22.8.09

สัมภาษณ์พิเศษ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส


ออกอากาศทาง "ที่นี่ ทีวีไทย" ไปแล้วเมื่อคืนนี้นะคะ คัดบทสัมภาษณ์พิเศษ ศาตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส มาให้อ่านกันอีกรอบ กับแนวคิดที่ไม่ธรรมดาและความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีความสามารถเมื่อได้รับโอกาสและเงินทุนให้พัฒนาพรสวรรค์ของตน เป็นการหยิบยื่นโอกาสให้กับคนยากจนที่ถูกระบบปฏิเสธ แนวคิดที่ยืนหยัดกว่า 30 ปี ทำให้อาจารย์ยูนุส ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2549....ตัวหนังสือเยอะนิดหน่อย ค่อยๆอ่านแบบใจเย็นๆนะคะ


ณัฏฐา: ธนาคารกรามีน จากวันแรกที่ท่านเริ่มสร้างเมื่อปี 2528ตอนนี้มีผู้ยืม 8 ล้านคน ร้อยละ 97 เป็นผู้หญิง จะเรียกว่าเป็นธนาคารเพื่อคนจน หรือ ธนาคารเพื่อผู้หญิงยากจนดีคะ

ยูนุส: ชื่อไหนก็ได้ นี่คือธนาคารที่ปล่อยกู้ให้คนยากจน ร้อยละ 97 ของผู้กู้เป็นผู้หญิงพวกเธอเป็นเจ้าของธนาคารด้วย ธนาคารมีผู้หญิงยากจนเป็นเจ้าของ เราปล่อยกู้เพื่อให้พวกเธอไปทำกิจกรรมที่สร้างรายได้เพื่อตนเอง และเพื่อให้หลุดพ้นออกจากความยากจนทีละขั้น พวกเธอเปิดบัญชีฝากเงินได้ เพื่อออมเงินกับธนาคารด้วย


ณัฏฐา: ถ้าท่านเปรียบเทียบกับเมืองในพื้นที่ต่างกัน สภาพของนครนิวยอร์ค น่าจะแตกต่างจากบังคลาเทศ
ทำไมแนวคิดธนาคารกรามีน ถึงเกิดขึ้นในพื้นที่ภายในเมืองใหญ่ๆอย่างนิวยอร์ค และ กลาสโกว์

ยูนุส: เพราะว่าความต้องการเหมือนกัน ประเทศอาจจะแตกต่างแต่คนร่ำรวยก็รวยต่อไป คนยากจนก็ยังจนอยู่
ไม่ว่าจะอยู่ที่บังคลาเทศ นิวยอร์ค หรือ กลาสโกว์ ผู้คนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แต่ต้องการเงินก้อนหนึ่ง
เพื่อที่จะได้ใช้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรม เพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงเด็ก
เลี้ยงสุนัข หรือเริ่มทำศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือเริ่มขายอาหารเพื่อดูแลลูกและพวกเธอเอง สำหรับผม
ความต้องการของทุกคนเหมือนกัน คุณอาจจะพูดต่างภาษา ผ่านการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน แต่จิตวิญญาณ
ของคนยากจนล้วนมาจากสิ่งเดียวกัน ก็คือพวกเขาถูกปฏิเสธ ถูกปฏิเสธจากระบบ พวกเขาไม่มีโอกาส
เหมือนคนอื่นๆ ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ

ณัฏฐา: ดูเหมือนท่านมีเรื่องราวแห่งความสำเร็จของธนาคารกรามีน กรุณาเล่ากรณีที่ไม่สำเร็จบ้างค่ะ
ยูนุส: กรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จก็น่าจะเป็นลูกหนี้ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลูก 6 คน สามีเธอไม่ค่อยสบาย
ลูกสาว ลูกชายก็ป่วย ทุกครั้งที่เธอมีรายได้ ก็ต้องใช้เงินเหล่านั้นไปกับการดูแลสามีและลูก ทำให้
เธอพัฒนากิจการไม่ได้ เธอยังต้องจมอยู่กับความยากจน แต่เธอก็ต้องประคองตัวให้อยู่รอดคนเหล่านี้ต้องติดกับดักของสถานการณ์ดั้งเดิมที่พวกเขาเผชิญ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอล้มเหลว เพราะว่าก็ได้พยายามใหม่หลายครั้งเพื่อที่จะให้ชีวิตเดินหน้าต่อไป เราก็พยายามช่วยเหลือเธอให้รอดพ้นจากความทุกข์ยาก ไม่ใช่ว่าพอเธอก้าวไม่พ้นความยากจนแล้วเราจะทอดทิ้งเธอ ไม่ใช่เราต้องใช้ความพยายามมากขึ้น แนะนำมากขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าเธอจะหลุดพ้นจากความเลวร้ายในที่สุด

ณัฏฐา: กับความสำเร็จและความนิยมในธนาคารกรามีนท่านจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้นักการเมืองแสวงหา
ผลประโยชน์จากแนวคิดนี้ โดยไปให้สัญญากับชาวบ้านเพียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ทำตามที่สัญญา

ยูนุส: เราพยายามอธิบายให้นักการเมืองเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการปล่อย
สินเชื่อรายย่อย เราบอกว่ารัฐบาลกับสินเชื่อรายย่อยไปด้วยกันไม่ได้ รัฐบาลควรจะสนับสนุนโดยวาง
แนวทางเรื่องกฎหมาย และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการขอสินเชื่อ แต่ต้องไม่เข้ามาบริหารงานเอง
เพราะถ้ารัฐบาลเข้ามาจัดการเองก็จะกลายเป็นเรื่องทางการเมือง นักการเมืองจะไปสร้างข้อต่อรองกับ
ชาวบ้านว่าถ้าอยากได้สินเชื่อก็ต้องลงเสียงให้ มากกว่าจะได้เงินคืนจากชาวบ้าน และเมื่อความต้องการนี้
หายไปก็จะทำให้ระบบธนาคารที่สร้างไว้เพื่อคนยากจนหายไป

ณัฏฐา : อีก 5 ปี ท่านคิดว่าจะทำอะไรคะ จะกลับไปทำงานการเมืองอย่างที่เคยทำเมื่อปี 2539 หรือไม่คะ
ทำไมตอนนั้นถึงถอนตัวออกมาจากการเมือง

ยูนุส : เกิดภาวะวิกฤตในประเทศครับช่วงนั้น แล้วพอปี2550 และ 2551 ก็มีคนกระตุ้นว่าน่าจะตั้งพรรค
การเมืองเพื่อแก้ปัญหา เพราะแรงกดดันทำให้ผมตัดสินใจเข้าไปในวงการการเมือง และตั้งพรรค
แต่ผมก็เห็นความยากลำบาก ตอนนั้นผมพยายามชักชวนเพื่อนฝูงที่เป็นคนดีๆ ในหลายวงการ
ทั้งนักธุรกิจคนมีความสามารถ แต่พวกเขาปฏิเสธผมชักชวนให้พวกเขาเข้าร่วมในการเมืองไม่ได้

ในที่สุดหลังจากผ่านไป 2 เดือน ผมบอกตัวเองว่า พอแล้ว ผมไม่ต้องการทำงานการเมืองอีกต่อไป
ผมจะทำในสิ่งที่ผมชอบ ผมคิดอย่างนั้นครับ

ณัฏฐา: ท่านเคยบอกไว้ว่าจะลดความยากจนในโลกให้เหลือครึ่งเดียวในปี 2558 และในปี 2573
จะต้องมีพิพิธภัณฑ์แห่งความยากจน ท่านยังมั่นใจอยู่ไหมคะว่าจะเป็นจริงอย่างที่ว่า

ยูนุส: ผมจริงจังกับเรื่องนี้มาก เป้าหมายแรกในปี 2558เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
ที่จะต้องลดความยากจนในโลกให้เหลือครึ่งเดียวในปี 2558 นี่เป็นคำมั่นในระดับโลก ไม่เฉพาะแต่
บังคลาเทศ หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังทำ ที่บังคลาเทศ
กำลังทำ และหลายประเทศจะทำได้ตามเป้าหมาย เราต้องการลดความยากจนให้ได้ในปี 2558
ผมถามคำถามว่าถ้าเรารู้ว่าเราจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ทำไมเราไม่ตัดสินใจตั้งเป้าว่า ปีไหนที่เราจะ
ทำให้ความยากจนเหลือศูนย์ หมายความว่าจะไม่มีคนจนอีกแล้วในประเทศ คนในบังคลาเทศเลย
คิดกันว่าน่าจะตั้งเป้าว่าในปี 2573 จะไม่มีคนยากจนเหลืออยู่ในบังคลาเทศอีกต่อไป ในปี 2573 และถ้าทำสำเร็จจริง เราก็จะได้สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งความยากจน เพื่อที่ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน เวลาที่ต้องการ
รู้สภาพของความยากจน จะได้เรียนรู้ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นเมื่อเราไม่มีความยากจนแล้ว พวกเขา
ก็ต้องไปเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์

19.8.09

Yunus กับ Grameen Bank ในประเทศร่ำรวย



มีโอกาสได้สัมภาษณ์ Professor Muhummad Yunus เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2006 กับแนวคิด "ธนาคารคนจน" Grameen Bank จนถึงวันนี้เติบโตอย่างแข็งแกร่งนะคะ กับผู้ยืม 8 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงถึง 97% นะคะ

แนวคิดนี้ไม่ได้เติบโตเฉพาะที่ต้นตำรับอย่างบังคลาเทศ แต่กำลังเบ่งบานในจีน ซิบบับเว นครใหญ่ๆของโลกอย่างนิวยอร์ค และ กลาสโกว์ด้วย

คอยติดตามกันกับตอบโจทย์วันศุกร์นี้ค่ะ ว่าทำไม Yunus ถึงไม่ค่อยเห็นดีเห็นงามกับระบบสวัสดิการสังคม welfare state system พร้อมรายละเอียดในแง่มุมภูมิภาคและไทยด้วย

15.8.09

ชัยชนะของ Jim Webb กับอนาคต ออง ซาน ซูจี


วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคมนี้ ระหว่างแถลงข่าวที่โรงแรม Four Seasons ที่กรุงเทพ อาจจะได้เห็น Jim Webb วุฒิสมาชิกสหรัฐแสดงชัยชนะ และความภาคภูมิใจที่ได้เจรจากับรัฐบาลทหารพม่าสำเร็จ จนตกลงที่จะปล่อยตัวนาย John William Yettaw แขกผู้ไม่ได้รับเชิญที่ว่ายน้ำไปเข้าบ้านพักนางออง ซาน ซูจี จนเขาต้องถูกตัดสินจำคุกในที่สุดอีก 7 ปี ขณะที่นางออง ซาน ซูจี ก็โดนสั่งกักบริเวณต่อในบ้านพักอีก 18 เดือน

สำนักงานของ Webb รายงานด้วยว่า วันนี้เขาได้รับอนุญาติจากผู้นำอาวุโสของพม่า นายพล ตันฉ่วย ให้ได้พูดคุยกับนาง ออง ซาน ซูจี ที่บ้านพักของรัฐใกล้กับบ้านของเธอ เป็นเวลานานถึง 40 นาที

เป็นผลงานถึงสองต่อที่ชัดเจนของ นาย Webb วุฒิสมาชิก และ อนุกรรมการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค (Foreign Relations subcommittee on East Asia and Pacific Affairs) กับการมาเยือนพม่าในครั้งนี้ นอกจากจะได้นาย Yettaw กลับบ้านด้วยแล้ว ยังจะได้พูดคุย ลงลึกถึงรายละเอียดได้อย่างชัดเจนว่าตลอดเวลาของการพูดคุย 40 นาที ได้หารือเรื่องใดบ้างกับนาง ออง ซาน ซูจี

แค่ได้พบก็ถือเป็นประเด็นแล้ว นี่ยังได้หารือกันด้วย ก่อนหน้านี้นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ลงทุนลงแรงไปพม่าเองก็ยังถูกปฏิเสธไม่ได้พบนางซูจี แม้แต่น้อย

นาย Webb ย้ำว่าเป็นโอกาสดีที่ต้องเร่งทำงานในจังหวะนี้ที่ท่าทีของทหารพม่าอ่อนลงเพื่อเสริมสร้างรากฐานของความมุ่งมั่นที่ดีและความมั่นใจที่จะสร้างอนาคตต่อไป

หยอดคำหวานสมกับเป็นวุฒิสมาชิกที่สหรัฐไว้ใจส่งให้มาเยือนพม่าในครั้งนี้ และดูเหมือนจะรับลูกกันได้ดีกับคำพูดของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่กล่าวก่อนหน้านี้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่ภูเก็ตว่า ถ้าพม่าปล่อยนางออง ซาน ซูจี สหรัฐจะเข้าไปลงทุนในพม่าเพิ่มมากขึ้น

หรือพม่ากำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง ?!?

9.8.09

ระวัง ดีเซล แพงเกินลิตรละ 30 บาท



ราคาน้ำมันดีเซล เฉียดลิตรละ 30 บาทเข้าไปทุกทีนะคะ มีผลมากกับการผลิต การให้บริการขนส่งในประเทศไทย แต่ล่าสุดนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่งจะย้ำไปนะคะว่า จะไม่ยอมให้ราคาน้ำมันเพงเกิน 30 บาทต่อลิตรแน่นอน

แถมยังย้ำด้วยว่าที่ผ่านมาที่เก็บเงินสะสมเข้ากองทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะได้เวลาแล้วที่จะเอาเงินกองทุนสะสมเหล่านั้นนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันแพง

คนใช้น้ำมันอาจจะเบาใจลงบ้าง แต่ก็ต้องคอยดูว่าจะพยุงไว้ได้ขนาดไหน เมื่อโครงสร้างราคาน้ำมันยังมีหลายปัจจัย ทั้งกองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์ ค่าการตลาด ล้วนแต่เป็นสัดส่วนสูง ทำให้ราคาน้ำมันในไทยแพงทั้งนั้น

8.8.09

my newish English blog

News Round-UP
To follow what's going on around the world, I have 'launched' a new blog, News Round UP.
Not to miss the train, I have to begin with latest gossip about 'twitter'.
Well, feel free to visit.
เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศในการ up blog ติดตามเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มเติมได้ค่ะ ที่ http://www.natthatvthai.blogspot.com/

7.8.09

นกกระจิบ โดน แฮค


เพิ่งจะบางอ้อ ว่าทำไมวันนี้ทั้งวันทวิตเตอร์มีอาการช้าๆ ซึมๆ ที่แท้โดน hackers บุกนี่เอง ผู้จัดการเวปไซต์ทวิตเตอร์ บอกว่าต้องเร่งทำงานเพื่อต่อสู้กับ “defending against a denial-of-service-attack” ศึกสงครามในโลกไซเบอร์ช่างใหญ่หลวงยิ่งนัก โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับเวปไซต์ยอดฮิตติดอันดับโลกไปแล้วอย่าง twitter

คนทำงานบางคนบอกว่ามีอาการ “หลงทาง” เมื่อปราศจากทวิตเตอร์เลยนะคะ เพราะว่ากลายเป็นเวปไซต์ที่ติดตามข่าวสาร นัดหมายกับเพื่อนฝูง และอย่างทันท่วงที

Facebook ก็มีอาการช้าๆ ซึมๆ เช่นกันระหว่างวัน

แต่ตอนนี้คนใช้ทั่วโลกคงเริ่มถอนหายใจอย่างโล่งอกแล้วเพราะอาการฟื้นตัวแล้ว หลังจากระดมพลผู้เชี่ยวชาญเรื่องโปรแกรมต่อสู้กันยกใหญ่

แต่เรื่องการใช้เวปไซต์เครือข่ายสังคมอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ เปรยๆไว้ว่าจะยิ่งทำให้คนโลกทัศน์แคบลงเพราะจะสนใจแต่คนในวงที่ตนเองอยากจะสนใจ เรียกได้ว่าปิดรับข่าวสารของคนกลุ่มอื่นๆ สนแต่กลุ่มตนเอง

เรื่องนี้ก็คงต้องฟังหูไว้หูกันเอาเองนะคะ ปรับให้เข้ากับชีวิตของแต่ละคนน่าจะดีที่สุด

5.8.09

บันทึกภาพประวัติศาสตร์ สหรัฐ - เกาหลีเหนือ



กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ไปแล้วค่ะ บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และ คิม จอง อิล ประธานาธิบเกาหลีเหนือ บันทึกภาพร่วมกัน ในการเยือนเกาหลีเหนือแบบส่วนตัวของอดีตผู้นำเมืองลุงแซม

คลินตัน บอกว่ามีข่าวสารฝากมาจากประธานาธิบดีโอบามาด้วย แต่ทางทำเนียบไวท์เฮาส์ต้องรีบออกมาแก้ข่าวว่าไม่จริง โอบามาไม่ได้ฝากอะไรมากับคลินตันเลย

คาดว่าไปเยือนครั้งนี้เพื่อเจรจาให้ผู้นำเกาหลีเหนือปล่อยตัวสองผู้สื่อข่าว ยูน่า หลี และลอร่า หลิง ผู้สื่อข่าวของ Current Media ของอดีตรองประธานาธิบดีอัลกอร์ ที่ถูกจับตัวไปขณะทำงานอยู่ที่พรมแดนจีนเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนมีนาคม และถูกสั่งตัดสินจำคุกนานถึง 12 ปีเมื่อเดือนมิถุนายน

แต่การไปเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งค่ะ เพราะเกาหลีเหนือมีท่าทีเย็นชามาตลอดเรื่องโครงการนิวเคลียร์ ที่ไม่เคยฟังเสียงทัดทานจากที่ประชุมหกฝ่าย ที่มีจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหรัฐ และ ญี่ปุ่น

เกาหลีเหนือไม่ได้แจ้งล่วงหน้าเลยสำหรับการเยือนครั้งนี้ค่ะ แต่ก็เรียกได้ว่าต้อนรับกันอย่างยิ่งใหญ่ทีเดียว นักวิเคราะห์มองกันว่าครั้งนี้คลินตันอาจจะสร้างคุณูปการในเชิงการทูตให้กับสหรัฐและน่าจะทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางเป็นบวกมากขึ้น แต่จนถึงตอนนี้เกาหลีเหนือยังไม่แสดงท่าทีตอบสนองนะคะว่าจะยอมปล่อยตัวสองผู้สื่อข่าวสาวหรือไม่

น่าคิดว่า ฮิลลารี คลินตัน จะคิดอย่างไรเพราะเธอเพิ่งปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทูตของเกาหลีเหนือ ตอนร่วมประชุมเออาร์เอฟ ที่ภูเก็ต เมื่อปลายเดือนที่แล้ว หรือจะวางหมากกันไว้แล้วว่าจะเป็นเช่นนี้

1.8.09

ไว้อาลัย "tita" ของฟิลิปปินส์


ท่ามกลางกระแสแปลกแยกเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในรัฐบาล ข่าวการจากไปของนางคอราซอน อาคิโน แทบจะหยุดลมหายใจของความตึงเครียดไว้ได้ชั่วขณะค่ะ ฟิลิปปินส์กำลังเศร้าโศกกับการเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดีหญิงผู้นี้ ในวัย 76 ปี หลังจากทนรักษาตัวจากโรคมะเร็งนานนับปี

ผู้คนจดจำ “Tita” กับแนวทางการต่อสู้แบบอหิงสาตามเส้นทางของสามี “Ninoy” อดีตสมาชิกวุฒิสภาที่เตรียมลงต่อสู้เป็นประธานาธิบดี แต่มาโดนลอบสังหารเสียก่อน Cory เลยได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามให้ต้องลงชิงชัยเพื่อเป็นประนาธิบดีแข่งกับเฟอร์ดินัน มาร์กอส ในยุคนั้น

การต่อสู้ของ Cory พร้อมกับประชาชนได้กลายเป็นจุดกำเนิดของ People Power ต้นแบบการต่อสู้เพื่อโค่นอดีตผู้นำมาร์กอส เมื่อวันที่ Cory ขึ้นเป็นผู้นำฟิลิปปินส์ในปี 1986

บทบรรณาธิการของ Philippines Daily Inquirer ยกย่องว่า Cory เป็นอดีตประธานาธิบดีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ไม่เคยแสวงหาอำนาจแต่กลับหาจังหวะเวลาที่จะกระจายอำนาจให้กับประชาชน ในเวลาที่เธอมีอำนาจอยู่เต็มมือ ทำให้เธอมีจุดยืนที่ชัดเจนกับการสนับสนุนประชาธิปไตย และสานต่อเจตนารมณ์ของสามี

รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศจะไว้อาลัยให้กับนางอาคิโน 10 วัน สถานที่ราชการจะลดธงลงครึ่งเสาด้วย