9.9.12

กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน







รวบรวมภาพเวทีพูดคุยนานาชาติว่าด้วย "กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน" จัดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่นานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 6-7 กันยายนค่ะ

งานนี้ดิฉันได้ลงไปตั้งวงพูดคุยสัมภาษณ์ เพื่อนำมาออก "ตอบโจทย์" คุยหลายๆว เพื่อระดมสมองหาทางออกให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวข้อสำคัญของงานนี้คือการพูดคุยของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักสันติวิธี นักรัฐศาสตร์  แนวทางสร้างบรรยากาศแห่งการพูดคุย เพื่อนำไปสู่กระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะแนวคิดเปิด "พื้นที่กลาง" เพื่อให้ "คนใน" ทำหน้าที่พูดคุยกัน ประสานกันโยงใยเป็นเครือข่าย ส่งเสียงกันว่าแนวทางที่ต้องการผลักดัน ต้องการให้เกิดสันติภาพเป็นอย่างไร

ปัญหาไฟใต้ ยืดเยื้อมาไม่ต่ำกว่า 9 ปีค่ะ ยังเป็นเรื่องที่คุกรุ่นอยู่มาก ผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 5,200 ราย เป็นที่น่าคิดว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร

นักวิชาการในพื้นที่อย่าง อ.ศรีสมภพ จิตย์ภิรมศรี และ อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ทำงานในพื้นที่ ลงไปคุยกับคนใน และ ในฐานะคนใน มากว่าปีแล้ว บอกว่าเข้าใจสิงที่ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมต้องการ ว่าการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ต้องมาจากความจริงใจของรัฐในการกระจายอำนาจ และบอกว่า ชื่อแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น "เขตปกครองตนเอง" "เขตปกครองพิเศษ"  หรือการกระจายอำนาจ ไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการที่จะทำให้เกิดขึ้น ว่าต้องดึงทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ผ่านกระบวนการพูดคุยโดยสันติ หรือ peace dialogue

เรื่องไฟใต้ นักวิชาการจากนานาประเทศเข้ามาทำงานกันหลายท่านนะคะ อย่าง ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส ผอ.องค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ เป็นผู้ผลักดันแนวคิดสร้างพื้นที่กลาง และพูดคุยโดยคนใน เพื่่อขยายฐานการพูดคุยให้เข้าถึงมวลชนมากที่สุด ระดับสูงก็ต้องคุยกันไปอย่างต่อเนื่อง แต่ระดับคนใน ในพื้นที่กลางคือหัวใจสำคัญที่จะต้องหาทางดึงผู้คนเข้าสู่กระบวนการสันติภาพให้มากที่สุด

งานนี้มีอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วม 2 ท่าน คือท่าน ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯมาเลเซีย และ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์ บอกว่าเข้าใจดีว่าผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีความหลากหลาย และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีผลจากความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นต้องหา "กลไก" ที่แตกต่างออกไป เพื่อให้อยู่ร่วมกันต่อไป และแนวทางการแก้ปัญหาต้องมาจากบทบาทางการเมือง ต้องอาศัยความความเป็นผู้นำทางการเมือง ความมุ่งมั่นทางการเมือง และ กระบวนการทางการเมือง

ดร.มหาเธร์ แห่งมาเลเซีย บอกว่าอาเซียนอยู่กับความขัดแย้งมาตลอด การถือกำเนิดของอาเซียนก็เพื่อบรรเทาความขัดแย้ง ความเห็นต่าง เพื่อให้เพือนบ้านอยู่ร่วมกันได้ ดร.มหาเธร์ ยกตัวอย่างความขัดแย้งในฐานะเพื่อนบ้านระหว่างไทยและมาเลเซีย เรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์นอกน่านน้ำอ่าวไทย ว่าแม้จะใช้เวลานาน แต่ที่สุดตกลงกันได้เรื่องแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

เรื่่องระหว่างประเทศอาเซียน ขณะที่ยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน หรือ non-interference ถ้าฝ่ายไทยร้องขอมาเลเซียอาจจะเข้ามามีส่วนช่วยหาทางออกเรื่องภาคใต้ได้

เรื่องภาคใต้กำลังเป็นสถานการณ์ที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และย่อมจะเรื้อรังต่อไปนะคะ ถ้าไม่เริ่มก้าวแรกของความพยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อย่างน้อยภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเดินหน้าแล้ว กับกระบวนการสันติภาพ เพื่อทำความเข้าใจกับมวลชน ภาครัฐและหน่วยงานความมั่นคงคงต้องหาข้อมูลจริงจังมากขึ้น พูดคุยกับคนในมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน กระบวนการสันติภาพแม้จะต้องใช้เวลาหลายปี แต่ควรจะได้เริ่มต้น แม้เส้นทางอาจจะไม่ราบรื่นก็ตาม

หมายเหตุ ภาพเดินกับดร.มหาเธร์ บันทึกโดย @idongphoto