
ออกอากาศทาง "ที่นี่ ทีวีไทย" ไปแล้วเมื่อคืนนี้นะคะ คัดบทสัมภาษณ์พิเศษ ศาตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส มาให้อ่านกันอีกรอบ กับแนวคิดที่ไม่ธรรมดาและความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีความสามารถเมื่อได้รับโอกาสและเงินทุนให้พัฒนาพรสวรรค์ของตน เป็นการหยิบยื่นโอกาสให้กับคนยากจนที่ถูกระบบปฏิเสธ แนวคิดที่ยืนหยัดกว่า 30 ปี ทำให้อาจารย์ยูนุส ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2549....ตัวหนังสือเยอะนิดหน่อย ค่อยๆอ่านแบบใจเย็นๆนะคะ
ณัฏฐา: ธนาคารกรามีน จากวันแรกที่ท่านเริ่มสร้างเมื่อปี 2528ตอนนี้มีผู้ยืม 8 ล้านคน ร้อยละ 97 เป็นผู้หญิง จะเรียกว่าเป็นธนาคารเพื่อคนจน หรือ ธนาคารเพื่อผู้หญิงยากจนดีคะ
ยูนุส: ชื่อไหนก็ได้ นี่คือธนาคารที่ปล่อยกู้ให้คนยากจน ร้อยละ 97 ของผู้กู้เป็นผู้หญิงพวกเธอเป็นเจ้าของธนาคารด้วย ธนาคารมีผู้หญิงยากจนเป็นเจ้าของ เราปล่อยกู้เพื่อให้พวกเธอไปทำกิจกรรมที่สร้างรายได้เพื่อตนเอง และเพื่อให้หลุดพ้นออกจากความยากจนทีละขั้น พวกเธอเปิดบัญชีฝากเงินได้ เพื่อออมเงินกับธนาคารด้วย
ณัฏฐา: ถ้าท่านเปรียบเทียบกับเมืองในพื้นที่ต่างกัน สภาพของนครนิวยอร์ค น่าจะแตกต่างจากบังคลาเทศ
ทำไมแนวคิดธนาคารกรามีน ถึงเกิดขึ้นในพื้นที่ภายในเมืองใหญ่ๆอย่างนิวยอร์ค และ กลาสโกว์
ยูนุส: เพราะว่าความต้องการเหมือนกัน ประเทศอาจจะแตกต่างแต่คนร่ำรวยก็รวยต่อไป คนยากจนก็ยังจนอยู่
ไม่ว่าจะอยู่ที่บังคลาเทศ นิวยอร์ค หรือ กลาสโกว์ ผู้คนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แต่ต้องการเงินก้อนหนึ่ง
เพื่อที่จะได้ใช้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรม เพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงเด็ก
เลี้ยงสุนัข หรือเริ่มทำศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือเริ่มขายอาหารเพื่อดูแลลูกและพวกเธอเอง สำหรับผม
ความต้องการของทุกคนเหมือนกัน คุณอาจจะพูดต่างภาษา ผ่านการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน แต่จิตวิญญาณ
ของคนยากจนล้วนมาจากสิ่งเดียวกัน ก็คือพวกเขาถูกปฏิเสธ ถูกปฏิเสธจากระบบ พวกเขาไม่มีโอกาส
เหมือนคนอื่นๆ ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ
ณัฏฐา: ดูเหมือนท่านมีเรื่องราวแห่งความสำเร็จของธนาคารกรามีน กรุณาเล่ากรณีที่ไม่สำเร็จบ้างค่ะ
ยูนุส: กรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จก็น่าจะเป็นลูกหนี้ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลูก 6 คน สามีเธอไม่ค่อยสบาย
ลูกสาว ลูกชายก็ป่วย ทุกครั้งที่เธอมีรายได้ ก็ต้องใช้เงินเหล่านั้นไปกับการดูแลสามีและลูก ทำให้
เธอพัฒนากิจการไม่ได้ เธอยังต้องจมอยู่กับความยากจน แต่เธอก็ต้องประคองตัวให้อยู่รอดคนเหล่านี้ต้องติดกับดักของสถานการณ์ดั้งเดิมที่พวกเขาเผชิญ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอล้มเหลว เพราะว่าก็ได้พยายามใหม่หลายครั้งเพื่อที่จะให้ชีวิตเดินหน้าต่อไป เราก็พยายามช่วยเหลือเธอให้รอดพ้นจากความทุกข์ยาก ไม่ใช่ว่าพอเธอก้าวไม่พ้นความยากจนแล้วเราจะทอดทิ้งเธอ ไม่ใช่เราต้องใช้ความพยายามมากขึ้น แนะนำมากขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าเธอจะหลุดพ้นจากความเลวร้ายในที่สุด
ณัฏฐา: กับความสำเร็จและความนิยมในธนาคารกรามีนท่านจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้นักการเมืองแสวงหา
ผลประโยชน์จากแนวคิดนี้ โดยไปให้สัญญากับชาวบ้านเพียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ทำตามที่สัญญา
ยูนุส: เราพยายามอธิบายให้นักการเมืองเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการปล่อย
สินเชื่อรายย่อย เราบอกว่ารัฐบาลกับสินเชื่อรายย่อยไปด้วยกันไม่ได้ รัฐบาลควรจะสนับสนุนโดยวาง
แนวทางเรื่องกฎหมาย และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการขอสินเชื่อ แต่ต้องไม่เข้ามาบริหารงานเอง
เพราะถ้ารัฐบาลเข้ามาจัดการเองก็จะกลายเป็นเรื่องทางการเมือง นักการเมืองจะไปสร้างข้อต่อรองกับ
ชาวบ้านว่าถ้าอยากได้สินเชื่อก็ต้องลงเสียงให้ มากกว่าจะได้เงินคืนจากชาวบ้าน และเมื่อความต้องการนี้
หายไปก็จะทำให้ระบบธนาคารที่สร้างไว้เพื่อคนยากจนหายไป
ณัฏฐา : อีก 5 ปี ท่านคิดว่าจะทำอะไรคะ จะกลับไปทำงานการเมืองอย่างที่เคยทำเมื่อปี 2539 หรือไม่คะ
ทำไมตอนนั้นถึงถอนตัวออกมาจากการเมือง
ยูนุส : เกิดภาวะวิกฤตในประเทศครับช่วงนั้น แล้วพอปี2550 และ 2551 ก็มีคนกระตุ้นว่าน่าจะตั้งพรรค
การเมืองเพื่อแก้ปัญหา เพราะแรงกดดันทำให้ผมตัดสินใจเข้าไปในวงการการเมือง และตั้งพรรค
แต่ผมก็เห็นความยากลำบาก ตอนนั้นผมพยายามชักชวนเพื่อนฝูงที่เป็นคนดีๆ ในหลายวงการ
ทั้งนักธุรกิจคนมีความสามารถ แต่พวกเขาปฏิเสธผมชักชวนให้พวกเขาเข้าร่วมในการเมืองไม่ได้
ในที่สุดหลังจากผ่านไป 2 เดือน ผมบอกตัวเองว่า พอแล้ว ผมไม่ต้องการทำงานการเมืองอีกต่อไป
ผมจะทำในสิ่งที่ผมชอบ ผมคิดอย่างนั้นครับ
ณัฏฐา: ท่านเคยบอกไว้ว่าจะลดความยากจนในโลกให้เหลือครึ่งเดียวในปี 2558 และในปี 2573
จะต้องมีพิพิธภัณฑ์แห่งความยากจน ท่านยังมั่นใจอยู่ไหมคะว่าจะเป็นจริงอย่างที่ว่า
ยูนุส: ผมจริงจังกับเรื่องนี้มาก เป้าหมายแรกในปี 2558เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
ที่จะต้องลดความยากจนในโลกให้เหลือครึ่งเดียวในปี 2558 นี่เป็นคำมั่นในระดับโลก ไม่เฉพาะแต่
บังคลาเทศ หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังทำ ที่บังคลาเทศ
กำลังทำ และหลายประเทศจะทำได้ตามเป้าหมาย เราต้องการลดความยากจนให้ได้ในปี 2558
ผมถามคำถามว่าถ้าเรารู้ว่าเราจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ทำไมเราไม่ตัดสินใจตั้งเป้าว่า ปีไหนที่เราจะ
ทำให้ความยากจนเหลือศูนย์ หมายความว่าจะไม่มีคนจนอีกแล้วในประเทศ คนในบังคลาเทศเลย
คิดกันว่าน่าจะตั้งเป้าว่าในปี 2573 จะไม่มีคนยากจนเหลืออยู่ในบังคลาเทศอีกต่อไป ในปี 2573 และถ้าทำสำเร็จจริง เราก็จะได้สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งความยากจน เพื่อที่ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน เวลาที่ต้องการ
รู้สภาพของความยากจน จะได้เรียนรู้ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นเมื่อเราไม่มีความยากจนแล้ว พวกเขา
ก็ต้องไปเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์