20.11.08

ระดมสมอง เรื่อง Human Rights ในอาเซียน

วันที่ 15-18 ธันวาคม ประเทศไทยกำลังจะมีงานใหญ่ ที่เป็นหน้าเป็นตาระดับภูมิภาคและระดับโลกค่ะ กับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (Asean Summit) ในวาระที่ไทยเป็นประธานอาเซียน เป็นเวลายาวนานถึง 18 เดือน ที่จะไปสิ้นสุดช่วงกลางปี 2552 หมายความว่าไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดงานสุดยอดผู้นำอาเซียน 2 ปีซ้อนค่ะ

ถ้าในยามบ้านเมืองปกติ สถานการณ์การเมืองเรียบร้อยก็คงไม่น่าหนักใจอะไรนักกับงานใหญ่แบบนี้ เพราะไทยเองก็เคยพิสูจน์มาแล้วว่าจัดงานได้ดี แต่ในยามนี้ก็คงจะต้องลุ้นกันพอสมควรค่ะ เริ่มแรกก็สถานที่จัดงาน ที่ตอนแรกวางไว้ว่าจะจัดในกรุงเทพ ตอนนี้ก็ต้องย้ายไปเชียงใหม่แน่นอนแล้ว

แต่ก็จะมาปิดงานกันที่กรุงเทพค่ะ และจะมีอีกงานสำคัญถัดไปทันทีก็คืองานสนทนาระดับโลก "Global Dialogue" งานนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ที่เชิญผู้นำองค์กรระดับโลกอย่าง สหประชาชาติ ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และอื่นๆ มากระทบไหล่กันที่เมืองไทย ในวันที่ 18 ธันวาคม

ไทยก็จะอยู่ในสายตาชาวโลกกันอีกครั้งค่ะในวันนั้น จับตาดูสื่อต่างๆให้ดี ที่บรรดากระจิบข่าวทั้งหลายทั่วโลกจะต้องมารวมกันที่กรุงเทพมหานคร

วันนั้นก็คงจะยังไม่ได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ (!?!) ก็ต้องรับมือกันไปค่ะ

ตามหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา...อยู่กับปัจจุบัน แก้ปัญหากันไปทีละวัน อย่าไปกังวลมาก (เกี่ยวกันหรือเปล่า?)

ที่เล่ามาก็เพื่อจะบอกว่า วันนี้ไปนั่งฟังงานรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ที่กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้จัด

มีประเด็นสำคัญมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชน

เรื่อง Human Rights นี่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับวัฒนธรรมเอเชียนะคะ และที่ยิ่งน่าแปลกใจ ระคนน่าตกใจในคราวเดียวกันก็คือ มีเพียง 4 ประเทศในอาเซียนเท่านั้น ที่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย อีกสามคื่อ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

แล้วอีก 6 ประเทศอาเซียนที่เหลือไม่มี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ !!!

น่าตั้งคำถามมากกว่า เมื่ออาเซียนต้องการผลักดัน Human Rights Body แล้วประเทศอาเซียนทั้ง 10 จะทำงานร่วมกันอย่างไร มองประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนตรงกันหรือเปล่า แล้วเมื่อมีกลไกแล้วจะเข้าไปก้าวก่าย หรือแสดงความเห็นในกิจการภายในของประเทศอื่นได้หรือไม่

ยกตัวอย่างใกล้ตัว อย่างกรณีกรือเซะ หรือ ตากใบ ของไทย ไทยจะยอมให้ประเทศกัมพูชา หรือ พม่า แสดงความคิดเห็นในการจัดการได้หรือไม่ หรือในทางกลับกัน พม่าจะยอมให้ไทยแสดงความเห็นเหรอว่า ชาวพม่าไม่ได้รับสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง นี่ยังไม่ต้องถามถึงประเด็นในประเทศอื่นๆ อย่างเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์

งานพูดคุยกันวันนี้เป็นยกแรกเท่านั้นนะคะ

จากนี้คณะทำงานก็ต้องเร่งจัดทำกรอบการทำงาน และเสนอร่างสุดท้ายให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เห็นชอบในเดือนกรกฎาคม ปีหน้า

โดยรวมแล้ว มีแนวคิดก็ย่อมดีกว่าไม่ดีค่ะ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และความเปลี่ยนแปลงในที่สุด

Change....Yes, we can.

ขอสรุปแบบทันสมัย เข้ากับสโลแกน ของโอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐค่ะ

หมายเหตุ ภาพจาก Human Rights Education Team

No comments: