3.1.11

"เด็กๆ" บ้านโฮมฮัก แม่ติ๋ว และ ลูกๆ








ตลอดเวลากว่า 2 ชั่วโมง ที่ได้ไปเยือนมูลนิธิ “บ้านโฮมฮัก” ช่วงบ่ายวันที่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีคุณค่าที่สุดปีหนึ่งสำหรับดิฉันค่ะ ทั้งบรรยากาศพูดคุยอย่างอบอุ่นของเจ้าของบ้านอย่าง “แม่ติ๋ว” คุณสุธาสินี น้อยอินทร์ พร้อมด้วยบรรดาน้องๆชื่อเล่น ขึ้นต้นด้วย “ก” กันทุกคน ต่างมาล้อมหน้าล้อมหลัง “แขก” ผู้ไปเยือนอย่างเรากันแบบไม่เหงาเลยทีเดียว
หลายท่านอาจจะคุ้นหูกับ “บ้านโฮมฮัก” มานาน หลายท่านอาจจะเคยไปเยือนแล้วนะคะ และก็อาจจะคุ้นหูกับชื่อของ “แม่ติ๋ว” ที่เรียกได้ว่ากลายเป็นสัญลักษณ์ของแม่ ผู้ดูแลลูกๆที่ถูกทอดทิ้งเพราะติดเชื้อเอชไอวี หรือว่าพ่อแม่ของน้องๆเหล่านี้จากไปแล้ว แม่ติ๋วก็รับดูแลต่อ “แม่ติ๋ว” รับหน้าที่นี้มา 24 ปีเต็มแล้วค่ะ

ทุกวันนี้คุณแม่วัย 54 ปีคนนี้ มี “ลูก” อยู่ในความดูแลถึง 74 คน มีตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปีที่อยู่ในการดูแลของ “บ้านโฮมฮัก”

วันที่เราไปถึง “น้องกฤต” ทารกชายตัวน้อย วัยยังไม่หย่านม เพิ่งจะได้รับการต้อนรับเข้าสู่บ้านโฮมฮัก “แม่ติ๋ว”กระซิบบอกว่า น้องอาจจะได้รับเชื้อจากแม่ที่ทำงานค้าบริการ เมื่อเกิดปัญหาในช่วงวิกฤติน้ำท่วมที่นครศรีธรรมราชพลัดหลงกับแม่ หมอที่นั่นเลยต้องมาฝากไว้ที่ “บ้านโฮมฮัก” ก่อนเพื่อให้ดูแล แต่วันนี้กำลังได้ข่าวดีว่าทางโรงพยาบาลตามตัวแม่พบแล้ว คงจะได้อยู่กับลูกในอีกไม่ช้า

ตลอดเวลาที่นั่งคุยกับ “แม่ติ๋ว” รู้สึกเหมือนได้ฟังธรรมะ จากชีวิตจริงๆ จากคนที่ต้องเรียนรู้และอยู่กับความทุกข์ของเด็กที่ต้องลืมตามาดูโลกพร้อมกับเชื้อ HIV ขณะที่แม่ติ๋วเองก็สุขภาพไม่ดี กำลังป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ เวลาที่แม่ติ๋วเล่า บางครั้งดิฉันก็จะเสริมบ้าง ว่าฟังดูเศร้าจังเลยนะคะ อย่างเช่นว่า รุ่นน้องต้องเตรียมต่อโลงศพให้รุ่นพี่ เพราะความตายมาเยือนได้ทุกวินาที พอดิฉันบอกว่าเศร้า แม่ติ๋วบอกว่า “ไม่เศร้าหรอก เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความพลัดพรากให้ได้”

แม่ติ๋วบอกว่า พูดถึงความตายคนเรามี 3 อย่าง “กลัวตาย รับรู้ว่าจะตาย และพร้อมจะตาย ซึ่งอาการต่างกัน กลัวตายคือปฏิเสธความตาย รับรู้ว่าจะตายก็จะพยายามต่อสู้เพื่อหนีความตาย ขณะที่พร้อมที่จะตายคือยอมรับความตาย และพร้อมที่จะอยู่อย่างมีสติ ใช้เวลาทุกนาทีอย่างมีค่า เพื่อทำช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดคุณค่า มีความสุขมากที่สุด”

แม่ติ๋วบอกว่า ทุกวันนี้ใจนิ่ง ใจสบาย แล้ว คงจะเป็นอย่างที่ว่าจริงๆเพราะดูหน้าตาสดชื่น แม้จะโดนโรคภัยเบียดเบียน
พลังแห่งความสุขนี้คงจะถ่ายทอดไปถึงน้องๆที่ “บ้านโฮมฮัก” ค่ะ
เด็กๆดูเล่นซนกันสนุก มีทะเลาะกันบ้างเล็กน้อย แต่ก็ใช้เวลาอยู่ร่วมกันได้แบบสบายๆ พี่ๆดูแลน้องๆ น้องบางคนฝึกเป็นไกด์แล้ว ช่วงที่นั่งคุยกับแม่ติ๋ว จะมีน้องๆมารุมล้อม แวะเข้ามานั่งพูดคุย ห้อมล้อมกับดิฉัน อย่างน้องแก้วจะมาขลุกอยู่ใกล้ๆ แถมยังวาด ส.ค.ส. ปีใหม่ให้พวกเราด้วย บอกว่า “ขอให้ผู้ใหญ่มีความสุข” ดิฉันถามว่าไม่อยากให้เด็กมีความสุขบ้างเหรอ น้องแก้วได้แต่ยิ้ม

เรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสังคมภายนอก น้องๆ ที่นี่ทุกคนจะถูกฝึกให้ทำใจยอมรับ แม่ติ๋วเล่าให้ฟังว่า บางครั้งหลังกลับจากโรงเรียน “ลูก” เล่าให้ฟังว่าถูกเรียกว่า “อีเอดส์” แม่ติ๋วก็จะสอนลูกว่าอย่าไปโกรธ ก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นโรคนี้จริง แต่ก็จะสอนว่าเราก็สามารถอยู่รวมกับสังคมได้ ถ้าไมไหวจริงๆก็ต้องย้ายโรงเรียน ส่วนใหญ่ในระดับนักเรียนด้วยกันจะไม่มีปัญหา แต่จะเป็นในระดับครูหรือผู้ปกครองที่เป็นห่วงเกรงบุตรหลานจะติดโรค แม่ติ๋วบอกว่าส่วนหนึ่งที่ต้องต่อสู้ตรงนี้ เพราะต้องการอธิบายต่อสังคมว่าในความเป็นจริงผู้ป่วยเอดส์ อยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้โดยจะไม่แพร่เชื้อ จนถึงวันนี้มี “ลูกๆ”หลายคนที่เรียนจบถึงขั้นปริญญาแล้ว

ส่วน “น้องพิม” มีอาการชักบ่อย คล้ายกับเรียกร้องความสนใจ พอชักแล้วมีคนไปอยู่ใกล้ๆจะยิ่งชักหนัก แม่ติ๋วบอกว่า สังเกตดูแลเลยลองบอกผู้ช่วยว่าถ้าชัก ลองไม่เข้าไปรุม เดี๋ยวก็หายเอง ปรากฏว่าจริงๆ น้องพิมหายเอง และชักน้อยลง และอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทุกวันนี้การบริหารงานและภาระค่าใช้จ่ายของ “บ้านโฮมฮัก” คือความท้าทายสำคัญ น้องๆแต่ละคนมีค่าใช้จ่าย 12,000 บาท ต่อเดือนสำหรับยารักษาเชื้อ HIV ทั้งบ้านเด็กราว 74 คน รายจ่ายรวมกว่า 700,000 บาท! ต่อเดือน!

ตอนที่ไปเห็นอาคารใหญ่ของบ้านโฮมฮัก ดิฉันนึกว่าได้เงินประจำจากสถานทูตญี่ปุ่น เพราะเห็นมีคำจารึกไว้ แม่ติ๋วบอกว่าได้เงินตอนเปิดบ้าน 10 ปีแรก จากนั้นได้เงินก้อนที่สอง 10 ปีให้หลัง แต่ไม่ได้เป็นประจำ ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายหนักมากกับการหาเงินให้ได้เดือนละ 700,000 บาท บางเดือนต้องใช้วิธีเป็นวิทยากรรับเชิญ บรรยายพิเศษตามสถานที่ต่างๆก็พอจะหมุนเงินได้บ้าง แต่บางเดือนถ้าไม่ไหวจริงๆก็ต้องไปกู้เพื่อนๆ แต่แม่ติ๋วย้ำว่าจะไม่ใช้วิธีนี้บ่อยนัก เพราะไม่อยากฝึกนิสัยให้เด็กๆคิดว่าพอไม่มีเงินก็ต้องไปยืมคนอื่น

แม่ติ๋วมีลูกสาวด้วย ชื่อ น้องเกี้ยว ที่เรียกว่าเชื้อไม่ทิ้งแถวจริงๆ ตอนนี้เป็นนักเคลื่อนไหว บุกลุยเข้าไปทำงานที่โขงเจียม ประเทศ สปป.ลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงลาวที่ต้องขายบริการ สอนเรื่องเพศศึกษาและการใช้ถุงยางอนามัย น้องเกี้ยวบอกว่าความรู้ที่ได้ก็ต้องนำมาใช้สอนน้องๆที่เริ่มจะเป็นเด็กวัยรุ่นที่ “บ้านโฮมฮัก”ด้วย เพราะเป็นเรื่องจำเป็นและเด็กๆควรจะได้เรียนรู้เพื่อจะไม่ไปแพร่เชื้อ

แม่ติ๋วบอกว่า เห็นลูกลุยอย่างนี้ พอจะเอ่ยปากห้าม หรือตักเตือนอะไรก็จะยั้งไว้ เพราะเหมือนเป็นกระจกเงาสะท้อนในวัยนักศึกษา ที่ได้ออกค่ายไปช่วยเหลือผู้คนในชุมชน ลุยๆ แบบที่น้องเกี้ยวทำอยู่ตอนนี้ด้วย

เรื่องการสานต่องานของ “บ้านโฮมฮัก” ที่แม่ติ๋วบอกว่าได้รับการติดต่อจาก “เสถียรธรรมสถาน” เพื่อดูแลต่อในกรณีที่แม่ติ๋วเป็นอะไรไป ณ วันนี้ดูเหมือนภารกิจที่อยู่ตรงหน้า ก็คือการให้คำมั่นแล้วว่าหลังปีใหม่จะปั่นจักรยานจาก กรุงเทพ สู่ เขาหลัก เพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์สึนามิครบรอบ 6 ปี ไม่มีคำว่า “รอ” อีกต่อไปแล้ว สำหรับ “แม่ติ๋ว” และ “ลูกๆ” แห่ง “บ้านโฮมฮัก” เมื่อ “ปัจจุบัน”คือเวลาที่ สำคัญที่สุดสำหรับสมาชิกแห่งบ้านที่เป็น “ศูนย์รวมความรัก” แห่งนี้

สนใจเสริมสร้างปัจจุบัน เพื่อ “อนาคต” ของน้องๆได้ที่
“บ้านโฮมฮัก”
มูลนิธิ สุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน
เลขที่ 3 หมู่ 12 ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร 35000
โทร 045-722241, 045-580200 มือถือ 081-075-4953, 082-153-7995, 084-474-4755
Email noiin_su@yahoo.com

หรือ
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขายโสธร ชื่อบัญชี มูลนิธิ สุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน
บัญชีเลขที่ 561-2-21181-7
ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขายโสธร ชื่อบัญชี มูลนิธิ สุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน
บัญชีเลขที่ 437-2-13090-8
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขายโสธร ชื่อบัญชี มูลนิธิ สุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน
บัญชีเลขที่ 129-2-57021-6

No comments: