10.10.13

บันทึก EF2013 จาก DC เยือน ASPEN CSIS และ พบนักการเมืองหญิงมะกัน

9 ตุลาคม 2556 
Washington DC

สามนัดสำหรับวันนี้ค่ะ

นัดแรกที่ Aspen Institute http://www.aspeninstitute.org/  องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ 1950 เพื่อส่งเสริมผู้นำ และการพูดคุยเพื่อสรรค์สร้างการศึกษา และการพัฒนาวางโนยบายต่างๆเพื่อสังคม เมื่อเอ่ยชื่อ Aspen หลายท่านคงนึกถึงคุณ Walter Isaacson  นักข่าว นักเขียนชื่อดังที่เขียนหนังสือประวัติ “Steve Jobs” ที่ผู้คนติดใจกันทั้งบ้านทั้งเมือง
พบคุณ Amy Garmer จาก Aspen Institute 
วันนี้พบกับคุณ Amy Korzikc Garmer ผู้อำนวยการโครงการสื่อ การสื่อสารและสังคม  งานที่คุณเอมี่กำลังบุกเบิกอย่างหนักก็คือการพัฒนาห้องสมุดสาธารณะในสหรัฐ และกระตุ้นให้บรรณารักษณ์ทำงานให้ทันสมัยมากขึ้นในโลกยุคสื่อดิจิตอล ที่จะมองห้องสมุดหลุดกรอบจากโลกภายนอกต่อไปไม่ได้แล้ว และเห็นว่าในยุคที่การสื่อสารผ่านสื่อสังคมกำลังเติบโต ผู้สูงอายุจำนวนมากในสหรัฐ ไม่ต่ำกว่า 68% ของผู้สูงอายุโดยรวมขาดทักษะที่จะใช้อินเตอร์เนต และสื่อสังคม ซึ่งจะยิ่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โครงการของสถาบัน Aspen กำลังมุ่งพัฒนาห้องสมุดสาธารณะ เพื่อให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงมากขึ้น และโครงการแบบนี้จะเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร และแหล่งค้นคว้าให้ผู้สื่อข่าวในระดับท้องถิ่นด้วย โอกาสที่จะสร้างงาน สร้างความสัมพันธ์ในชุมชนจะเกิดขึ้นได้ผ่านห้องสมุดสาธารณะ   

แนวคิดน่าสนใจมาก เพราะว่าบรรณารักษ์ยุคปัจจุบันจะไม่สามารถทำงานกับหนังสือที่จับต้องได้ อยู่กับหิ้งหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเร่งปรับตัว และพัฒนาทักษะในการคัดกรองข้อมูล จัดเรียงหมวดหมู่ และสื่อสารให้ผู้ใช้ห้องสมุดเข้าใจความหลากหลาย และ คว้าข้อมูลที่มากมายมาให้ตรงความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนมากที่สุด
โครงการนี้เตรียมที่จะเชื่อมผู้สื่อข่าวในระดับพื้นที่ ระดับท้องถิ่นให้ได้มีพื้นที่ทำงานมากขึ้นเช่นกัน ทุกวันนี้สถานีโทรทัศน์เครือข่ายระดับท้องถิ่นในสหรัฐล้มหายตายจากไปเยอะ ผู้สื่อข่าวระดับท้องถิ่นต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อสร้างงานให้กับตนเอง และอาจจะช่วยเสริมหน้าที่สร้างความสัมพันธ์กับคนในสังคมได้มากขึ้น

โดยรวมคือทั้งบรรณารักษ์ ทั้งผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องทำงานกับข่าวสารข้อมูลต้องเร่งปรับตัว หันมาเอาใจใส่กับชุมชนมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องเร่งสร้างเครือข่าย สร้างพันธมิตรกับคนต่างอาชีพ ต่างองค์กรมากขึ้นเช่นกัน แนวทางการทำงานเปลี่ยนไป จะอยู่เฉพาะในอาชีพตน และมองเฉพาะงานของตนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คำถามใหญ่คือนักข่าวจะ คงความเป็นนักข่าว ในโลกยุคสังคมเครือข่ายอย่างไรอย่างที่เราทราบกันดีทุกวันนี้ผู้คนรายงานข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง facebook และ twitter กันตลอดเวลา น่าคิดว่านักข่าวจะรักษาความเป็น มืออาชีพ อย่างไร

คำถามนี้ที่จริงคุยกันมานานมากในช่วง 2-3 ปีหลัง มหาวิทยาลัยต่างที่สอนสาขานิเทศศาสตร์ การสื่อสารมวลชน และคนทำสื่อคุยกันไม่น้อยเรื่องมาตรฐานวิชาชีพในโลกยุคที่ทุกคนเป็นนักข่าวได้  คำตอบคงไม่ได้ตายตัว แต่ที่พอจะมองเห็นคือการสร้าง พันธมิตรในระดับหน่วยงาน ระดับองค์กรมากขึ้น โดยคุณเอมี่ ระบุว่าในช่วง 8-10 ปีที่ผ่านมาได้เห็นการปรับตัวในทิศทางนี้ชัดเจนขึ้นมาก สื่อใหญ่ที่มองว่าอยู่ได้ตัวคนเดียวจะไม่ยอมทำงานร่วมกับใคร เริ่มรู้ตัวแล้วว่าเป็นอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ตอนหลังจะได้เห็นความร่วมมือในลักษณะพันธมิตรระหว่างต่างสื่อ ต่างค่ายมากขึ้น และรูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนไปเช่นกัน และที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะดึงพลเมือง หรือสร้าง “civic engagement” ในการรับรู้ข่าวสาร เพื่อสรรค์สร้างการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน นักข่าว บรรณารักษ์ ต้องปรับตัว คนรับสื่อที่กลายเป็นคนส่งสื่อก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน เป้าหมายคือพัฒนาทักษะ กลั่นกรองความคิด เพื่อให้คนมีความรู้มากขึ้น รู้ทัน ปรับตัว และอยู่รอดในโลกปัจจุบันได้เท่าทันขึ้น

นัดที่สองห่างกันประมาณเดิน 8 นาที มาที่สำนักงาน Center for Strategic and International Studies (CSIS) พบกับคุณ Ernie Bower นักคิดที่ศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาถึง 30 ปี
CSIS http://csis.org/ เป็นแหล่งนักคิด และติดตามนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐ เป็นเวปที่ฉันเข้าไปติดตามอ่านบทความอยู่บ่อยๆ และมักจะมีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง

คุณ Ernie Bower, Center for Strategic and International Studies (CSIS)
คุณเออร์นี่ ระบุว่าน่าเสียดายอย่างมากที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ต้องยกเลิกการไปเยือนเอเชีย เพราะเจอปัญหา Governme  Shutdown ในบ้าน และเป็นที่น่ากังวลว่าบทบาทของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะแผ่วลงมากจากนี้ไป และอาจจะยิ่งเปิดทางให้จีน เร่งขับเคลื่อนอย่างเร็วมากขึ้น

แต่คุณเออร์นี่ระบุว่าสหรัฐไม่มีทางที่จะเหินห่างจากเอเชีย-แปซิฟิค เพราะว่าโอบามาคือ “Pacific President” ตัวจริง ที่เชื่อจริงในเรื่องความสำคัญของภูมิภาค ที่น่าเสียดายคือการเดินทางไปเยือนเอเชียหลายครั้งต้องชะงักไปเพราะปัญหาภายในบ้าน โดยรวมเป็นครั้งที่สามแล้ว ที่ต้องยกเลิกไปเยือนอินโดนีเซียกะทันหัน คำถามที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไปในหมู่ผู้นำเอเชียแปซิฟิค ซึ่งรวมถึงอาเซียนด้วยคือ สหรัฐจะคงบทบาทนำในเอเชียแปซิฟิคได้จริงอย่างที่ประกาศไว้หรือว่าต้องการเป็น “Pivot of Asia”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนและสหรัฐ ต่างดูเชิงกันอย่างมากในภูมิภาคนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญคือเมื่อปี 2009 เมื่อจีนลาก 9 จุด ในน่านน้ำบริเวณทะเลจีนใต้เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำ และกำลังเป็นข้อพิพาทกันอยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้สร้างความกังวลให้สหรัฐไม่น้อย

ขณะที่สหรัฐเจอศึกหนักในบ้าน เรื่องการทหารในอัฟกานิสถาน และอิรัก ก็หมดเปลืองไปเยอะ ทำให้สหรัฐเหมือนติดหล่มในบ้านตัวเอง ยิ่งกำลังเจอปัญหา Government Shutdown ยิ่งชัดมากขึ้นว่าปัญหาการเมืองภายในไม่ได้ยกระดับสถานะของสหรัฐในระดับระหว่างประเทศ

คุณเออร์นี่ยืนยันว่าสหรัฐไม่ได้กลัวว่า Asean จะไปรักกับจีนมากเกินไป แต่เป็นความรู้สึกเป็นห่วงมากกว่า เพราะว่าการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน

สถานการณ์ในไทยยังน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และน่าเป็นห่วงมากเมื่อเทียบกับอาเซียนโดยรวม การเมืองไทยกำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต่างชาติติดตามอย่างใกล้ชิด และยังไม่เห็นทางออกในอนาคตอันใกล้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศจะมีทางออกอย่างไร คุณเออร์นี่ยอมรับว่าความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐ แม้จะครบ 180 ปี แต่ดูเหมือนจืดๆ ชืดๆ ไม่มีพลัง  ไม่มีชีวิตชีวาโดยสิ้นเชิง
ปัญหาใหญ่อยู่ที่การเมืองในประเทศของสหรัฐที่เจ้าของบ้านคงกังวลไม่น้อยเช่นกัน และจะว่าไปสหรัฐ และไทยอาจจะคล้ายคลึงกันมากในจุดนี้ ที่การเมืองในบ้านกำลังฉุดรั้งประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่เห็นว่าจะข้ามพ้นอย่างไร

คุณ Chellie Pingree สมาชิกสภาคองเกรสจาก "Maine" 
นัดที่สามกับ ส.ส.หญิงสหรัฐ จาก “Maine” คุณ Chellie Pingree
มีเวลาคุยกับ EF Fellows ไม่นานนัก แต่พอจะได้มีเวลาอธิบายว่า ส.ส.สหรัฐ แต่ลคะจะได้รับงบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสภาคองเกรส เพื่อนำไปทำกิจกรรมการเมือง จ้างบุคลากรทำแคมเปญทางการเมือง เป็นงบประมาณที่อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่ ส.ส. และจะต้องคุมงบประมาณให้อยู่ในวงนี้ ส.ส.แต่ละคนจ้างพนักงานกี่คนก็ได้ แต่สูงสุดได้ 18 คน และจะมีสำนักงานกี่แห่งก็ได้ตามกำลังที่จะจัดการได้ ขณะที่เงินทุนจากพรรคจะได้ในช่วงการเลือกตั้ง

ปัญหาเรื่อง Government Shutdown บอกว่าน่าปวดหัวมาก และยอมรับตรงๆว่าเป็นเกมการเมืองที่ไม่มีฝ่ายไหนยอมอ่อนข้อให้แก่กัน จึงยังเป็นปัญหาอยู่ และ แม้ ส.ส. อยากจะให้จบ การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารระดับสูงของพรรค สรุปสั้นๆบอกว่าตอนนี้คือความขัดแย้งระหว่าง ประธานาธิบดีโอบามา และประธานสภาคองเกรส ซึ่งอยู่ต่างพรรคกัน

ยังไม่แน่ใจว่าจะยืดเยื้อ คุยกันไม่รู้เรื่องจนสหรัฐต้องผิดชำระหนี้ในวันที่ 17 ตุลาคมหรือไม่!

ส.ส. ยังบอกว่าไม่มีทางออก คนมะกันบอกว่าหงุดหงิดมากแล้วกับเกมการเมืองเช่นนี้ //

No comments: