น่าดูมาก

ช่วงเย็นวันนี้ที่ตื่นเต้นมากคือหลังจากประชุมทั้งหมดใช้เวลาที่พอจะมีเพียง 1 ชั่วโมง นั่งแท็กซี่ไปดูสะพาน Golden Gate และได้เห็นสมใจ ก่อนที่จะกลับมาพบกับเพื่อนๆ EF Fellows ที่มีนัดรับประทานอาหารเย็นกับผู้สนับสนุน EF คือ Chevron และผู้บริหารภาคเอกชนขององค์กรต่างๆ

วันรุ่งขึ้น 25 ตุลาคม 2556 เริ่มแต่เช้า ด้วยการประชุมร่วมกับองค์กร Women 2.0 เป็นบริษัทเริ่มต้นทางอินเตอร์เนต หรือ start-ups ที่ช่วยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงทำงานที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีได้เชื่อมโยงถึงกัน และได้มีเวทีในการพูดคุย เสนอผลงาน และเข้าถึงแหล่งทุน เป็นบริษัทเฉพาะทางที่เกิดจากเพื่อนรักที่ร่วมมือกันทำงานด้านเทคโนโลยี และเป็นอีกด้านหนึ่งของ San Francisco ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเชิงความเป็นแหล่งร่วมบริษัทด้านสื่อใหม่ ในย่าน Silicon Valley

จากนั้นประชุมต่อกับ Asia Foundation มูลนิธิที่ระดมเงินช่วยเหลือให้กับเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านต่างๆ เช่นด้านสิทธิมนุษยชน สนับสนุนการเลือกตั้ง ธรรมาภิบาล เทคโนโลยี และการเสริมพลังให้กับผู้หญิงด้านเทคโนโลยี

ช่วงบ่ายไปต่อที่ทวิตเตอร์ พบกับผู้บริหารด้านการวิเคราะห์การตลาดของทวิตเตอร์ ทื่ยืนยันว่าทวิตเตอร์โตเร็วมาก ในตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เห็นศักยภาพของผู้คนในการใช้ทวิตเตอร์ สื่อสารและสร้างประเด็นทางสังคม บรรยากาศของสำนักงานใหญ่ทวิตเตอร์คึกคักมาก และดูจะหลุดกรอบไม่ค่อยเหมือนที่ทำงาน ฉันเข้าไปเดินแล้วรู้สึกว่าเป็นมหาวิทยาลัย เพราะเห็นแต่คนรุ่นหนุ่มสาว หลากหลายเชื้อชาติอย่างมาก และดาดฟ้าของที่นี่กลายเป็นแหล่งรวมกิจกรรม สันทนาการ และให้พนักงานนั่งพักผ่อนกันตามอัธยาศัย ปัจจุบันทวิตเตอร์มีพนักงานรวมกว่า 23000 คนทั่วโลก วันที่ไปเจอพนักงานคนไทย 4 คนที่ได้ร่วมงานกับทวิตเตอร์
หนึ่งในพื้นที่รับรองของทวิตเตอร์ ที่สำนักงานใหญ่ San Francisco 



ดาดฟ้าของทวิตเตอร์ ให้พนักงานพักผ่อน รับประทานอาหาร 


นัดสุดท้ายสำหรับวันนี้กลับไปที่ Center for Investigative Reporting (CIR) ศูนย์การรายงานข่าวสืบสวน ได้พบกับอาจารย์ Robert Rosenthal ผู้เป็นอดีตผู้สื่อข่าวที่ Philadelphia Inquirer เพราะไม่ลงรอยกับผู้ให้เงินทุน พอมาทำ CIR โด่งดังมาก และได้เงินสนับสนุน พร้อมรางวัลมากมาย คือได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง แต่ที่สำคัญไม่ลืมเรื่องหัวใจของการทำงานสื่อ คือ เนื้อหา

กับ อ. Robert Rosenthal แห่ง Center for Investigative Reporting 
เหล่านี้คือคร่าวๆของตารางนัดในช่วงเวลาที่อยู่ San Francisco ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินไปลงที่เมือง Phoenix รัฐ Arizona กับจุดหมายต่อไปคือ เมืองท่องเที่ยว Sedona และ Grand Canyon ตามกำหนดที่ EF Fellows ทั้ง 23 คนจะมีเวลาพักร่วมกันในช่วงกลางของ 7 สัปดาห์ที่มาเยือนสหรัฐตามโครงการ EF Fellowships


พบกันป้ายหน้าที่เมือง Sedona และ Grand Canyon ค่ะ 

23.10.13

บันทึก EF2013 21-22 ตุลาคม 2556 "48 ชั่วโมงที่ Portland, Oregon"

บันทึก EF 21-22 ตุลาคม 2556
48 ชั่วโมงใน Portland รัฐ Oregon
#EF2013 

แว้บเดียวจริงๆกับเวลา 48 ชั่วโมงที่เมืองพอร์ตแลนด์ ผ่านไปไวเหมือนสายลม แต่กว่าจะไปถึงเยือนพอร์ตแลนด์มีลุ้นกันนานทีเดียวค่ะ 20 ตุลาคม ตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อที่จะไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินแอตแลนต้า เพื่อต่อไปพอร์ตแลนด์ ปรากฏว่าพอไปถึงอาคารผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่บอกว่าขอโทษด้วยที่เครื่องจะล่าช้าออกไป 2 ชั่วโมง ระลอกแรกก็ไม่เท่าไร พอจะเข้าใจ พอไปปนั่งรอตรงทางขึ้นเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ประกาศว่าจะช้าออกไปอีก 3 ชั่วโมง รวมแล้วคือเที่ยวบินนั้นช้าไป 5 ชั่วโมง  ได้แต่เซ็งนิดหน่อย แต่พอหันไปรอบๆตัวเห็นผู้โดยสารคนอื่นก็คงเซ็งคล้ายๆกัน และต้องอดทนรอเช่นกัน ฉันเลยหายเซ็ง ยอมรับชะตากรรม สนุกกับการอ่านหนังสือ และการรอคอยต่อไป

ได้นั่งเครื่องบินเกือบ 5 ชั่วโมงเต็มโดยปลอดภัย ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะทางสายการบิน Delta Airlines บอกว่าที่เที่ยวบินล่าช้าเพราะว่าต้องนำเครื่องไปเช็คที่ญี่ปุ่น เสร็จแล้วถึงมาแวะรับผู้โดยสารที่แอตแลนต้า เพื่อพาไปส่งที่พอร์ตแลนด์ ความปลอดภัยสำคัญที่สุด (แม้จะต้องรอนานก็ตาม)

โชคดียังพอไปถึงได้เห็นแสงแดดชั่วโมงสุดท้ายในพอร์ตแลนด์ ก่อนที่ตะวันจะลับฟ้า และพอได้มีเวลานิดหน่อย ไปชื่นชมร้านหนังสือ Powell’s Books ร้านขนาดใหญ่ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำเมือง อวดต่อสายตาผู้ไปเยือนว่าเมืองเล็กที่ไม่เล็กอย่างพอร์ตแลนด์ มีร้านหนังสือที่ใหญ่น่าประทับใจขนาดนี้ เข้าไปดูแล้วละลานตามากค่ะ หัวใจเต้นแรง เมื่อเห็นหนังสือเรียงรายวางอยู่บนชั้นต่างๆ เดินไล่เรียงดูอย่างเพลิดเพลิน เสียดายเวลาน้อยไปหน่อย แต่ได้ไปเยือนก็ชื่นใจมากแล้ว

พอร์ตแลนด์เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในรัฐออรีกอน แต่ขนาดใหญ่ที่สุดแล้วประชากรรวมที่นี่ยังไม่ถึง 600,000 คนค่ะ พอร์ตแลนด์ขึ้นชื่อเรื่องความน่าอยู่ ความเป็นเมืองที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และคนมีการศึกษา มีความคิดก้าวหน้า  แต่ที่สังเกตคือมีคนไร้ที่อยู่อาศัยเดินตามถนนหนทางไม่น้อย

Portland, Oregon, the U.S. 

นัดแรกของวันที่ 21 ตุลาคม ฉันได้พบกับ ศ. Steven Ward อาจารย์ชาวแคนาดา ผู้อำนวยการศูนย์ Turnbull Center ที่มหาวิทยาลัยแห่งออรีกอน อาจารย์ Ward เป็นผู้ศึกษาด้านจริยธรรมสื่อมายาวนาน และเมื่อคุยเรื่องนี้เพลินมาก รู้เลยว่าอาจารย์ อิน หรือว่าสนอกสนใจในเรื่องที่ศึกษาอย่างจริงจัง Turnbull Center  เน้นหลักสูตรสอนผู้สื่อข่าวให้เก่งรอบด้านในการใช้สื่อ โดยเปิดอบรม 2 ด้าน 1. Multimedia journalist 2. Strategic Communications

Turnbull Center, University of Oregon. 



ถามอาจารย์ Ward ว่ามองว่ารูปแบบการทำสื่อ ทั้งสื่อระดับองค์กร และระดับบุคคลจะพัฒนาไปในรูปแบบใด อาจารย์ตอบตรงๆว่าไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะถ้ารู้รูปแบบก็คงรวยไปนานแล้ว ต้องยอมรับว่าการทำสื่อขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเงินสนับสนุนอยู่มาก คนทำสื่อถ้าไม่มีเงินทุนสนับสนุนก็คงไม่มีงานทำ หรือไม่มีทางพัฒนางานตนเอง

ต้องยอมรับว่าเรื่องทุนเป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อตอนนี้มีสื่อสังคมออนไลน์ ที่คนทั่วไปเป็นนักข่าวได้ ยิ่งเป็นเสมือนสัญญาณว่าสื่อที่ต้องการทำงานสื่อเป็นอาชีพยิ่งต้องปรับตัว

อ.วาร์ด มองว่าจริยธรรมจะสร้างความแตกต่างให้กับสื่อที่ต้องการอยู่ยงคงกระพันในอาชีพนี้ และเป็นหนทางที่จะสร้าง ความน่าเชื่อถือ และยี่ห้อของตนเอง ยิ่งสื่อสังคมเอื้อให้คนกระจายข่าว รายงานข่าวกันมากขึ้น คนที่ทำงานสื่อยิ่งต้องมีจริยธรรมมากขึ้น และยิ่งต้องเห็นคุณค่าของจริยธรรมสื่อ อ.วาร์ด อธิบาย

อ.วาร์ด แนะนำว่า สื่อทุกคนควรมองว่าตนเองเป็นสื่อมวลชนที่ทำงานในระดับโลก ไม่ได้อยู่แค่ในระดับท้องถิ่นอีกต่อไป และสื่อใหม่กำลังสร้างประชาธิปไตยในวงการสื่อ เรียกว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ แห่งสื่อ ฉะนั้นจริยธรรมยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเพื่อที่จะยกระดับคุณภาพของงานให้ได้มาตรฐานมากขึ้น

เรื่องจริยธรรมสื่อ และเสรีภาพสื่อ เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยอาจารย์ย้ำว่าเสรีภาพต้องมากับความรับผิดชอบ อ.วาร์ด บอกว่าไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับการเปิดเผยทุกอย่างอย่างโจ่งแจ้ง อย่างที่ Julian Assange หรือ Wikileaks พยายามทำ บอกว่าเห็นด้วยในระดับหนึ่ง แต่บางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ เกี่ยวข้องกับความลับทางทหาร เห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและไม่ควรจะเปิดเผยอย่างหมดเปลือก เพราะว่าจะส่งผลต่อความปลอดภัยของคนในชาติ เมื่อสื่อได้รับข้อมูลมาจะต้องพึงใช้วิจารณญาณในการนำเสนอ ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งกับเสรีภาพสื่อ และจริยธรรมในการนำเสนอ

อาจารย์บอกว่าไม่เคยมียุคไหนที่การนิยามจริยธรรมสื่อจะยากเท่ากับยุคนี้อีกแล้ว เพราะเมื่ออินเตอร์เนต สื่อสังคมมีบทบาทมากขึ้น คนมีเสรีภาพมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้น คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่าอะไรจะเปิด อะไรจะปิด จะเผยอะไรได้มากขนาดไหน จะปิดจะบังข้อมูลอะไรไว้ เหล่านี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต่างกับสมัยก่อนที่ผู้สื่อข่าวอาจจะยึดตามตำรา

แต่เมื่อไม่มีสูตรตายตัว สื่อที่พยายามจะยกระดับมาตรฐานในการทำงาน ยิ่งต้องยึดหลัก ตรวจสอบที่มาที่ไปของข้อมูลเพื่อให้มั่นใจในสิ่งที่รายงาน อาจารย์พูดไว้หนึ่งประโยคที่น่าสนใจมากว่า “Competition should not be fighting to be right first, but getting right first” และต้องพยายามไม่ทำตัวเป็น “cowboy” หรือเสือปืนไว ในการเปิดเผยข้อมูล เพราะว่าการรายงานอย่างถูกต้อง แม่นยำ แม้จะช้ากว่า จะมีคุณค่ามากกว่า

อาจารย์ Ward เชื่อว่าสื่อกระแสหลัก สื่อรายใหญ่ๆที่ทำงานชิ้นใหญ่ๆจะอยู่ได้ต่อไป แต่จะต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน และหาแนวร่วมทำงานร่วมกับสื่ออิสระ สื่อเล็ก สื่อน้อย ต่างสำนักมากขึ้น โดยรวมคือสื่อทุกประเภทต้องปรับตัว จะอยู่โดดๆได้ยาก สถานการณ์จะซับซ้อนมากขึ้น หลายชั้นมากขึ้น แต่ก็จะได้ร่วมมือกันมากขึ้นเช่นกัน

อีกสื่อที่ได้ไปเยี่ยมคือ Oregon Public Broadcasting สื่อสาธารณะแห่งรัฐออรีกอน ที่เป็นส่วนหนึ่งของ PBS รูปแบบการทำงานคล้ายกับ GPB หรือ Georgia Public Broadcasting ที่ฉันไปเยือนมาแล้วก่อนหน้านี้ที่แอตแลนต้า



ทางเข้า OPB

บริเวณทางเข้า OPB นำเครื่องไม้เครื่องมือตั้งแต่วันเริ่มเปิดสถานีเมื่อ ค.ศ. 1922 มาโชว์ให้ดู และอุปกรณ์ในยุคถัดๆมา เห็นแล้วอดยิ้มไม่ได้ ว่าเครื่องมือสมัยก่อนดูใหญ่และเทอะทะมาก หมดสิทธิ์ที่คนทำงานสื่อรุ่นปัจจุบันอย่างฉันจะบ่นว่าอุปกรณ์หนัก เพราะสมัยนี้เบาและกะทัดรัดมากขึ้น เอื้อต่อการทำงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นจงอย่าบ่น แต่จงเดินหน้าทำงานต่อไป J

OPB มีรายงานที่ผลิตเองสามรายการ เป็นรายการด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และประวัติศาสตร์ เน้นการให้ความรู้กับคนท้องถิ่นในรัฐออรีกอนเป็นหลัก รายการข่าวส่วนใหญ่เป็นรายการวิทยุที่ประสานเรื่องเนื้อหากับวิทยุบีบีซี  OPB อายุใกล้จะ 100 ปีเต็มแล้ว ทุกวันนี้มีพนักงานประจำประมาณ 177 คน

ที่เหมือนกันอย่างมากสำหรับ OPB และ GPB คือรายการยอดฮิตคือ Downton Abbey ซีรีย์สดังจากประเทศอังกฤษ กลายเป็นว่ารายการฮิตสำหรับคนอเมริกันเป็นละครเกี่ยวกับประวัติศาตร์ และชีวิตคนอังกฤษ

OPB เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งสำหรับคนที่พอร์ตแลนด์ และรัฐออรีกอน มีคนจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจไม่ดูช่องเคเบิล เช่น CNN หรือ MSNBC และดูเฉพาะสถานีหลักอย่าง ABC NBC CBS และ PBS เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ คนขับแท็กซี่คนหนึ่งที่ฉันได้คุยด้วยที่พอร์ตแลนด์ บอกว่าชื่นชม OPB มากเพราะเป็นเสมือนต้วแทนของคนออรีกอนได้เป็นอย่างดี หมายถึงว่ารายการมีคุณภาพและสะท้อนว่าคนมีคุณภาพเช่นกัน

Morgan Holm, Senior VP Content Officer, OPB 
คุณมอร์แกน ฮอล์ม ผู้บริหาร OPB บอกให้ฟังอย่างใจเย็นๆว่า ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าระยะยาว OPB จะปรับตัวอย่างไร กับกระแสเติบโตของ social media ตอนนี้ยังมองสถานการณ์ไม่ออกเช่นกัน แต่นโยบายก็คือให้ความสำคัญมากขึ้น ลงทุนมากขึ้น และหันมาทำสารคดียาวๆ เน้นการผลิตงามๆ เพื่อลง ipad สนใจหาดาวน์โหลด ipad ได้โดยพิมพ์คำว่า OPB ค่ะ

ทุกวันนี้ OPB อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป และภาคธุรกิจเป็นหลัก และช่วงหลังพยายามขอทุนจากกลุ่มผู้สูงอายุ ว่าขอให้ทำพินัยกรรมยกมรดกหรือเงินให้กับ OPB เมื่อเสียชีวิต ปรากฎว่ารายได้จากส่วนนี้เป็นกอบเป็นกำ ช่วยต่อลมหายใจให้กับ OPB ได้อย่างมาก

คุณมอร์แกน เชื่อมั่นว่าหัวใจสำคัญที่สุดของ OPB คือคุณภาพและชื่อเสียงที่สะสมมาเกือบ 100 ปี ที่ทำให้คนดูเชื่อมั่นว่าถ้าอยากรับรู้ข่าวสาร รายการที่เป็นกลาง โดยที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องมาที่ช่องนี้

มาพอร์ตแลนด์ช่วงนี้กำลังสวนเลยค่ะ อากาศไม่หนาวมาก และได้เห็นใบไม้กำลังเปลี่ยนสีพอดี สวยงามสดชื่นมากทีเดียว คนที่พอร์ตแลนด์บอกก่อนหน้านี้ฝนตกตลอด ฉันมาจังหวะดีมาก เอาละแม้จะเวลาน้อยแต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามาก


ต้องลาแล้วสำหรับเมืองน่ารักแห่งนี้ “City of Roses” หรือ Stumptown หรือ PDX  เหล่านี้ล้วนหมายถึง Portland ค่ะ ///

20.10.13

บันทึก EF2013 18-19 ตุลาคม 2556 ONA13 "Shine Theory"

บันทึก 18-19 ตุลาคม 2556 
ONA13 Atlanta, Georgia 

ตารางงาน ONA13 Atlanta Georgia

ภาพมุมสูงเมืองแอตแลนต้า 


งาน ONA13 Online News Association Conference ครั้งที่ 13 ที่จัดที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย จบลงไปแล้วค่ะ งานจัดกัน 3 วันเต็มๆ เพื่อให้สื่อมวลชนที่สนใจความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ การเปลี่ยนผ่าน และการเรียนรู้แนวโน้มใหม่ รวมถึงปัญหาหลักๆในวงการ ได้มาร่วมระดมสมอง เข้าร่วม workshop ในห้องต่างๆ  และมีสื่อรุ่นนักศึกษาจากระดับมหาวิทยาลัยที่ได้มาร่วมงาน เพื่อทำ ห้องข่าวจำลอง “newsroom” ด้วยค่ะ

บรรดาผู้สื่อข่าวที่มาร่วมงานในครั้งนี้จะว่าไปก็เหมือนกับมาเป็นนักศึกษากันอีกครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ และได้รับฟังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากสื่อในวงการ ที่อายุอาจจะไม่ได้มากกว่า แต่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆมากกว่า ดูตามแนวโน้มแล้วอย่างที่เกริ่นไปแล้วก่อนหน้า คือนักข่าวต้องตื่นตัวกันมากเรื่องดิจิตัลเทคโนโลยี นักข่าวหนังสือพิมพ์ในรูปแบบเดิมๆเขียนข่าวและส่งข่าวอย่างเดียวไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ช่างภาพถ่ายภาพอย่างเดียวก็ไม่ใช่อีกต่อไป นักข่าวทีวีส่งแต่ข่าวผ่านหน้าจอทีวีก็ไม่ใช่อีกต่อไป

ปีนี้จังหวะดีมากๆ ที่มาดูงานของ Eisenhower Fellowships แล้วมีงาน ONA13 พอดี สื่อจากไทยอีกท่านที่มาอยู่ในงานนี้ด้วยกันคือคุณสฤณี อาชวานันทกุล (@fringer) blogger คนดังจากเมืองไทย ที่แฟนๆคุ้นกันดีอยู่แล้วถึงความเป็นนักคิด นักเขียน นักแปล ที่มีผลงานออกมามากมายค่ะ

การจัดงาน ONA13 ในปีนี้ที่พอจะจับแนวโน้มได้ก็คือ การสร้างความตื่นตัวในเรื่องความเป็นนักข่าวยุคดิจิตัล การสื่อสารกับคนดู การทำงานร่วมกันเชิงพันธมิตรระหว่างต่างสื่อต่างค่าย ต่างรูปแบบ mult-platforms ในการนำเสนองาน เป็นต้นค่ะ  ที่จริงสื่อไทยปรับตัวเข้ากับแนวโน้มนี้มาระยะหนึ่งแล้ว จะว่าไปความตื่นตัวเรื่องการใช้ social media ไม่ได้น้อยไปกว่าสื่อต่างชาติเลย แต่ที่ยังขาด และเป็นสถานการณ์เดียวกับที่ผู้สื่อข่าวต่างชาติกำลังเผชิญก็คือการใช้ social media อย่างเป็นยุทธศาสตร์ ทำให้เป็นระบบ เช่น ก่อนและหลังรายการ การพูดคุยโดยให้ผู้ประกาศ หรือผู้สื่อข่าวของช่อง สร้างอัตลักษณ์ตนเอง สร้าง ยี่ห้อของตนเองให้ชัดเจนจากการใช้สื่อดิจิตัลต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเนื้อหาที่แทรกอยู่ใน workshop ของหลายๆห้อง และที่โดดเด่นอีกเรื่องก็คือการปรับตัวของผู้สื่อข่าว เป็นผู้ประกอบการข่าว หรือ entrepreneurs ซึ่งเป็นอีกแนวโน้มที่กำลังมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงกับมีคำถามต่อผู้เข้าร่วมว่าคิดว่าการทำข่าวในสถานีหลักๆเพียงอย่างเดียว ถือว่าเป็น ไดโนเสาร์หรือไม่  เพราะว่าถ้าสื่อไม่ปรับตัวยังยึดแนวทางแบบเดิมๆ ก็คงจะต้องล้มหายตายจากไปจากวงการ เสมือนเป็นไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์

นอกจากการแนะนำกลยุทธ์เพื่อปรับตัว วงพูดคุยช่วงเย็นวันที่ 18 ตุลาคม สร้างความครื้นเครงเป็นอย่างมากก็คือสองสาวเพื่อนรักกันในวงการ คุณ Aminatou Sow และคุณ Ann Friedman ที่มาคุยแบบสบายๆ แนะนำผู้สื่อข่าวว่าจะทำงานร่วมกันตามทฤษฎีส่องแสง “Shine Theory” ได้อย่างไร


คุณ Aminatou Sow และคุณ Ann Friedman 

อธิบายง่ายๆ “Shine Theory” ก็คือการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกันฉันท์มิตรส่งเสริมกันในที่ทำงาน และพยายามผลักดัน อุ้มชูกันแบบจริงๆจังๆในเรื่องงาน ไม่ใช่ว่าคุยกันเรื่องสัพเพเหระแล้วก็จากกันไป หรือว่าคอยแต่ว่าคนอื่นลับหลัง ทฤษฎีนี้พยายามหนุนให้ทำกันเป็นนิสัยเลยว่าเมื่อมาเจอกันต้องช่วยกันเรื่องงานจริงๆ โดยพยายามใช้สื่ออินเตอร์เนตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

หลักใหญ่ของ shine theory คือ
1.      Making Journalism to the Internet
2.      Making you see it
3.      Make people see you

ทั้งสองสาวอธิบายว่า เริ่มจากการใช้อินเตอร์เนตก่อน ผู้สื่อข่าวควรสร้างความเป็นเจ้าของผ่านการนำเสนอด้วยอินเตอร์เนต จากนั้นพยายามสร้างความร่วมมือกับผู้สื่อข่าวคนอื่นๆในห้องข่าว หาทางส่งเสริมงานของกันและกัน เพราะว่าถ้าเพื่อนผู้สื่อข่าวคนอื่นในองค์กรช่วยโปรโมทงานของคุณ ก็จะต่อยอดต่อไปเรื่อยๆ จากนั้นต้องให้มั่นใจว่าคนอื่นๆเห็นงานของคุณ ไม่ว่าจะเป็น blog ทวิต หรือช่องทางอื่นๆ โดยทั้งทีมที่สนับสนุนกันจะต้องมีเป้าหมายร่วมกันว่าต้องการสร้างผลจากงานที่ร่วมกันโปรโมท เพือนำไปสู่จุดประสงค์ที่สามก็คือให้คนทั่วไปรู้ว่ามีงานของคุณอยู่ สรุปสั้นๆก็คือทำงานร่วมกันเป็นทีมในที่ทำงาน หรือหาเครือข่ายจากข้างนอก ส่งเสริมกันและกัน คนที่เป็นรุ่นพี่ไม่ทำตัวเย่อหยิ่ง แต่หาทางพูดคุยและเป็นที่ปรึกษากับรุ่นน้อง เพื่อช่วย ส่องแสงให้กันและกัน

คนฟังกันมากทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 


ฟังดูดี และสวยงามมากทีเดียว แต่คนที่ร่วมรับฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีคำถามว่าจะทำได้จริงหรือในเชิงปฏิบัติ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในที่ทำงานก็จะต้องอิจฉากัน แข่งขันกันเป็นเรื่องธรรมดา คุณ Ann เธอตอบว่าใช่ ในทางปฏิบัติคงยาก แต่อย่างน้อยต้องหาให้ได้สักกลุ่มที่จะทำงานร่วมกันและให้คำมั่นกันว่าฉันจะไม่แข่งกับสมาชิกในกลุ่มนี้ แต่จะช่วยและร่วมมือกันอย่างจริงใ  “invest in your peers, take time to give someone’s advice (when asked)”

ผู้เข้าร่วมผู้ชายอดถามไม่ได้ว่า “shine theory” ดูเหมือนจะตัดผู้ชายออกไปจากระบบ ผู้บรรยายสองสาวบอกว่าไม่จริง แต่ว่าเป็นความพยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกันจริงๆ ถ้าลักษณะนิสัย บุคลิกต้องตรงกัน ไม่ว่าชายหรือหญิงจะทำงานร่วมกันได้

ฟังดูแล้วได้ข้อคิดดีๆ น่ารักๆ จากสื่อผู้มากประสบการณ์ในวงการ และได้รอยยิ้มออกมาจากห้องประชุม ที่ทำให้รู้สึกว่า คนทำงานสื่อน่าจะได้มีจังหวะเวลาสบายๆแบบนี้บ้าง ไม่ได้คิดถึงแต่เรื่องเนื้อหา เรื่องการแข่งขันแต่อย่างเดียว แต่ต้องมองไปรอบๆตัวว่าจะร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกับใครได้อย่างจริงใจบ้าง เพราะไม่มีใครที่เก่งไปทุกเรื่อง//


ขอบฟ้ายามเย็นของเมืองแอตแลนต้า วันที่ 19 ตุลาคม 2556 

19.10.13

บันทึก EF2013 17-18 ตุลาคม 2556 ONA13 "Nate Silver" 538

17-18 ตุลาคม 2556 #ONA13 Atlanta, Georgia
Online News Association Conference

อยู่ที่งานประชุม ONA13  หรือสมาคมนักข่าวออนไลน์ เป็นงานระดมสมอง ประชุมและ workshop ที่เกี่ยวข้องกับยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Journalism มีหลากหลายประเด็นที่เปิดเวทีพูดคุยกันในงาน ONA13 เสมือนเป็นตลาดนัดในแวดวงสื่อยุคดิจิตัล ที่มีหลากหลายห้องให้เดินเลือกช๊อปเพื่อเข้าไปนั่งฟังกันอย่างเต็มที่เป็นเวลา 3 วันเต็ม






ปีนี้สำหรับเจ้าภาพจัดงานคือบรรดากรรมการของ ONA บอกว่าเมื่อได้มาจัดงานประชุมที่ Atlanta ถือว่าเป็นการยกระดับงานประชุมขึ้นไปอีกขึ้น เพราะว่า Atlanta เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการประชุมระดับนานาชาติ ปีนี้มีนักข่าวมาร่วมงานกันไม่ต่ำกว่า 600 คน เป็นไปอย่างคึกคักยิ่งนัก เดินเข้าห้องนู้น ออกห้องนี้ เลือกกันตามชอบใจว่าใครสนใจหัวข้อไหน เดินเข้าไปฟังได้ตามใจชอบ

ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เปลี่ยนผ่านของวงการสื่อ ปฏิเสธไม่ได้กับดิจิตัลเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ หลายๆวงที่ตั้งขึ้นมาคุยเรื่องนี้มักจะใช้คำว่า “engage and conversation” หมายถึงว่าสื่อเองต้องทำงานแบบพูดคุยสร้างสัมพันธ์ และพูดคุย ติดตามงานมากขึ้นทั้งก่อนและหลังการออกอากาศหรือการเผยแพร่งาน

ฉันไปนั่งฟังหลายๆห้องแล้วพอจะรับรู้ได้ถึงบรรยากาศการพูดคุยเรื่อง “Digital Journalism” กับบทบาทเทคโนโลยีที่กำลังหลั่งไหลเข้าหาวิชาชีพสื่อ ซึ่งไม่ต้องถามแล้วว่าจะรับหรือไม่รับ คำถามนี้คงเชยไปแล้ว เพราะว่าถ้าไม่รับคงอยู่ไม่ได้ ที่ต้องถามคือจะปรับตัวอย่างไรมากกว่ากับการใช้เทคโนโลยี สื่อสังคมออนไลน์ จะใช้ขนาดไหน ในระดับใด เพื่อเอื้อต่อการทำงานทั้งในระดับปัจเจก และระดับองค์กรให้มากที่สุด เส้นบางๆที่แบ่งว่า คนนี้คือช่างภาพข่าว นักข่าว นักเขียน คนทำเวป อาจจะกำลังค่อยๆเลือนหายไป เพราะทุกคนต้องทำให้ได้ทั้งหมดเพื่อเป็น “digital journalist”  แต่ขณะเดียวกันจะลืมไม่ได้เป็นเด็ดขาดถึง อาวุธ สำคัญของการเป็นคนข่าว คือ ทักษะในการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบข้อเท็จจริง ความแม่นยำ การวิเคราะห์ และการเล่าเรื่องทักษะพื้นฐานเหล่านี้จะยังคงความเป็นหัวใจของวิชาชีพสื่อต่อไป แต่ที่เข้ามาแล้วก็คือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังท้าทายคนในวงการสื่อเป็นอย่างมาก ว่าจะ อยู่หรือไป

ส่วนหนึ่งที่การประชุม ONA13 เป็นที่กรี๊ดกร๊าดฮือฮา อย่างมากก็คือมี “Nate Silver” มาเป็นผู้บรรยายในเวทีใหญ่ เรื่องทักษะของนักข่าวกับการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ คุณ Nate เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในความเป็นนักเขียน นักสถิติ และนักข่าวของ สร้างชื่ออย่างมากกับความแม่นยำคะแนนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2008 และ 2012 เจาะรายละเอียด คาดการณ์ได้แม่น จนโพลล์หลายสำนักยังต้องอาย โดยวิเคราะห์ผ่านเวปไซต์ FiveThirtyEight.com


วันนี้ Nate มาบรรยายแบบสบายๆ แต่เต็มไปด้วยเนื้อหา เรื่องทักษะของนักข่าวกับการอ่านค่าสถิติต่างๆ Nate ระบุว่ายิ่งนักข่าวอยู่ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่วันๆมีข้อมูลไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านล้านไบท์ ยิ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากว่า จะทำอะไรกับข้อมูลมากมายแบบนี้: how the hell to do with data”

Nate แนะนำพร้อมสไลด์ที่เตรียมมา 8 ห้วข้อใหญ่ๆคือ
1.      Statistics aren’t just numbers  สถิติไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขเท่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงบอกว่าตัวเลขคือเท่าไร เปอร์เซ็นต์คืออะไร เพราะถ้าไม่เข้าใจและอธิบายไม่ได้ ตัวเลขจะไม่มีความหมาย
2.      Data requires context
ข้อมูลต้องการบริบทในการทำความเข้าใจ อย่างเช่น นักข่าวมักจะรายงานว่าจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองของโลก บอกแค่นี้อาจจะไม่ได้มีความเหมายอะไรเลย เพราะที่จริงต้องอ่านให้ลึกลงไปว่าที่จริงรายได้ประชากรต่อหัวต่อปี ของคนจีนยังต่ำมาก อยู่ที่อันดับ 93 ของโลก เพราะฉะนั้นถ้าจะเทียบในเชิงสังคม ความใหญ่ของเศรษฐกิจจีนในเชิงจีดีพี คงไม่ได้มีความหมายกับประชากรจีนโดยรวม เพราะคนส่วนใหญ่ยังยากจน

3.      Correlation is not causation ต้องพยายามหาที่มาที่ไปของตัวเลขให้ได้ ไม่ใช่เห็นตัวเลขแล้วรายงานไปตามนั้น เพราะว่านักข่าวทีดีจะต้องถามคำถามที่ดีจากข้อมูลที่มีอยู่ เป็นทักษะที่ต้องพัฒนา
4.      Take the average, stupid.
อย่าเชื่อในเรื่องค่าเฉลี่ย นักข่าวที่ดีจะต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียด มิใช่บอกแค่ในภาพรวมๆ อย่างเช่น ประธานาธิบดีโอบามามีคะแนนนำในรัฐนู้น รัฐนี้
5.      Intuition is a poor judge of probability
สัญชาตญาณไม่ใช่ตัวตัดสินความน่าจะเป็น อย่าเชื่อหรือคิดไปเองว่าแนวโน้มจะเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้
6.      ควรมีทักษะอ่านสูตรคณิตศาสตร์ระดับพื้นฐานได้
7.      Insiderism is the enemy of objectivity
พยายามอย่าปักใจเชื่อข้อมูลจากวงในเพราะจะทำให้ขาดความเป็นกลาง หรือขาดการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ผู้สื่อข่าวต้องมั่นคงไม่ตกเป็นเหยื่อของความพยายามปล่อยข่าว หรือปล่อยตัวเลขต่างๆ แต่ควรต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ต้วเลขด้วยตนเอง
8.      Making predictions improve accountability
ความกล้าที่จะคาดการณ์จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับคุณ อาจจะเริ่มจากมีสมมุติฐานก่อนว่าถ้าผิดจะเป็นอย่างไร

Nate บอกว่าขอให้ลองคิดถึงทักษะที่ใกล้เคียงกันระหว่างความเป็นนักข่าว นักสถิติ หรือนักเศรษฐศาสตร์ ทั้งหมดล้วนต้องอาศัยข้อมูล ฉะนั้นทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล และตัวเลข เป็นเรื่องจำเป็นมาก และเป็นทักษะพื้นฐานที่นักข่าวจะต้องรู้ คุณเนท ระบุว่าไม่จำเป็นต้องรู้ในเชิงเทคนิคเท่ากับนักสถิติ แต่นักข่าวต้องตีความได้ และนำมาประยุกต์เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมได้


สนใจหาอ่านเพิ่มเติมถึงความฮิตของ 538 เชิญอ่าน FiveThirtyEight.com 

ONA 13 เชิญอ่านในเวปอย่างตื่นตาตื่นใจ 

18.10.13

บันทึก EF2013 16 ตุลาคม 2556 เยือน CNN และ GPB

16 ตุลาคม 2556 วันแรกใน Atlanta รัฐ Georgia

 เดินทางจาก NYC มาถึง Atlanta กลางดึกเมื่อคืนแบบสะลึมสะลือ เพลียกับการเคลื่อนย้ายกระเป๋าใบโต และกระเป๋าใบเล็กที่ต้องถือขึ้นเครื่องอีกสองใบ เป็นบทเรียนว่าเดินทางไกลและเดินทางตัวคนเดียวต้องจัดกระเป๋าให้ได้ใบย่อมและเบากว่านี้ อุปกรณ์จะเยอะก็จะต้องคุมเรื่องน้ำหนักเสื้อผ้า (ที่จริงเสื้อผ้าก็นำมาไม่เยอะแล้วนะคะ ใส่ซ้ำกันบ่อยด้วย แต่ที่จริงนำมาน้อยกว่านี้ก็ได้) มาถึงแอตแลนต้าแบบเพลียมาก เช็คอินเข้าโรงแรมเกือบเที่ยงคืนเมื่อคืนนี้ ต้องรีบเข้านอนเพราจะมีนัด 3 นัดในวันที่ 16 ตุลาคม

นัดแรกตอนเช้า 10.00 น. ที่ Carter Center เป็นสำนักงานทำงานของอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ แห่งสหรัฐ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปเมื่อปี 2002  คาร์เตอร์เป็นประธานาธิบดีคนที่ 39 ของสหรัฐ ช่วงปี 1977-1981 ก่อนเป็นประธานาธิบดีเคยรับราชการในกองทัพเรือของสหรัฐ เป็นคนทำฟาร์มถั่ว และเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย และเป็นนักการเมืองพรรคเดโมแครต

อดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2002

ศูนย์คาร์เตอร์ เป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ทำงานเพื่อสันติภาพ และสิทธิมนุษยชน โดยอาศัยสายสัมพันธ์ทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีที่มีอยู่ในระดับโลก สานต่องานด้านสังคม และต้องการผลักดันกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ศูนย์คาร์เตอร์รับเงินบริจาคจากบุคคลทั่วไป และภาคธุรกิจ โดยจะเปิดเผยรายชื่อผู้บริจาคตั้งแต่ $1000 ดอลลาร์ขึ้นไปในรายงานประจำปี โดยจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้บริจาคว่าต้องการเปิดเผยรายชื่อหรือไม่

ฉันได้คุยกับคุณ Deana Congileo ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Carter Center วาระงานที่ทางศูนย์กำลังผลักดัน และเกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้บ้านไทยก็คือพม่า คาร์เตอร์และอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ เพิ่งจะเดินทางไปเยือนพม่าเมื่อวันที่ 6 เมษายน โดยได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐของพม่า ตัวแทนของภาคประชาสังคม เพื่อที่จะหาแนวทางสนับสนุนพม่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ศูนย์คาร์เตอร์ เตรียมจะเปิดสำนักงานในพม่าเพื่อเตรียมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 ด้วย

การดำเนินการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทาง Carter Center ยืนยันว่าทำงานโดยอิสระ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด และจะเข้าไปตามคำเชิญของประเทศนั้นๆเท่านั้น โดย Carter Center ไม่ได้เข้าข้างรัฐบาลสหรัฐ ไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐ แต่ต้องการเก็บข้อมูลอย่างเป็นอิสระ และนำเสนอทางเลือกเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง จุดประสงค์คือการหาข้อมูลอย่างเป็นอิสระ ทำรายงาน และนำเสนอผ่านเวปไซต์ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศต่างๆที่เผชิญความขัดแย้ง

คุณ Deana ระบุว่า Carter Center ไม่ใช่ Think Tank แต่เป็น Action Tank  โดยเน้นการปฏิบัติมากกว่าการคิดและวางนโยบายเท่านั้น

ที่ Carter Center ได้รับการยอมรับส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผลักดันการทำงานของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองสายไหน แต่พยายามวางตัวเป็นกลางและสร้างสะพานเพื่อเชื่อมฝ่ายที่มีความขัดแย้งและร่วมกันหาทางออกให้กับแต่ละประเทศที่ทางศูนย์ส่งตัวแทนเข้าไป Carter Center จะไม่เข้าไปในประเทศใดถ้าไม่ได้รับคำเชิญ

ทุกวันนี้ Carter Center มีสำนักงานในอัฟริการวม 21 ประเทศ  และมีสำนักงานอยู่ที่อัฟริกา อินเดีย เยเมน ปากีสถานด้วย เพื่อทำงานด้านสุขภาพ และดุแลเรื่องน้ำสะอาดให้กับผู้คน

ที่น่ากังวลคือช่วงเปลี่ยนผ่านของศูนย์ Carter Center เพราะว่าทุกวันนี้อดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์อายุ 89 ปีแล้ว จะต้องคิดถึงการเสริมสร้างศูนย์เพื่อให้ผู้นำรุ่นต่อไปรับช่วงต่อ ขณะเดียวกันช่วงนี้เปิดรับนักศึกษามาฝึกงานที่ศูนย์จำนวนมา เพื่อฝึกคนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจปัญหาสังคม สุขภาพ และการเมืองระดับระหว่างประเทศ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์ให้ความสำคัญอย่างมาก

ในฐานะคนไทยต้องติดตามว่าบทบาทของ Carter Center จะมีน้ำหนักขนาดไหนกับการติดตามการเลือกตั้งในพม่าในปี 2015

นัดที่สองคือที่สำนักงานใหญ่ CNN ที่เมืองแอตแลนต้า แห่งรัฐจอร์เจีย

อีกนัยหนึ่ง CNN กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของแอตแลนต้าไปแล้ว สำหรับคนไทยคงไม่ต้องอธิบายกันมาก เพราะคุ้นเคยกับสำนักข่าวนี้เป็นอย่างดี   
CNN Headquarter, Atlanta, Georgia 

ชื่อเต็มๆของ CNN คือ Cable News network เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1980 เจ้าของเศรษฐีนักธุรกิจด้านสื่อ Ted Turner  CNN เปิดตัวด้วยความสดใหม่เป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง ตอนออกอากาศใหม่ถูกปรามาสจากวงการสื่อว่าเป็น ข่าวก๋วยเตี๋ยวไก่ (Chicken News Noodle) เพราะสื่ออื่นๆมองว่า CNN คงไปไม่รอด แต่เวลาที่ล่วงเลยมา 33 ปี พิสูจน์ได้เช่นกันว่า CNN ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการโทรทัศน์ ขนาดคุณ Tom Brokaw ที่ฉันเขียนถึงในบล็อกที่แล้วยังบอกเช่นกันว่า CNN คือหนึ่งในจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของวงการทีวีสหรัฐ

เดินเข้าไปในอาณาจักร CNN แล้วตื่นตะลึงอย่างมาก เหมือนหลุดเข้าไปใน Complex ขนาดใหญ่ คล้ายสนามเด็กเล่น หรือห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ มีทั้ง CNN Studio Tour มีร้านอาหารตรงกลาง มองขึ้นไปเห็นสตูดิโอของ CNN อยู่ต่างชั้น
เดินตรงเข้ามาจากทางเข้า นี่คือคอมเพล็กซ์ของ CNN 

คล้ายกับ UN มีธงนานาประเทศประดับอยู่ 

ทุกวันนี้ CNN ออกอากาศ 4 ช่องหลักคือ CNN US, CNN International, CNN Espanol, และ CNN HLN ที่คนไทยได้ดูกันในเมืองไทย และทั่วโลกคือ CNN International แต่ปรากฏว่า CNN ที่ทำเงินมากที่สุดก็คือ CNN US เพราะว่าขายโฆษณาได้มากที่สุด ขณะที่ CNN International จะติดสัญญาของเคเบิลในแต่ละประเทศซึ่งมักจะขายโฆษณาไม่ได้ แต่ระบบรับสมาชิกจากเคเบิลแทน

ที่สร้างชื่อให้ CNN มากทีสุดก็คือ CNN International โดยเฉพาะการรายงานข่าว Breaking News ข่าวด่วนแบบเกาะติดสถานการณ์ ที่กลายเป็นโลโก้สำคัญของ CNN ว่าเมื่อใดมีสถานการณ์การเมือง และเหตุการณ์สำคัญของโลก คนจะต้องเปลี่ยนไปดูช่อง CNN สำหรับผู้ประกาศของ CNN ขวัญใจของฉันในเรื่องการทำข่าว และการวิเคราะห์ข่าวก็คือคุณ Christiane Amanpour เธอเกิดที่อังกฤษ เชื้อสายอิหร่าน ทำข่าวลุยมาแล้วในเรื่องสงครามอ่าวเปอร์เชีย กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย และเคยสัมภาษณ์มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบียที่เสียชีวิตไปแล้ว Amanpour บางครั้งถูกวิจารณ์อย่างหนักเช่นกันว่าใส่ความคิดเห็นของตนเข้าไปในการรายงานข่าว อีกด้านหนึ่งผู้ร่วมงานที่ทำงานใกล้ชิดกับเธอยืนยันว่า Amanpour ทำงานหนักจริงๆ และเป็นคนตั้งใจทำงานมาก และไม่หยุดพัฒนาตนเอง

ทุกวันนี้ CNN มีพนักงานรวม 4000 คน และมีห้องส่งกระจายอยู่ในหลายประเทศ คือที่ Atlanta, Washington DC, London เป็นต้น ในเดือนสิงหาคม ปี 2013 คาดว่ามีครัวเรือนอเมริกันไม่ต่ำกว่า 98 ล้านครัวเรือน รับชมข่าวผ่าน CNN หรือคิดเป็นสัดส่วน 86% ของคนดูทีวีผ่านเคเบิล

พูดถึงวงการทีวีของสหรัฐ อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้าเครือข่ายสถานีใหญ่ที่คนมะกันดูเป็นหลักคือ ABC NBC CBS และ PBS ขณะที่เคเบิลทีวีที่ต่อสู้กันในตลาดเคเบิลคือ CNN MSNBC และ FoxNews สมรภูมิข่าวทีวีสหรัฐ ช่วงหลังถูกแบ่งออกเป็นค่ายทางการเมืองชัดเจนด้วย FoxNews เป็นฝ่ายที่หนุนพรรค Republicans อย่างชัดเจน ขณะที่ MSNBC เป็นสายเสรีนิยม แนวทางหนุนพรรคเดโมแครต ขณะที่ CNN พยายามที่จะวางจุดยืนอยู่ตรงกลาง แต่การตีความว่าจะอยู่สายไหนขึ้นอยู่กับคนดูเป็นหลัก

ด้วยความที่กลุ่ม Turner เป็นเจ้าของ CNN หลีกหนีกลุ่มธุรกิจไม่ได้ กองบรรณาธิการของ CNN ยอมรับว่าจะต้องทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ “Journalism and business are working hand in hand.” แต่บรรณาธิการอาวุโสของช่อง จะคอยทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องกลั่นกรอง ไม่ยอมให้ภาคธุรกิจเข้ามาทำลายความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ และจะไม่ยอมให้มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจในการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจ เช่น ถ้าสายการบินใดตก แม้จะสปอนเซอร์ของช่องก็จะต้องรายงานอย่างทันท่วงทีเช่นกัน

ในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Journalism CNN เดินหน้ามาแล้วก่อนหน้านี้ด้วยการรวบรวมรายงานจากคนทั่วไป ทั่วโลก กับ CNN iReport ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากกับการรวบรวมภาพ และ vdo จากหลากหลายพื้นที่ ที่นักข่าวของ CNN ไม่มีทางเข้าถึง ความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นและ CNN ปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้วก็คือ การรวบรวมการทำงานระหว่างกองบรรณาธิการข่าว กับ Digital Journalism โดยจะต้องหาทางพัฒนาช่องทางที่หลากหลาย “different platforms” ในการนำเสนอเพื่อให้เข้าถึงคนดูให้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลของ CNN พบว่า คนดูข่าวจากเวปเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ต่ำกว่า ยอดคนดูจาก mobile app  smart phones ซึ่งในทางเดียวกันช่วยเพิ่มพื้นที่โฆษณาให้กับ CNN ผ่าน mobile app ต่างๆด้วย

สำหรับ CNN ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่คนเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น แม้จะอยู่ต่างสถานที่ ต่างเวลา กลับยิ่งเพิ่มโอกาสให้ CNN เติบโต เพราะก้าวไปไกลและก้าวไปก่อนในเรื่องให้ความสำคัญกับข่าวต่างประเทศ และส่งนักข่าวลงภาคสนามในพื้นที่ต่างๆ CNN มองว่า ยิ่งแข่งขันยิ่งดี เพราะการแข่งขันจะยิ่งกดดันให้เราทำให้ดีกว่าเดิม

น่าติดตามสมรภูมิในวงการข่าวเคเบิล เพราะว่า Al Jazeera เพิ่งลงหลักปักฐานเปิดสถานีข่าว Al Jazeera America เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยสำนักงานใหญ่อยู่ที่ NYC ว่าจะเพิ่มความเข้มข้นในการแข่งขันขนาดไหน และจะยิ่งเพิ่ม ความกระหายข่าว จากคนดูอย่างไร

นี่คือหนึ่งในโจทย์สำคัญสำหรับคนทำข่าว รักษาคุณภาพการนำเสนอ แต่ต้องเพิ่มความน่าดูและความอยากรู้ให้กับผู้ดูด้วย สูตรสำเร็จคงไม่มีใครตอบได้ เพราะ CNN ปรับตัวมาเยอะเช่นกัน จุดขายคงไม่มีใครปฏิเสธว่า
“Breaking news” คือโลโก้ของความเป็น CNN!

นัดที่สามสำหรับวันนี้อีกหนึ่งสถานีโทรทัศน์ ซึ่งบรรยากาศแตกต่างจาก CNN อย่างมากคือ GPB (Georgia Public Broadcasting)

GPB ก็คือหนึ่งในสาขาย่อยของ Public Broadcasting Service of America โดย GPB ออกอากาศทั่วรัฐจอร์เจีย
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า PBS America เป็นเสมือนแม่ข่าย ที่ผลิตรายการเองในระดับประเทศ และขณะเดียวกันได้รับเงินสนับสนุนจากสถานี PBS ระดับท้องถิ่นที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศรวม 360 สถานี โดย GPB เป็นหนึ่งในนั้น แต่ละปีสถานีย่อยจะจ่ายเงินให้กับ PBS สถานีแม่ เป็นเงิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจำนวนเงินที่จ่ายของแต่ละสถานีย่อยจะแตกต่างกันออกไป ที่ต้องจ่ายเงินให้เป็นเสมือนการลงขันเพื่อให้ PBS นำเงินไปผลิตรายการใหญ่ๆ เน้นการผลิต หรือนำเงินไปซื้อสารคดีดีๆจากต่างประเทศ ซึ่งสถานีลูกข่ายมีสิทธินำรายการเหล่านั้นมาออกอากาศต่อได้ โดยการจัดตารางของแต่ละ PBS ท้องถิ่นขึ้นอยู่กับผู้บริหารสถานีท้องถิ่นนั้น
Georgia Public Broadcasting 

บริเวณ lobby ของ GPB 

คุณ Teya Ryan คือประธาน  GPB ที่ฉันได้คุยด้วย คุณ Teya เล่าอย่างอารมณ์ดีว่าทุกวันนี้รู้สึกชื่นชอบงานที่ทำอยู่ปัจจุบันที่ GPB มาก บรรยากาศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับงานที่ CNN ที่เคยทำอยู่ในฐานะเป็นรองประธาน ที่ดูแลงานข่าวประจำวัน ความเร็วและแรงกดดันในการทำงานที่ GPB น้อยกว่าที่ CNN อย่างสิ้นเชิง

งานที่ GPB จะเน้นเนื้อหาการคัดเลือกรายการที่สะท้อนปัญหาสังคม และสะท้อนความเป็นไปของคนท้องถิ่นในจอร์เจีย เพื่อตอบสนองความต้องการในระดับรัฐ โดยโจทย์ใหญ่ของ GPB คือระดับท้องถิ่น

ที่น่าสนใจคือรายการที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งคือ Downton Abbey ซีรีย์สจากอังกฤษ คุณ Teya วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะคนที่จอร์เจียเชื่อมต่อกับชีวิตในประวัติศาสตร์ของอังกฤษได้ผ่านละครเรื่องนี้ ทำให้คนดูชื่นชอบเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนในจอร์เจีย มีพื้นเพเดิมเป็นผู้อพยพมาจากสหราชอาณาจักร และเป็นคนเชื้อสายสก๊อต ไอริช และอังกฤษ เป็นต้น

ทุกวันนี้ GPB เข้าถึงครัวเรือน 98 เปอร์เซ็นต์ของรัฐจอร์เจีย แต่ถ้าพูดถึงสัดส่วนคนดูจริงๆ ปรากฏว่าไม่สูงมาก ดูแล้วสถานการณ์คล้ายกับ ThaiPBS คือปริมาณฐานคนดูไม่สูง โดยคนดูส่วนใหญ่มักจะเป็นนักวิชาการ คนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไป และเป็นผู้ใหญ่อายุเกิน 40 ขึ้นไป ตัวเลขเทียบกับคนดูสถานีข่าวหลักๆไม่ได้เลย แต่ต้องประเมินจากการสร้างแรงกระเพื่อม สร้างวาระทางสังคม ผ่านงานของสถานีสาธารณะ

พูดถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Technology คุณ Teya บอกตรงๆว่า ไม่ทราบเหมือนกัน แต่มองในแง่ดีว่า ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป

ด้วยประสบการณ์จาก CNN ไม่ต่ำกว่า 10 ปี คุณ Teya มาทำงานที่ GPB 5 ปีเต็มแล้ว เขย่าโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานมากทีเดียว โดยพยายามเน้นการผลิตของรายการต่างๆมากขึ้น  ส่งผลให้ยอดคนดูเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเป้าประสงค์หลักคือการรักษาพื้นที่ GPB ให้เป็นฐานความรู้ของผู้คนในประเด็นด้านสังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และการเมือง ความท้าทายอยู่ที่จะทำอย่างไรให้เนื้อหาของ GPB เข้าถึงคนดูง่ายขึ้น พูดตรงๆคือไม่หนักเกินไป น่าเบื่อน้อยลง และดูสนุกได้ความรู้ควบคู่ไปด้วย

ฉันรู้สึกว่าโจทย์ของ GPB คล้ายกับโจทย์ของ ThaiPBS อย่างมากทีเดียว!