15.10.13

บันทึก EF2013 13-14 ตุลาคม 2556 พบสื่อ PBS และ NYT

13-14 ตุลาคม 2556 ที่นิวยอร์ก

ระวังจะสับสนระหว่างรัฐนิวยอร์ก (อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ) กับเมืองนิวยอร์ก เมืองที่เป็นมหานครศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง (บนโลกใบนี้อย่างที่ New Yorkers ภาคภูมิใจ) ต้องเรียกว่า New York City หรือ NYC

เมือง NYC มีนายกเทศมนตรีคนดังคือ Michael Bloomberg เมืองนี้มีประชากรอย่างเป็นทางการประมาณ 20 ล้านคน แต่ถ้านับกันจริงๆคงเกิน NYC มีความหลากหลายอย่างมาก เพราะเป็นเมืองที่ต้อนรับผู้อพยพในยุคศตวรรษที่ 19 และ 20 มีอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพคอยยืนต้อนรับ (Statue of Liberty) ตอนแรกนักท่องเที่ยวคงหนาวๆร้อนๆ เกรงว่าจะไม่ได้ไปยลโฉมเธอ เพราะพิษ Government Shutdown แต่ตอนนี้เปิดให้บริการแล้ว แต่ฉันอดไปอยู่ดี เพราะตารางเวลาไม่ลงตัว ได้แค่ชมโฉมเธอผ่านรูปภาพไปก่อน

นัดพบสื่อวันที่ 13 ตุลาคม ก็คือพิธีกรรายการ “PBS NewsHour Weekend” คุณ Hari Sreenivasan ไปเยือน ณ สตูดิโอ ย่าน Lincoln Center รายการวิเคราะห์ข่าว PBS NewsHour Weekend เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อ 7 กันยานที่ผ่านมา มีคุณ Hari ดำเนินรายการเป็นหลัก และจะมีผู้สื่อข่าวส่งรายงานเข้ามาเป็นระยะๆ รายการนี้เป็นอีกรายการที่ทาง PBS หมายมั่นว่าจะช่วยดึงคนดูให้มาดูข่าวมากขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ ต่อยอดจากรายการดัง “PBS NewsHour” ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์

ห้องส่ง PBS NewsHour Weekend 

คุณ Hari Sreenivasan
 ความแตกต่างของรายการสุดสัปดาห์คือคุณ Hari ผู้เป็นผู้สื่อข่าวที่เน้นงานภาคสนาม ถนัดเรื่องการใช้ social media และ digital media เห็นว่ากุญแจสำคัญที่จะเข้าถึงคนดูให้มากขึ้นก็คือการ คุย กับคนดู ก่อนเข้ารายการจริงๆ เทคนิคที่คุณ Hari เล่าให้ฟังคือก่อนที่รายการจะออกอากาศในวันเสาร์-อาทิตย์ จะปล่อยรายงานผ่านเวป ในวันพุธ หรือ พฤหัสบดีก่อน โดยต้องเป็นรายงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน และจะตั้งคำถามกับคนดู หรือถามความเห็นจากคนดู เช่น มีรายงานเกี่ยวกับสุขภาพของแม่ จะนำเสนอรายงานไปก่อน และจากนั้นถ้ามีคนดูถามคำถามเข้ามา จะนำไปตอบจริงๆในวันที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ในวันเสาร์-อาทิตย์ คุณ Hari อธิบายว่าเป็นวิธีการ pre and post distribution ก่อนและหลังการออกอากาศ ปรากฎว่าเริ่มออกอากาศไปได้เพียง 1 เดือน เรตติ้งคนดูมากกว่ารายการที่มาแทนที่ประมาณ 15-25 เปอร์เซ็นต์

ในภาพรวมคุณ Hari ยอมรับว่า PBS ในสหรัฐ ฐานคนดูน้อย ถ้าเทียบกับสถานีหลัก คนดูยังห่างไกลกันมาก ทุกวันนี้รายการข่าวตอนเย็น ABC และ NBC มีคนดูประมาณ 8-9 ล้านคน CBS ประมาณ 6 ล้านคน PBS มี 1 ล้านคน ฐานคนดูเล็กกว่ามาก แต่ที่สอบถามมาคนดู PBS จะเป็นนักวิชาการ ระดับชนชั้นกลางขึ้นไป ผู้ที่ต้องการเนื้อหา ความแม่นยำ และไม่หวือหวา เหมือนกับช่องอื่นๆ

ที่น่ากลัวคงไม่ใช่สถานีข่าวแข่งกันเองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแข่งขันกับเทคโนโลยี อย่างสื่อสังคม สื่อดิจิตัล ที่กำลังมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ กุญแจอีกดอกสำหรับคุณ Hari คือ ต้องมีเนื้อหาให้คนดู ในเรื่องที่กำลังร้อนแรง คนทำข่าวทีวีต้องปรับตัวด้วยการเล่าเรื่องมากขึ้น และเป็นการพูดคุยให้คนดูเข้าถึงเนื้อหามากขึ้น

ฝั่งตรงข้ามของ PBS NewsHour Weekend คือห้องส่งของสำนักข่าว ABC เสียดายที่ไม่มีนัดเข้าไปเยี่ยมชมที่นี่ ได้แต่ดูผ่านหน้าจอทีวี และชมโฉมคุณ Diane Sawyer หนึ่งในผู้ประกาศหญิงที่ฉันชื่นชอบอย่างมาก จากป้ายรถเมล์ไปก่อน
Diane Sawyer ABC news 

อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ABC เป็นหนึ่งในสถานีหลักของสหรัฐ และมีทีมผู้ประกาศที่ขึ้นชื่อระดับตำนานคือ Peter Jennings จนมาถึงรุ่นปัจจุบันคือคุณ Diane Sawyer

จบจากนัดที่ Lincoln Center เดินไปต่อที่นัดที่สองประมาณ 30 นาที ไปตามถนน Broadway เพื่อไปพบกับคุณ Nina อาสาสมัคร พาทัวร์ห้องสมุดสาธารณะของนิวยอร์ค (New York Public Library) ซึ่งเป็น US Fellow คุณนิน่า เป็นเสมือนคลังความรู้เรื่องนิวยอร์ค และห้องสมุดแห่งนี้เป็นอย่างมาก

ห้องสมุดนี้ใหญ่มาก ขนาดสนามฟุตบอล แถมลึกลงไปใต้ดินเป็นที่เก็บหนังสือขนาดยักษ์ และเวลาเข้าไปในห้องสมุดจะไม่ได้เห็นหนังสือเรียงราย เพราะว่าอยู่ใต้ดิน ผู้ใช้จะต้องค้นหาจากแคตาลอก และบอกเจ้าหน้าที่ จากนั้นหนังสือที่ต้องการจะส่งขึ้นมาโดยลิฟท์ เพื่อให้ผู้ใช้นำไปอ่าน แต่ละวันมีคนมาใช้บริการถึง 4000-5000 คน หนังสือจำนวนหนึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงเท่านั้น ยืมออกไปไม่ได้ แต่บางส่วนยืมได้
New York Public Library 


ช่วงที่ไปกำลังมีนิทรรศการหนังสือสำหรับเด็ก น่าตื่นตาตื่นใจอย่างมาก นึกย้อนไปถึงประสบการณ์ในวัยเด็กก็คงจะพอเห็นภาพว่าแต่ละคนเติบโตมากับหนังสือรุ่นไหน และได้รับการวางแนวทางทางความคิดอย่างไร

วันที่ 14 ตุลาคม นัดที่หนังสือพิมพ์ดังระดับโลก New York Times
NYT ฉบับวันที่ 14 ตุลาคมนี้พอดี รายงานว่า ทั้งเครือของ NYT กำลังปรับตัวครั้งใหญ่ ให้ผอมลง บางลง และพุ่งความสำคัญไปที่หนังสือพิมพ์เป็นหลัก จากก่อนหน้าที่ที่เข้าไปลงทุนในกิจการหลายอย่าง แต่วันนี้ได้ขายกิจการหลายประเภท เพื่อให้ความสำคัญกับ NYT อย่างเต็มที่

Lobby NYT
ประกาศปรับกิจการครั้งใหญ่ครั้งนี้ เพื่อลดขนาดลงอย่างเห็นได้ชัด จากนี้ไปพนักงานของ NYT จะเหลือ 3500 คน จากสองปีก่อนที่มีเกือบ 7000 คน หรือเทียบเท่ากับ 1 ใน 4 ของจำนวนพนักงานที่มีในปี 2002 รายได้โดยรวมของ NYT จะลดลงเหลือ 400 ล้านดอลลาร์ จากแต่เดิมที่สูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2012

สถานการณ์สำคัญของ NYT คือรายได้จากการโฆษณาลดลง ปีที่แล้วรายได้จากโฆษณาคือ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2002 สูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์

สิ่งที่ NYT ประกาศปรับครั้งนี้ คือเน้นสินค้าใหม่ที่จะหาสมาชิกเพิ่ม ดึงดูดคนอ่านในระดับตลาดนานาชาติมากขึ้น และจะเพิ่มการเสนอข่าวผ่านวิดีโอ ผ่านเวปไซต์ รวมทั้งเตรียมจัดงานสัมมนานอกสถานที่เพื่อให้พบกับผู้สื่อข่าว และคอลัมนิสต์ ของ NYT โดยตรง

ยี่ห้อหรือ แบรนด์ สำคัญของ NYT คือ ผู้สื่อข่าว ที่เกิดขึ้นได้จากชื่อเสียงในการทำงาน การนำเสนอข่าว สร้างตนผ่าน NYT จนเป็นที่ยอมรับ

ประโยคคมของ Mark Thompson  ผู้บริหารสูงสุดของ NYI ที่ฉันเห็นว่าจริงมาก และเป็นการให้เกียรติคนข่าวอย่างมากคือ The future of journalism needs to be figured out in the newsroom of the New York Times, not in the ad department” ความหมายคือ อนาคตของความเป็นข่าว จะต้องหาทางออกกันที่ห้องข่าวของ NYT ไม่ใช่จากแผนกโฆษณา เจาะลึกลงถึงแก่นเพื่อให้เข้าใจว่า สินทรัพย์ของ NYT คือ คนข่าวซึ่งก็ต้องยอมรับว่า NYT เป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพติดอันดับโลก

พายุของความเปลี่ยนแปลงในโลกเทคโนโลยี กำลังโหมกระหน่ำสื่อทุกแขนง ถ้าไม่ปรับตัวก็อยู่ไม่รอด

No comments: