8.11.13

บันทึก EF2013 6 พ.ย.2556 พบองค์กรสื่อที่ Washington DC

บันทึก EF2013 6 พ.ย. 56 พบผู้ให้ทุน Public Media ผู้กำกับสื่อ และนักวิชาการสื่อที่ DC

ห่างหายจากการ up blog ไปนาน ติดค้างข้อมูลอยู่เยอะมาก นอกจากจะประชุมพบกับบุคลากรในวงการสื่อแล้ว ยังเดินทางหลายเมืองแต่ละเมืองอยู่ประมาณ 2-3 คืน จึงไม่ค่อยเอื้ออำนวย แต่จะพยายามต่อไปค่ะ เรื่องความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในไทยกับการรวมพลังส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับการเร่งรีบผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้เห็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนอีกครั้ง และครั้งนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ หรือ social media มีบทบาทอย่างมาก ที่สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนให้ออกไปร่วมชุมนุมโดยมิได้นัดหมาย แต่เป็นการแสดงพลังอย่างพร้อมใจกัน โดยที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลเร่งรีบออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใด หรือกลุ่มใด แต่ต้องการให้เกิดการตรวจสอบตามหลักนิติรัฐอย่างแท้จริง แม้ข่าวในไทยจะไม่ได้เป็นข่าวเกรียวกราวในสหรัฐ แต่สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง และสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกกับดิฉันว่าดูเหมือนการเมืองไทยจะกลับมาร้อนแรงอีกแล้ว และสิ่งที่คนอเมริกันที่ห่วงใยประเทศไทยฝากบอกคือ หวังว่าจะไม่เห็นความรุนแรงเกิดขึ้นอีกตามท้องถนน เป็นเสียงสะท้อนจากคนอเมริกันท่านหนึ่งที่คุ้นเคยกับประเทศไทยมานาน รักและห่วงใยประเทศไทยไม่แพ้คนไทยเช่นกันค่ะ

6 พฤศจิกายน ดิฉันอยู่ที่กรุงวอชิงตันดีซีค่ะ กลับไปที่เมืองหลวงของสหรัฐอีกครั้งเพราะว่าเป็นนัดแรกๆของต้นเดือนตุลาคมที่ต้องยกเลิกไปเพราะเจอปัญหา Government Shutdown โชคดีที่สับเปลี่ยนเวลาได้ลงตัวได้มีโอกาสกลับไปที่ DC อีกรอบ

กับคุณ Pat Harrison ประธาน CPB 



นัดแรกตอนเช้าพบกับคุณ Pat Harrison ผู้นำหญิงที่ทำงานมาหลายภาคทั้งภาคการเมืองและภาคธุรกิจ ตอนนี้ดำรงตำแหน่งประธาน CPB หรือ Corporate for PBS

อธิบายง่ายๆคือคุณ Pat ผู้ดูแล CPB เป็นผู้คุมกระเป๋าเงินสำหรับสื่อสาธารณะในสหรัฐ ที่มีทั้ง PBS, NPR และ ITVs เป็นต้น โดยเป็นหน้าที่ของ CPB ที่จะเป็นหน้าด่านดูแลสื่อสาธารณะ คอยจัดสรรเงินให้ และคอยต่อรองกับรัฐบาล แต่ละปี CPB จะได้งบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนเงินลดลงมาเรื่อยๆ จากแต่ก่อนที่ได้สูงถึงปีละ 485 หรือ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

งบประมาณที่ CPB ได้จำนวนนื้ จะใช้จัดสรรเพื่อสนับสนุนการพัฒนารายการต่างๆและข่าวของ PBS และNPR เป็นต้น โดยไม่ใช่ว่าแต่ละสถานีของ PBS จะได้งบประมาณเท่าๆกัน เป็นเรื่องที่แต่ละสถานีท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ 360 แห่งทั่วประเทศจะต้องสร้างผลงานให้ประจักษ์ และมีเหตุผลดีมากพอที่จะขอรับเงินสนับสนุนจาก CPB และแนวทางระดมทุนอีกด้านของแต่ละสื่อท้องถิ่นก็คือการหาเงินบริจาคจากคนในท้องถิ่นเพื่อความอยู่รอด และคงไว้ซึ่งปรัชญาของ PBS ถ้าคิดคำนวณโดยเฉลี่ยงบประมาณจากภาษีที่คนอเมริกันจ่ายให้ CPB อยู่ที่ $1.35 ต่อคน ต่อปี ซึ่งต่ำมาก ซื้อกาแฟหนึ่งแก้วยังไม่ได้เลย

คุณ Pat ระบุว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองภายในสหรัฐ และมีความไม่ลงรอยกันสูงระหว่างพรรครีพับลิกัน และเดโมแครต สถานการณ์ ของสื่อสาธารณะยิ่งอันตราย เพราะจะถูกแรงกดดันให้ต้องลดงบประมาณลงเรื่อยๆ คุณแพทบอกอย่างมุ่งมั่นว่าอย่างไรจะไม่มีทางละทิ้งอุดมการณ์ของความเป็นสื่อสาธารณะที่ต้องเน้นทำรายการเพื่อสังคม แม้จะเป็นรายการที่อาจจะขายไม่ได้ในเชิงพาณิชย์ แต่เป็นความจำเป็นของสื่อสาธารณะที่จะต้องคงอยู่เพื่อผลิตงานคุณภาพ ความหลากหลาย และสะท้อนสังคม โดยไม่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของฝ่ายใด รายการที่คุณแพท กำลังมุ่งมั่นมากก็คือรายการเด็ก Hispanic-American ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก และสะท้อนกลุ่มคน Hispanic ที่เป็นฐานใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังกำหนดทิศทางทางการเมืองในสังคมอเมริกันอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มขึ้น

ที่พอจะทำให้อุ่นใจได้ขณะนี้คือ CPB จะได้รับเงินก้อนอย่างน้อย 2 ปีล่วงหน้าเพื่อที่จะรับประกันว่าจะมีเงินในการจัดสรรให้กับสื่อสาธารณะไปจนถึงปี 2016 ซึ่งแต่ละครั้งเงินก้อนที่ผูกพันจะได้รับคำมั่นต่อสัญญาครั้งละ 2 ปีล่วงหน้า ฉะนั้นช่วงนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำงานและเสนอทางออกเพื่อคลายแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองด้วย

คุณแพท เปรยว่าได้รับโทรศัพท์จากนักการเมืองบ่อยในระดับหนึ่ง ที่โทรมาบ่นว่าทำไมบางรายการเนื้อหาเอียง หรือดูเข้าข้างอีกฝ่าย คุณแพทบอกสั้นๆว่า “They just called me directly, but I am not afraid of it” คุณแพทบอกว่าโทรสายตรงมาหาเธอเลย แต่ฉันไม่กลัวหรอก และย้ำว่า CPB ไม่มีหน้าที่ไปกำกับเนื้อหาของ PBS แต่มีหน้าที่พิจารณาให้เงิน PBS มีหน้าที่พิสูจน์คุณภาพกับคนดูด้วยการผลิตรายการที่มีคุณภาพเพื่อประชาชน และต้องระลึกถึงประชาชนส่วนใหญ่ของสหรัฐที่ไม่ยอมจ่ายเงินเป็นสมาชิก Cable TV เพราะว่าด้านหนึ่งอาจจะไม่มีกำลังจ่าย แต่อีกด้านหนึ่งชื่นชมความเป็นสื่อสาธารณะและต้องการติดตามต่อไป


มีนัดต่อที่ FCC และคุณกับอาจารย์ Barbara Cochran จะนำมาเล่าต่อนะคะ 

No comments: