16 ตุลาคม 2556 วันแรกใน Atlanta
รัฐ Georgia
เดินทางจาก
NYC มาถึง Atlanta กลางดึกเมื่อคืนแบบสะลึมสะลือ
เพลียกับการเคลื่อนย้ายกระเป๋าใบโต และกระเป๋าใบเล็กที่ต้องถือขึ้นเครื่องอีกสองใบ
เป็นบทเรียนว่าเดินทางไกลและเดินทางตัวคนเดียวต้องจัดกระเป๋าให้ได้ใบย่อมและเบากว่านี้
อุปกรณ์จะเยอะก็จะต้องคุมเรื่องน้ำหนักเสื้อผ้า (ที่จริงเสื้อผ้าก็นำมาไม่เยอะแล้วนะคะ
ใส่ซ้ำกันบ่อยด้วย แต่ที่จริงนำมาน้อยกว่านี้ก็ได้) มาถึงแอตแลนต้าแบบเพลียมาก
เช็คอินเข้าโรงแรมเกือบเที่ยงคืนเมื่อคืนนี้ ต้องรีบเข้านอนเพราจะมีนัด 3 นัดในวันที่
16 ตุลาคม
ฉันรู้สึกว่าโจทย์ของ GPB คล้ายกับโจทย์ของ ThaiPBS อย่างมากทีเดียว!
นัดแรกตอนเช้า 10.00 น. ที่
Carter Center เป็นสำนักงานทำงานของอดีตประธานาธิบดีจิมมี่
คาร์เตอร์ แห่งสหรัฐ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปเมื่อปี 2002 คาร์เตอร์เป็นประธานาธิบดีคนที่ 39 ของสหรัฐ
ช่วงปี 1977-1981 ก่อนเป็นประธานาธิบดีเคยรับราชการในกองทัพเรือของสหรัฐ
เป็นคนทำฟาร์มถั่ว และเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย
และเป็นนักการเมืองพรรคเดโมแครต
อดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2002 |
ศูนย์คาร์เตอร์
เป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ทำงานเพื่อสันติภาพ และสิทธิมนุษยชน
โดยอาศัยสายสัมพันธ์ทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีที่มีอยู่ในระดับโลก
สานต่องานด้านสังคม และต้องการผลักดันกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ศูนย์คาร์เตอร์รับเงินบริจาคจากบุคคลทั่วไป
และภาคธุรกิจ โดยจะเปิดเผยรายชื่อผู้บริจาคตั้งแต่ $1000 ดอลลาร์ขึ้นไปในรายงานประจำปี
โดยจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้บริจาคว่าต้องการเปิดเผยรายชื่อหรือไม่
ฉันได้คุยกับคุณ Deana
Congileo ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Carter
Center วาระงานที่ทางศูนย์กำลังผลักดัน
และเกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้บ้านไทยก็คือพม่า
คาร์เตอร์และอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ
เพิ่งจะเดินทางไปเยือนพม่าเมื่อวันที่ 6 เมษายน โดยได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐของพม่า
ตัวแทนของภาคประชาสังคม
เพื่อที่จะหาแนวทางสนับสนุนพม่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ศูนย์คาร์เตอร์
เตรียมจะเปิดสำนักงานในพม่าเพื่อเตรียมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015
ด้วย
การดำเนินการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทาง
Carter Center ยืนยันว่าทำงานโดยอิสระ
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด และจะเข้าไปตามคำเชิญของประเทศนั้นๆเท่านั้น โดย
Carter Center ไม่ได้เข้าข้างรัฐบาลสหรัฐ
ไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐ แต่ต้องการเก็บข้อมูลอย่างเป็นอิสระ
และนำเสนอทางเลือกเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง จุดประสงค์คือการหาข้อมูลอย่างเป็นอิสระ
ทำรายงาน และนำเสนอผ่านเวปไซต์ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศต่างๆที่เผชิญความขัดแย้ง
คุณ Deana ระบุว่า Carter Center ไม่ใช่ Think Tank แต่เป็น Action Tank โดยเน้นการปฏิบัติมากกว่าการคิดและวางนโยบายเท่านั้น
ที่ Carter
Center ได้รับการยอมรับส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผลักดันการทำงานของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองสายไหน
แต่พยายามวางตัวเป็นกลางและสร้างสะพานเพื่อเชื่อมฝ่ายที่มีความขัดแย้งและร่วมกันหาทางออกให้กับแต่ละประเทศที่ทางศูนย์ส่งตัวแทนเข้าไป
Carter Center จะไม่เข้าไปในประเทศใดถ้าไม่ได้รับคำเชิญ
ทุกวันนี้ Carter
Center มีสำนักงานในอัฟริการวม 21 ประเทศ และมีสำนักงานอยู่ที่อัฟริกา อินเดีย เยเมน
ปากีสถานด้วย เพื่อทำงานด้านสุขภาพ และดุแลเรื่องน้ำสะอาดให้กับผู้คน
ที่น่ากังวลคือช่วงเปลี่ยนผ่านของศูนย์
Carter
Center เพราะว่าทุกวันนี้อดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์อายุ 89 ปีแล้ว
จะต้องคิดถึงการเสริมสร้างศูนย์เพื่อให้ผู้นำรุ่นต่อไปรับช่วงต่อ ขณะเดียวกันช่วงนี้เปิดรับนักศึกษามาฝึกงานที่ศูนย์จำนวนมา
เพื่อฝึกคนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจปัญหาสังคม สุขภาพ และการเมืองระดับระหว่างประเทศ
ซึ่งอดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์ให้ความสำคัญอย่างมาก
ในฐานะคนไทยต้องติดตามว่าบทบาทของ
Carter Center จะมีน้ำหนักขนาดไหนกับการติดตามการเลือกตั้งในพม่าในปี
2015
นัดที่สองคือที่สำนักงานใหญ่
CNN ที่เมืองแอตแลนต้า แห่งรัฐจอร์เจีย
อีกนัยหนึ่ง CNN
กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของแอตแลนต้าไปแล้ว สำหรับคนไทยคงไม่ต้องอธิบายกันมาก
เพราะคุ้นเคยกับสำนักข่าวนี้เป็นอย่างดี
CNN Headquarter, Atlanta, Georgia |
ชื่อเต็มๆของ
CNN คือ Cable News network เกิดขึ้นเมื่อ
ค.ศ.1980 เจ้าของเศรษฐีนักธุรกิจด้านสื่อ Ted Turner CNN เปิดตัวด้วยความสดใหม่เป็นสถานีข่าว
24 ชั่วโมง ตอนออกอากาศใหม่ถูกปรามาสจากวงการสื่อว่าเป็น ข่าวก๋วยเตี๋ยวไก่
(Chicken News Noodle) เพราะสื่ออื่นๆมองว่า CNN คงไปไม่รอด แต่เวลาที่ล่วงเลยมา 33 ปี พิสูจน์ได้เช่นกันว่า CNN ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ
และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการโทรทัศน์ ขนาดคุณ Tom Brokaw ที่ฉันเขียนถึงในบล็อกที่แล้วยังบอกเช่นกันว่า CNN คือหนึ่งในจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของวงการทีวีสหรัฐ
เดินเข้าไปในอาณาจักร
CNN แล้วตื่นตะลึงอย่างมาก เหมือนหลุดเข้าไปใน Complex ขนาดใหญ่ คล้ายสนามเด็กเล่น หรือห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ มีทั้ง
CNN Studio Tour มีร้านอาหารตรงกลาง มองขึ้นไปเห็นสตูดิโอของ
CNN อยู่ต่างชั้น
เดินตรงเข้ามาจากทางเข้า นี่คือคอมเพล็กซ์ของ CNN |
คล้ายกับ UN มีธงนานาประเทศประดับอยู่ |
ทุกวันนี้ CNN
ออกอากาศ 4 ช่องหลักคือ CNN US, CNN International, CNN
Espanol, และ CNN HLN ที่คนไทยได้ดูกันในเมืองไทย
และทั่วโลกคือ CNN International แต่ปรากฏว่า CNN ที่ทำเงินมากที่สุดก็คือ CNN US เพราะว่าขายโฆษณาได้มากที่สุด
ขณะที่ CNN International จะติดสัญญาของเคเบิลในแต่ละประเทศซึ่งมักจะขายโฆษณาไม่ได้
แต่ระบบรับสมาชิกจากเคเบิลแทน
ที่สร้างชื่อให้
CNN มากทีสุดก็คือ CNN International
โดยเฉพาะการรายงานข่าว Breaking News ข่าวด่วนแบบเกาะติดสถานการณ์
ที่กลายเป็นโลโก้สำคัญของ CNN ว่าเมื่อใดมีสถานการณ์การเมือง
และเหตุการณ์สำคัญของโลก คนจะต้องเปลี่ยนไปดูช่อง CNN สำหรับผู้ประกาศของ
CNN ขวัญใจของฉันในเรื่องการทำข่าว
และการวิเคราะห์ข่าวก็คือคุณ Christiane Amanpour
เธอเกิดที่อังกฤษ เชื้อสายอิหร่าน ทำข่าวลุยมาแล้วในเรื่องสงครามอ่าวเปอร์เชีย กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย
และเคยสัมภาษณ์มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบียที่เสียชีวิตไปแล้ว
Amanpour บางครั้งถูกวิจารณ์อย่างหนักเช่นกันว่าใส่ความคิดเห็นของตนเข้าไปในการรายงานข่าว
อีกด้านหนึ่งผู้ร่วมงานที่ทำงานใกล้ชิดกับเธอยืนยันว่า Amanpour ทำงานหนักจริงๆ และเป็นคนตั้งใจทำงานมาก และไม่หยุดพัฒนาตนเอง
ทุกวันนี้ CNN
มีพนักงานรวม 4000 คน และมีห้องส่งกระจายอยู่ในหลายประเทศ คือที่ Atlanta,
Washington DC, London เป็นต้น ในเดือนสิงหาคม ปี 2013
คาดว่ามีครัวเรือนอเมริกันไม่ต่ำกว่า 98 ล้านครัวเรือน รับชมข่าวผ่าน CNN หรือคิดเป็นสัดส่วน 86% ของคนดูทีวีผ่านเคเบิล
พูดถึงวงการทีวีของสหรัฐ
อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้าเครือข่ายสถานีใหญ่ที่คนมะกันดูเป็นหลักคือ
ABC NBC CBS และ PBS ขณะที่เคเบิลทีวีที่ต่อสู้กันในตลาดเคเบิลคือ
CNN MSNBC และ FoxNews สมรภูมิข่าวทีวีสหรัฐ
ช่วงหลังถูกแบ่งออกเป็นค่ายทางการเมืองชัดเจนด้วย FoxNews เป็นฝ่ายที่หนุนพรรค
Republicans อย่างชัดเจน ขณะที่ MSNBC เป็นสายเสรีนิยม
แนวทางหนุนพรรคเดโมแครต ขณะที่ CNN พยายามที่จะวางจุดยืนอยู่ตรงกลาง
แต่การตีความว่าจะอยู่สายไหนขึ้นอยู่กับคนดูเป็นหลัก
ด้วยความที่กลุ่ม Turner
เป็นเจ้าของ CNN หลีกหนีกลุ่มธุรกิจไม่ได้ กองบรรณาธิการของ
CNN ยอมรับว่าจะต้องทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ “Journalism
and business are working hand in hand.” แต่บรรณาธิการอาวุโสของช่อง
จะคอยทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องกลั่นกรอง ไม่ยอมให้ภาคธุรกิจเข้ามาทำลายความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ
และจะไม่ยอมให้มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจในการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจ
เช่น ถ้าสายการบินใดตก แม้จะสปอนเซอร์ของช่องก็จะต้องรายงานอย่างทันท่วงทีเช่นกัน
ในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Digital
Journalism CNN เดินหน้ามาแล้วก่อนหน้านี้ด้วยการรวบรวมรายงานจากคนทั่วไป
ทั่วโลก กับ CNN iReport ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากกับการรวบรวมภาพ
และ vdo จากหลากหลายพื้นที่ ที่นักข่าวของ CNN ไม่มีทางเข้าถึง ความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นและ CNN ปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้วก็คือ
การรวบรวมการทำงานระหว่างกองบรรณาธิการข่าว กับ Digital Journalism โดยจะต้องหาทางพัฒนาช่องทางที่หลากหลาย “different platforms” ในการนำเสนอเพื่อให้เข้าถึงคนดูให้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลของ CNN
พบว่า คนดูข่าวจากเวปเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ต่ำกว่า ยอดคนดูจาก
mobile app smart
phones ซึ่งในทางเดียวกันช่วยเพิ่มพื้นที่โฆษณาให้กับ CNN ผ่าน mobile app ต่างๆด้วย
สำหรับ CNN ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่คนเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น แม้จะอยู่ต่างสถานที่
ต่างเวลา กลับยิ่งเพิ่มโอกาสให้ CNN เติบโต เพราะก้าวไปไกลและก้าวไปก่อนในเรื่องให้ความสำคัญกับข่าวต่างประเทศ
และส่งนักข่าวลงภาคสนามในพื้นที่ต่างๆ CNN มองว่า “ยิ่งแข่งขันยิ่งดี เพราะการแข่งขันจะยิ่งกดดันให้เราทำให้ดีกว่าเดิม”
น่าติดตามสมรภูมิในวงการข่าวเคเบิล
เพราะว่า Al Jazeera เพิ่งลงหลักปักฐานเปิดสถานีข่าว
Al Jazeera America เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยสำนักงานใหญ่อยู่ที่ NYC ว่าจะเพิ่มความเข้มข้นในการแข่งขันขนาดไหน
และจะยิ่งเพิ่ม “ความกระหายข่าว”
จากคนดูอย่างไร
นี่คือหนึ่งในโจทย์สำคัญสำหรับคนทำข่าว
รักษาคุณภาพการนำเสนอ แต่ต้องเพิ่มความน่าดูและความอยากรู้ให้กับผู้ดูด้วย
สูตรสำเร็จคงไม่มีใครตอบได้ เพราะ CNN ปรับตัวมาเยอะเช่นกัน
จุดขายคงไม่มีใครปฏิเสธว่า
“Breaking news” คือโลโก้ของความเป็น
CNN!
นัดที่สามสำหรับวันนี้อีกหนึ่งสถานีโทรทัศน์
ซึ่งบรรยากาศแตกต่างจาก CNN อย่างมากคือ
GPB (Georgia Public Broadcasting)
GPB ก็คือหนึ่งในสาขาย่อยของ Public
Broadcasting Service of America โดย GPB ออกอากาศทั่วรัฐจอร์เจีย
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า
PBS America เป็นเสมือนแม่ข่าย ที่ผลิตรายการเองในระดับประเทศ
และขณะเดียวกันได้รับเงินสนับสนุนจากสถานี PBS ระดับท้องถิ่นที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศรวม
360 สถานี โดย GPB เป็นหนึ่งในนั้น
แต่ละปีสถานีย่อยจะจ่ายเงินให้กับ PBS สถานีแม่ เป็นเงิน 3
ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจำนวนเงินที่จ่ายของแต่ละสถานีย่อยจะแตกต่างกันออกไป
ที่ต้องจ่ายเงินให้เป็นเสมือนการลงขันเพื่อให้ PBS นำเงินไปผลิตรายการใหญ่ๆ
เน้นการผลิต หรือนำเงินไปซื้อสารคดีดีๆจากต่างประเทศ ซึ่งสถานีลูกข่ายมีสิทธินำรายการเหล่านั้นมาออกอากาศต่อได้
โดยการจัดตารางของแต่ละ PBS ท้องถิ่นขึ้นอยู่กับผู้บริหารสถานีท้องถิ่นนั้น
Georgia Public Broadcasting |
บริเวณ lobby ของ GPB |
คุณ Teya Ryan คือประธาน GPB ที่ฉันได้คุยด้วย คุณ Teya เล่าอย่างอารมณ์ดีว่าทุกวันนี้รู้สึกชื่นชอบงานที่ทำอยู่ปัจจุบันที่
GPB มาก บรรยากาศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับงานที่ CNN ที่เคยทำอยู่ในฐานะเป็นรองประธาน ที่ดูแลงานข่าวประจำวัน
ความเร็วและแรงกดดันในการทำงานที่ GPB น้อยกว่าที่ CNN
อย่างสิ้นเชิง
งานที่ GPB จะเน้นเนื้อหาการคัดเลือกรายการที่สะท้อนปัญหาสังคม
และสะท้อนความเป็นไปของคนท้องถิ่นในจอร์เจีย เพื่อตอบสนองความต้องการในระดับรัฐ
โดยโจทย์ใหญ่ของ GPB คือระดับท้องถิ่น
ที่น่าสนใจคือรายการที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งคือ
Downton
Abbey ซีรีย์สจากอังกฤษ คุณ Teya
วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะคนที่จอร์เจียเชื่อมต่อกับชีวิตในประวัติศาสตร์ของอังกฤษได้ผ่านละครเรื่องนี้
ทำให้คนดูชื่นชอบเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนในจอร์เจีย มีพื้นเพเดิมเป็นผู้อพยพมาจากสหราชอาณาจักร
และเป็นคนเชื้อสายสก๊อต ไอริช และอังกฤษ เป็นต้น
ทุกวันนี้ GPB เข้าถึงครัวเรือน 98 เปอร์เซ็นต์ของรัฐจอร์เจีย
แต่ถ้าพูดถึงสัดส่วนคนดูจริงๆ ปรากฏว่าไม่สูงมาก ดูแล้วสถานการณ์คล้ายกับ
ThaiPBS คือปริมาณฐานคนดูไม่สูง โดยคนดูส่วนใหญ่มักจะเป็นนักวิชาการ
คนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไป และเป็นผู้ใหญ่อายุเกิน 40 ขึ้นไป ตัวเลขเทียบกับคนดูสถานีข่าวหลักๆไม่ได้เลย
แต่ต้องประเมินจากการสร้างแรงกระเพื่อม สร้างวาระทางสังคม ผ่านงานของสถานีสาธารณะ
พูดถึงการเปลี่ยนผ่านสู่
Digital Technology คุณ Teya บอกตรงๆว่า “ไม่ทราบเหมือนกัน” แต่มองในแง่ดีว่า “ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป”
ด้วยประสบการณ์จาก
CNN ไม่ต่ำกว่า 10 ปี คุณ Teya มาทำงานที่ GPB
5 ปีเต็มแล้ว เขย่าโครงสร้าง
ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานมากทีเดียว
โดยพยายามเน้นการผลิตของรายการต่างๆมากขึ้น
ส่งผลให้ยอดคนดูเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเป้าประสงค์หลักคือการรักษาพื้นที่ GPB
ให้เป็นฐานความรู้ของผู้คนในประเด็นด้านสังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ
และการเมือง ความท้าทายอยู่ที่จะทำอย่างไรให้เนื้อหาของ GPB เข้าถึงคนดูง่ายขึ้น
พูดตรงๆคือไม่หนักเกินไป น่าเบื่อน้อยลง และดูสนุกได้ความรู้ควบคู่ไปด้วย
No comments:
Post a Comment