20.10.13

บันทึก EF2013 18-19 ตุลาคม 2556 ONA13 "Shine Theory"

บันทึก 18-19 ตุลาคม 2556 
ONA13 Atlanta, Georgia 

ตารางงาน ONA13 Atlanta Georgia

ภาพมุมสูงเมืองแอตแลนต้า 


งาน ONA13 Online News Association Conference ครั้งที่ 13 ที่จัดที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย จบลงไปแล้วค่ะ งานจัดกัน 3 วันเต็มๆ เพื่อให้สื่อมวลชนที่สนใจความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ การเปลี่ยนผ่าน และการเรียนรู้แนวโน้มใหม่ รวมถึงปัญหาหลักๆในวงการ ได้มาร่วมระดมสมอง เข้าร่วม workshop ในห้องต่างๆ  และมีสื่อรุ่นนักศึกษาจากระดับมหาวิทยาลัยที่ได้มาร่วมงาน เพื่อทำ ห้องข่าวจำลอง “newsroom” ด้วยค่ะ

บรรดาผู้สื่อข่าวที่มาร่วมงานในครั้งนี้จะว่าไปก็เหมือนกับมาเป็นนักศึกษากันอีกครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ และได้รับฟังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากสื่อในวงการ ที่อายุอาจจะไม่ได้มากกว่า แต่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆมากกว่า ดูตามแนวโน้มแล้วอย่างที่เกริ่นไปแล้วก่อนหน้า คือนักข่าวต้องตื่นตัวกันมากเรื่องดิจิตัลเทคโนโลยี นักข่าวหนังสือพิมพ์ในรูปแบบเดิมๆเขียนข่าวและส่งข่าวอย่างเดียวไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ช่างภาพถ่ายภาพอย่างเดียวก็ไม่ใช่อีกต่อไป นักข่าวทีวีส่งแต่ข่าวผ่านหน้าจอทีวีก็ไม่ใช่อีกต่อไป

ปีนี้จังหวะดีมากๆ ที่มาดูงานของ Eisenhower Fellowships แล้วมีงาน ONA13 พอดี สื่อจากไทยอีกท่านที่มาอยู่ในงานนี้ด้วยกันคือคุณสฤณี อาชวานันทกุล (@fringer) blogger คนดังจากเมืองไทย ที่แฟนๆคุ้นกันดีอยู่แล้วถึงความเป็นนักคิด นักเขียน นักแปล ที่มีผลงานออกมามากมายค่ะ

การจัดงาน ONA13 ในปีนี้ที่พอจะจับแนวโน้มได้ก็คือ การสร้างความตื่นตัวในเรื่องความเป็นนักข่าวยุคดิจิตัล การสื่อสารกับคนดู การทำงานร่วมกันเชิงพันธมิตรระหว่างต่างสื่อต่างค่าย ต่างรูปแบบ mult-platforms ในการนำเสนองาน เป็นต้นค่ะ  ที่จริงสื่อไทยปรับตัวเข้ากับแนวโน้มนี้มาระยะหนึ่งแล้ว จะว่าไปความตื่นตัวเรื่องการใช้ social media ไม่ได้น้อยไปกว่าสื่อต่างชาติเลย แต่ที่ยังขาด และเป็นสถานการณ์เดียวกับที่ผู้สื่อข่าวต่างชาติกำลังเผชิญก็คือการใช้ social media อย่างเป็นยุทธศาสตร์ ทำให้เป็นระบบ เช่น ก่อนและหลังรายการ การพูดคุยโดยให้ผู้ประกาศ หรือผู้สื่อข่าวของช่อง สร้างอัตลักษณ์ตนเอง สร้าง ยี่ห้อของตนเองให้ชัดเจนจากการใช้สื่อดิจิตัลต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเนื้อหาที่แทรกอยู่ใน workshop ของหลายๆห้อง และที่โดดเด่นอีกเรื่องก็คือการปรับตัวของผู้สื่อข่าว เป็นผู้ประกอบการข่าว หรือ entrepreneurs ซึ่งเป็นอีกแนวโน้มที่กำลังมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงกับมีคำถามต่อผู้เข้าร่วมว่าคิดว่าการทำข่าวในสถานีหลักๆเพียงอย่างเดียว ถือว่าเป็น ไดโนเสาร์หรือไม่  เพราะว่าถ้าสื่อไม่ปรับตัวยังยึดแนวทางแบบเดิมๆ ก็คงจะต้องล้มหายตายจากไปจากวงการ เสมือนเป็นไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์

นอกจากการแนะนำกลยุทธ์เพื่อปรับตัว วงพูดคุยช่วงเย็นวันที่ 18 ตุลาคม สร้างความครื้นเครงเป็นอย่างมากก็คือสองสาวเพื่อนรักกันในวงการ คุณ Aminatou Sow และคุณ Ann Friedman ที่มาคุยแบบสบายๆ แนะนำผู้สื่อข่าวว่าจะทำงานร่วมกันตามทฤษฎีส่องแสง “Shine Theory” ได้อย่างไร


คุณ Aminatou Sow และคุณ Ann Friedman 

อธิบายง่ายๆ “Shine Theory” ก็คือการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกันฉันท์มิตรส่งเสริมกันในที่ทำงาน และพยายามผลักดัน อุ้มชูกันแบบจริงๆจังๆในเรื่องงาน ไม่ใช่ว่าคุยกันเรื่องสัพเพเหระแล้วก็จากกันไป หรือว่าคอยแต่ว่าคนอื่นลับหลัง ทฤษฎีนี้พยายามหนุนให้ทำกันเป็นนิสัยเลยว่าเมื่อมาเจอกันต้องช่วยกันเรื่องงานจริงๆ โดยพยายามใช้สื่ออินเตอร์เนตให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

หลักใหญ่ของ shine theory คือ
1.      Making Journalism to the Internet
2.      Making you see it
3.      Make people see you

ทั้งสองสาวอธิบายว่า เริ่มจากการใช้อินเตอร์เนตก่อน ผู้สื่อข่าวควรสร้างความเป็นเจ้าของผ่านการนำเสนอด้วยอินเตอร์เนต จากนั้นพยายามสร้างความร่วมมือกับผู้สื่อข่าวคนอื่นๆในห้องข่าว หาทางส่งเสริมงานของกันและกัน เพราะว่าถ้าเพื่อนผู้สื่อข่าวคนอื่นในองค์กรช่วยโปรโมทงานของคุณ ก็จะต่อยอดต่อไปเรื่อยๆ จากนั้นต้องให้มั่นใจว่าคนอื่นๆเห็นงานของคุณ ไม่ว่าจะเป็น blog ทวิต หรือช่องทางอื่นๆ โดยทั้งทีมที่สนับสนุนกันจะต้องมีเป้าหมายร่วมกันว่าต้องการสร้างผลจากงานที่ร่วมกันโปรโมท เพือนำไปสู่จุดประสงค์ที่สามก็คือให้คนทั่วไปรู้ว่ามีงานของคุณอยู่ สรุปสั้นๆก็คือทำงานร่วมกันเป็นทีมในที่ทำงาน หรือหาเครือข่ายจากข้างนอก ส่งเสริมกันและกัน คนที่เป็นรุ่นพี่ไม่ทำตัวเย่อหยิ่ง แต่หาทางพูดคุยและเป็นที่ปรึกษากับรุ่นน้อง เพื่อช่วย ส่องแสงให้กันและกัน

คนฟังกันมากทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 


ฟังดูดี และสวยงามมากทีเดียว แต่คนที่ร่วมรับฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีคำถามว่าจะทำได้จริงหรือในเชิงปฏิบัติ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในที่ทำงานก็จะต้องอิจฉากัน แข่งขันกันเป็นเรื่องธรรมดา คุณ Ann เธอตอบว่าใช่ ในทางปฏิบัติคงยาก แต่อย่างน้อยต้องหาให้ได้สักกลุ่มที่จะทำงานร่วมกันและให้คำมั่นกันว่าฉันจะไม่แข่งกับสมาชิกในกลุ่มนี้ แต่จะช่วยและร่วมมือกันอย่างจริงใ  “invest in your peers, take time to give someone’s advice (when asked)”

ผู้เข้าร่วมผู้ชายอดถามไม่ได้ว่า “shine theory” ดูเหมือนจะตัดผู้ชายออกไปจากระบบ ผู้บรรยายสองสาวบอกว่าไม่จริง แต่ว่าเป็นความพยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกันจริงๆ ถ้าลักษณะนิสัย บุคลิกต้องตรงกัน ไม่ว่าชายหรือหญิงจะทำงานร่วมกันได้

ฟังดูแล้วได้ข้อคิดดีๆ น่ารักๆ จากสื่อผู้มากประสบการณ์ในวงการ และได้รอยยิ้มออกมาจากห้องประชุม ที่ทำให้รู้สึกว่า คนทำงานสื่อน่าจะได้มีจังหวะเวลาสบายๆแบบนี้บ้าง ไม่ได้คิดถึงแต่เรื่องเนื้อหา เรื่องการแข่งขันแต่อย่างเดียว แต่ต้องมองไปรอบๆตัวว่าจะร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกับใครได้อย่างจริงใจบ้าง เพราะไม่มีใครที่เก่งไปทุกเรื่อง//


ขอบฟ้ายามเย็นของเมืองแอตแลนต้า วันที่ 19 ตุลาคม 2556 

No comments: