9.10.13

EF2013 8 ตุลาคม 2556 พบกับองค์กรเสรีภาพสื่อ และโปรดิวเซอร์ "60 Minutes"

8 ตุลาคม 2556

ร่วมประชุมกับองค์กรที่ติดตามเสรีภาพสื่อ และพูดคุยกับสื่อรุ่นใหญ่ผู้มากประสบการณ์ในวันนี้ สองนัดในวันที่สอง
นัดแรกตอนเช้า พบกับตัวแทนจาก Freedom House งานนี้ขอติดตาม คุณสฤณี อาชวานันทกุล ที่ติดต่อกับ Freedom House ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะอยากมาคุยเรื่องที่ฉันถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท โดย กสทช.
พูดถึง Freedom House หลายท่านอาจจะเคยผ่านตาไปบ้างกับรายงานที่ออกมาติดต่อกันต่อเนื่องทุกปี คือ Freedom of the Internet (ฉบับล่าสุด 2013 ออกแล้ว) และ Freedom in the World เป็นการรวบรวมข้อมูลการทำงานของสื่อมวลชนในแต่ละประเทศ 



เจ้าหน้าที่และนักวิจัยทั้งสามท่านที่มาร่วมพูดคุยในวันนี้ ดูแลด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาพรวมของ Internet Freedom คือคุณ Isabel, Craig  และคุณ Ilana ทั้งสามท่านสนใจอย่างมากเรื่องสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับการทำงานของสื่อมวลชน และการถูกปิดกั้นในการนำเสนอ และเรื่องที่สื่อถูกคุกคาม เช่นกรณีการหายตัวไปของ คุณสมบัด สมพอน หรือ การปฏิรูปสื่อในพม่า และกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย  และการปิดกั้นสื่อในเวียดนาม

นอกจากการทำงานวิจัย และประเมินสถานภาพสื่อแล้ว ภารกิจหลักของ Freedom House ก็คือการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้สื่อข่าว ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก หรือ เงินกองทุนฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือในการจัดหาทนายความ และการต่อสู้ทางกฎหมาย ในกรณีที่ผู้สื่อข่าวถูกคุกคาม หรือถูกฟ้องร้อง

ผู้สื่อข่าวสหรัฐ ทำงานภายใต้ความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมี  1st amendment ที่ระบุถึงการปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชน
AMENDMENT I
Congress shall make no law respecting an establishment of religion, or prohibiting the free exercise thereof; or abridging the freedom of speech, or of the press; or the right of the people peaceably to assemble, and to petition the government for a redress of grievances.
Freedom House เป็นองค์กรที่ดูแลเสรีภาพสื่อ โดยงบประมาณส่วนใหญ่ได้มาจากการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ USAID  และรัฐบาลสหรัฐ ฉะนั้นปัญหา Government Shutdown เริ่มส่งผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรนี้ในระดับหนึ่งแล้ว ที่โครงการในบางประเทศอาจจะต้องผ่านการทบทวน โดยขึ้นอยู่กับนโยบายการต่างประเทศเป็นหลัก




อีกหนึ่งนัดในตอนบ่าย เป็นช่วงเวลาที่ได้รับฟัง คุณ “Charles Lewis” อดีตโปรดิวเซอร์มือทองของรายการข่าวสืบสวนชื่อดัง “60 Minutes” นั่งพูดคุยอย่างเป็นกันเอง

คุณชาร์ลส เล่าให้ฟังว่าเริ่มต้นชีวิตนักข่าวตั้งแต่อายุ 17 ปี จากการฝึกงานกับสถานีโทรทัศน์เครือข่ายดังๆก่อน ตอนเด็กไม่คิดว่าจะเป็นนักข่าว แต่คงมีอะไรบางอย่างในตัวเองที่มีสายเลือด ขบถ และเป็นหนึ่งในนักศึกษาฝึกงานที่ได้ร่วมงานในการทำข่าวสืบสวนชื่อดัง “Watergate” ที่อื้อฉาวมากจนอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออก คุณชาร์ลส บอกว่าตอนแรกส่งใบสมัครแล้วไม่ผ่านอยู่หลายรอบ แต่ไม่ยอมแพ้สมัครแล้ว สมัครอีก จนได้ทำงานในที่สุด และจากนั้นจนถึงวันนี้ยังไม่ยอมหยุด

งานที่สร้างชื่อเป็นที่จดจำก็คือ โปรดิวเซอร์ รายการ “60 Minutes” ที่ติดอันดับรายการข่าวสืบสวนขึ้นแท่น เป็นต้นแบบของการทำข่าวแนวนี้ที่นักข่าวทั่วโลกเรียนรู้ และศึกษาเป็นแบบอย่าง  เป็นรายการที่ออกอากาศทาง CBS จากนั้นผันตัวมาร่วมก่อตั้ง สำนักข่าวเชิงสืบสวน “Center for Public Integrity” ร่วมกับคุณ Bill Buzenberg  (ที่ดิฉันได้พบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม) คุณ Charles บอกว่าช่วงที่อยู่ CPI ทำงานหนัก ทุ่มเทมาก ติดต่อกัน 15 ปี สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 100 ชั่วโมง แถมยังออกหนังสือ 14 เล่ม ภายในเวลา 15 ปีที่ยุ่งๆนั้นด้วย  และได้รับรางวัลมากถึง 35 รางวัลด้านงานข่าว

สำนักงานที่เรา (คุณสฤณี โอมาร์ EF Fellow จากฟิลิปปินส์ และฉัน) ไปนั่งคุยคือ “Investigative Reporting Workshop” ที่คุณ Charles ก่อตั้งขึ้น หวังจะพัฒนาวงการ และสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อทำงานข่าวด้านนี้ต่อไป แต่จะร่วมงานหรือเข้ามาเรียนกับคุณ Charles ไม่ง่ายนะคะ แค่จะฝ่าด่านเข้ามาเป็นนักเรียนก็ยากแล้ว นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นระดับปริญญาโท และขอย้ำว่า ไม่มีนักศึกษาคนไหนเรียนสายนิเทศศาสตร์เลย คุณ Charles บอกว่าไม่เชื่อว่านักข่าวที่ดีต้องเรียนจบด้านสื่อสารมวลชน แต่ควรจะมีความรู้เฉพาะทางในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ข้อคิดจากคุณ Charles สำหรับผู้ต้องการเป็นนักข่าวสืบสวนคือ จงให้ความสำคัญกับความแข็งกร้าว (aggressive) เพื่อที่จะเดินหน้าทำงานข่าวเชิงลึก


ย่อยมาฝากกันประมาณนี้สำหรับวันนี้ค่ะ

No comments: