21.1.14

Ordinary Love: ความรักธรรมดาที่ไม่ธรรมดา (U2)

Ordinary Love (U2 2013)

คงจะกล่าวอ้างว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ U2 ไม่ได้ เพราะไม่ได้ตามเพลงของวงดนตรีไอริช วงนี้อย่างจริงๆจัง เพียงแต่ชื่นชอบอยู่หลายเพลง  ดิฉันไม่แน่ใจว่าชอบเพราะนักร้องนำ Bono หรือความแนวของวงดนตรีไอริช ที่เพื่อนคนไอริช แนะนำให้รู้จักสมัยเรียนอยู่ลอนดอน ซึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ปีที่แล้ว

ตอนแรกที่ได้ยินเพลงของวงนี้ อยู่ที่ผับแห่งหนึ่ง จู่ๆเพื่อนชาวไอริชบอกว่าฟังสิ เพลงนี้ดีมาก ความที่เราไม่สันทัดเรื่องเพลง และอาจจะมีอาการฟังเพลงแบบ ไม่แตกเลยส่ายหน้า บอกเพื่อนกลับไปว่า เหรอ เฉยๆ ไม่รู้สึกว่าเพลงพิเศษอะไรเลย วันนั้นเพื่อนคงผิดหวังในตัวดิฉันไม่น้อย ว่าอะไรกันเธอไม่รู้จักวงดังแห่งไอร์แลนด์ อย่าง U2 นี่เลยหรือ ?!?

โธ่ เรื่องรสนิยมเพลงคงห้ามกันไม่ได้ นักศึกษาจากเมืองไทยอย่างดิฉันช่วงนั้นฟังแต่ easy fm เพลงสบายๆ แนว Norah Jones และ Enya ประมาณนั้น  ในช่วงนั้น

อย่ากระนั้นเลย เมื่อเพื่อนไอริช ซึ่งดิฉันนิยมเธอมาก เพราะเป็นเพื่อนที่แนว หัวคิดก้าวหน้า เรียนเก่งเป็นเลิศ มีอะไรมักจะแบ่งปันกับเพื่อนๆเสมอ แถมยังใจดี คอยแก้ไขภาษาอังกฤษเวลาเขียนงานส่งอาจารย์ ดิฉันเลยเห็นว่าเพื่อตอบแทนในมิตรไมตรีของเธอ จะต้องพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ U2 สักหน่อย จะได้คุยกับเธอรู้เรื่อง

ไม่ผิดหวังจริงๆ จากนั้นมารู้จักวง U2 และนิยมชมชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความหนักแน่นของเนื้อเพลง จังหวะดนตรีแนวอีเลคทริค ที่ผันมาเป็นป๊อบกึ่งร๊อค เนื้อหาเพลงกินใจ กลิ่นอายดนตรีไอริช มีนักร้อง นักแต่งเพลง มือกีต้าร์ ที่เป็นแม่เหล็กของวงอย่าง  Bono 


 เอาละก็พอจะมีเพลงของ U2 ในหัวใจบ้างอย่าง Beautiful Day, City of Binding Lights   เห็นเขาเล่นคอนเสิร์ตก็พอจะฮัมตามได้แบบ อิน ซะหน่อย

เรื่องเพลงขอบอกว่าอย่าไปแหยมกับคนไอริช เพราะเป็นอีกเรื่องที่เป็นความภูมิใจระดับชาติ พอๆกับเบียร์ดำ Guinness และนักเขียนคนดังอย่าง James Joyce

U2 ขึ้นชื่อความเป็นวงร๊อคที่ขายตั๋วฮิตติดลม ได้รางวัลแกรมมี่ถึง 22 รางวัล มากว่าวงใดๆ และวงนี้ขึ้นชื่อเรื่องรณรงค์เพื่อช่วยเหลือคนยากจนในอัฟริกา และสิทธิมนุษยชน และช่วยองค์กรอย่าง Amnesty International เป็นต้น

ดิฉันเพิ่งจะได้ฟังซิงเกิ้ลล่าสุดของ U2 “Ordinary Love” เพลงประกอบภาพยนตร์เพื่อรำลึกและเป็นเกียรติแด่ เนลสัน แมนเดลา วีรบุรุษตลอดกาลเพื่อสันติภาพ ในหนังเรื่อง “Mandela: Long Walk to Freedom” เนื้อเพลงเนื้อหาแนว U2 ชัดๆ และเป็นเพลงแรกของ U2 ในรอบกว่า 3 ปี เพลงนี้ออกมาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ท่านแมนเดลา จะถึงแก่อสัญกรรม กำลังได้รับการเสนอชิงรางวัล “Academy Award for Best Original Song” นิตยสาร Rolling Stone ระบุว่า เพลง Ordinary Love คือเพลงเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์แห่งความฝัน ท่วงทำนองของ U2 เข้ากันได้ดีกับเนื้อเพลง ที่ให้ความรู้สึกติดดิน และมองขึ้นฟ้าต่อสู้อย่างมีความหวัง

เนื้อเพลงน่าจะหมายถึงความเรียบง่าย การต่อสู้ ที่เต็มไปด้วยความหมาย และแน่นอนเกี่ยวพันกับเนลสัน แมนเดลา ในวันที่ท่านเดินออกจากเรือนจำหลังจากถูกคุมขังถึง 27 ปี

The sea wants to kiss the golden shore
The sunlight warms your skin
All the beauty that’s been lost before wants to find us again.

I can’t fight you anymore, it’s you I’m fighting for
The sea throws rock together but time leaves us polished stones.

We can’t fall any further, if we can’t feel ordinary love
And we can’t reach any higher, if we can’t deal with ordinary love.

น่าจะมีความหมายว่า เนลสัน แมนเดล่า เมื่อได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ต้องการที่จะสร้างสันติภาพ เพื่อยุติปัญหากีดกันสีผิว ( I can’t fight you anymore) และการต่อสู้เพื่อประเทศที่จะต้องเดินหน้าไปด้วยกัน โดยปราศจากความเกลียดกัน (It’s you I am fighting for) ท้องทะเลโยนหินกระทบกัน เวลาสรรค์สร้างให้ก้อนหินที่ขรุขระเป็นหินที่งดงาม น่าจะหมายถึงเวลาทำให้ผู้คนทะเลาะกัน แต่เวลาก็ช่วยขัดเกลาความคิดของคนให้สวยงามได้ หลังจากผ่านความชั่วร้ายไปแล้ว คนอัฟริกาใต้จะเดินไปข้างหน้าสร้างประเทศร่วมกันไม่ได้ถ้ายังคงความเกลียดชังกันอยู่ (We can’t reach any higher, if we can’t feel ordinary love) ...จงจัดการกับความรู้สึกแบ่งแยกให้ได้เถิด เพื่อหัวใจจะได้เรียนรู้ที่จะรักกัน!

Ordinary love which is extraordinary.

http://www.youtube.com/watch?v=XC3ahd6Di3M

Ordinary Love U2


ขอให้โชคดีจงมีแด่ทุกท่าน
ณัฏฐา โกมลวาทิน
ราตรีสวัสดิ์

20 มกราคม 2557 

20.1.14

"ทางออกประเทศไทย" ต้องไปเลือกตั้งเพื่อแสดงว่าไม่เอาเลือกตั้ง หรือสองฝ่ายประกาศสร้างสันติภาพ

ทางออกประเทศไทย 19 มกราคม 2557”: ThaiPBS 

หนึ่งสัปดาห์เต็มของมาตรการ ปิดกรุงเทพโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เกิดเหตุรุนแรงขึ้นทุกวัน วันศุกร์ที่ 17 มกราคม เหตุระเบิดช่วงบ่ายขณะกปปส.เดินย่านบรรทัดทอง มีผู้บาดเจ็บ 40 คน เสียชีวิต 1 คน คือคุณประคอง ชูจันทร์ วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม เกิดเหตุระเบิดเวลา 13.35 น. ที่เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้บาดเจ็บ 28 คน หนึ่งในนั้นคือผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ 

จนถึงวันนี้นับตั้งแต่เกิดเหตุปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อ 26 ธันวาคม มีผู้บาดเจ็บรวม 238 คน เสียชีวิต 4 คน ขณะที่ฝั่งรัฐบาลมีท่าทีราดน้ำมันบนกองเพลิงมากขึ้นเมื่อ ศอ.รส.ออกมาแถลงว่าผู้ชุมนุมสร้างสถานการณ์ที่ถ.บรรทัดทอง

อีก 13 วัน จะถึงวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์  รัฐบาลยืนยันจะต้องเดินหน้า กกต.ระบุว่าจะเดินหน้าจัดเลือกตั้งตามที่รัฐบาลต้องการ  แต่จะไม่ดูแล 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร กปปส. ยืนยันไม่ถอย ไม่เจรจา และจะ ปิดกรุงเทพให้สนิทกว่าเดิม

"ทางออกประเทศไทย" 19 มกราคม 2557 คุยกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ รศ. ดร. ไชยันต์ ไชยพร 


ทางออกประเทศไทย ในสถานการณ์เผชิญหน้าทางการเมืองเช่นนี้คืออะไร ในภาวะที่คนถามหาคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ภาวะที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมประนีประนอม ฝ่ายกปปส. ระบุต้องการเดินหน้าเพื่อ ปฏิวัติประชาชนรัฐบาลต้องการเดินหน้าเพื่อ รักษาประชาธิปไตย

รายการพิเศษ ทางออกประเทศไทย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักปรัชญาการเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สกว. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักปรัชญาการเมือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมหาทางออก



ทั้งสองท่านเห็นตรงกันว่าขณะนี้ยังไม่ถึงขั้น สงครามกลางเมือง อ.ชัยวัฒน์ระบุว่า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะใช้คำนี้ แต่ตอนนี้สิ่งที่เห็นคือ เป็นความรุนแรงที่ถึงขั้นตายได้ และเรียกสถานการณ์นี้ว่า สงครามความชอบธรรม อ.ชัยวัฒน์ประเมินว่ามีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องหาทางช่องทางที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้คนที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง ข้อเสนอของ อ.ชัยวัฒน์ คือ คนที่ไม่พอใจรัฐบาล ขอให้ไปเลือกตั้ง แล้วทำบัตรเสีย เพื่อให้รู้ว่าไม่พอใจ หรือ กกต.จัดหาตรายาง เพื่อให้คนประทับว่า ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งและเสนอให้ กปปส. หรือเจ้าหน้าที่หยั่งเสียงหน้าคูหาเลือกตั้ง (exit poll) เพื่อนับจำนวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งจริงๆ เพื่อเป็นฐานเสียงที่จะชี้ให้เห็นว่าคนไม่ต้องการการเลือกตั้งครั้งนี้มากน้อยขนาดไหน



อ.ไชยันต์ ไชยพร เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และเสริมว่า พรรคเพื่อไทย และ กปปส. ต้องกล้าวัดใจกันผ่านกระดาษ ต้องยอมให้ทำแบบนี้เพื่อที่คนจะไม่ต้องตายกันอ.ไชยันต์ ยอมรับว่าถ้าเลือกตั้งแบบนี้เดาได้ไม่ยากว่า พรรคเพื่อไทยก็คงจะชนะ แต่อีกด้านหนึ่งจะได้เห็นว่าจำนวนคนที่ไม่ต้องการการเลือกตั้งเยอะมากเช่นกัน และอาจจะนำไปสู่การพิจารณาสละสิทธิของพรรคเพื่อไทยก็เป็นได้

ดิฉันแซว อ.ชัยวัฒน์ ว่าข้อเสนอแบบนี้ที่ต่อเนื่องกับ พาราความขัดแย้งที่อาจารย์เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ว่า ขอให้เพิ่มช่อง ไม่ต้องการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ในบัตรเลือกตั้ง คนอาจจะมองว่าคิดแบบโลกสวย อาจารย์ตอบกลับแบบยิ้มๆว่าถ้ามองโลกสวยผิดตรงไหน โลกสวยเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่เหรอ 

อ.ไชยันต์ เสริมว่า ที่จริงเรามานั่งคุยแบบนี้เรากำลังมองโลกในแง่ร้ายมากกว่า เรากำลังกลัวว่าจะมีคนตาย ขณะที่สองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งมองโลกในแง่สวยมากกว่าเราอีก



ดิฉันเลยถามอาจารย์ไชยันต์ต่อว่า ข้อเสนอแปลกๆที่อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าถ้าฝ่ายไหนทำจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะ คืออะไร
อ.ไชยันต์ อธิบายว่า คือข้อเสนอที่อยากให้ทั้ง 2 ขั้วการเมือง เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สร้างสันติภาพ ชิงบทบาทความเป็นผู้มีมนุษยธรรม ชิงความเป็นผู้รักสันติภาพ เสียสละตนเองเพื่อไม่ให้เงื่อนไขรุนแรงขึ้น ก่อนวันที่ 2 กุมภาพันธ์

อาจารย์ไชยันต์เสริมด้วยว่า ขณะนี้สองฝ่ายกำลังเล่นเกมกับดักทางการเมืองที่ที่สุดแล้วจะ เจ๊งทั้งคู่ ตอนนี้สุ่มเสี่ยงอย่างมากกับการเล่นกับมวลชนทั้งสองฝ่าย

ในภาพรวม อ.ไชยันต์เห็นว่าทหารวางตัวได้ดีแล้ว ที่จำกัดบทบาทตนเองเช่นนี้ และควรจะอยู่แบบนี้ต่อไป ถ้าผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยจริงๆ

สิ่งที่อ.ชัยวัฒน์เป็นห่วงอย่างมากคือทัศนคติที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือ “war mentality” ลักษณะที่ว่านี้คือถ้าไม่เห็นด้วยกับฉัน เธอคือศัตรู เป็นทัศนคติเหมือนที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้ลูก เคยบอกกับผู้คนทั่วโลกหลังเหตุการณ์ 11 กันยายนว่า “You are either with us or against us” ซึ่งเสมือนกับเป็นการผลักให้คนเลือกข้าง

“War Mentality”กำลังเกิดขึ้นในไทย เพราะคนไม่ฟังเหตุฟังผล พร้อมที่จะชี้หน้าต่อว่ากัน สังคมทุกวันนี้ถูกฉีกออกจากกันด้วยความคิด War Mentality” ถ้าไม่อยู่ข้างผม ก็อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นศัตรูที่เกลียดชังกัน แต่เมื่อสถานการณ์ยิ่งแรงขึ้นแบบนี้ ยิ่งต้องหาแนวทางสันติวิธี อ.ชัยวัฒน์ระบุ

ผู้ที่กำลังมีความรู้สึกร่วมกับคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย อาจจะรู้สึกว่าข้อเสนอจากทั้งสองท่าน โลกสวย หรือ ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ดิฉันยังมีความหวัง และเห็นว่าข้อเสนอของทั้งสองท่านน่ารับฟัง และจะต้องฟัง แม้จะแปลก แม้จะไกลตัว บางคนบอกเสียเวลา ในทางกลับกันถ้าไม่คิด เฝ้ามอง ปล่อยให้สถานการณ์ลากไป จนตีบตันลงไปทุกขณะ อาจจะแย่กว่าไม่พยายามทำอะไรเลยก็ได้  

ยังมีเวลาที่จะหยุดยั้งความรุนแรงได้ ยังมีเวลาที่จะไม่ติดกับดักที่จะ เจ๊งทั้งคู่ ยังมีเวลาที่สังคมไทยจะได้แสดง วุฒิภาวะ ว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ

ยังมีเวลา...ก่อนที่จะสายเกินไป
เพราะเมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีใครเรียกชีวิตกลับคืนมาได้

ขอให้โชคดีจงมีแด่ทุกท่าน
ณัฏฐา โกมลวาทิน

19 มกราคม 2557