19.10.13

บันทึก EF2013 17-18 ตุลาคม 2556 ONA13 "Nate Silver" 538

17-18 ตุลาคม 2556 #ONA13 Atlanta, Georgia
Online News Association Conference

อยู่ที่งานประชุม ONA13  หรือสมาคมนักข่าวออนไลน์ เป็นงานระดมสมอง ประชุมและ workshop ที่เกี่ยวข้องกับยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Journalism มีหลากหลายประเด็นที่เปิดเวทีพูดคุยกันในงาน ONA13 เสมือนเป็นตลาดนัดในแวดวงสื่อยุคดิจิตัล ที่มีหลากหลายห้องให้เดินเลือกช๊อปเพื่อเข้าไปนั่งฟังกันอย่างเต็มที่เป็นเวลา 3 วันเต็ม






ปีนี้สำหรับเจ้าภาพจัดงานคือบรรดากรรมการของ ONA บอกว่าเมื่อได้มาจัดงานประชุมที่ Atlanta ถือว่าเป็นการยกระดับงานประชุมขึ้นไปอีกขึ้น เพราะว่า Atlanta เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการประชุมระดับนานาชาติ ปีนี้มีนักข่าวมาร่วมงานกันไม่ต่ำกว่า 600 คน เป็นไปอย่างคึกคักยิ่งนัก เดินเข้าห้องนู้น ออกห้องนี้ เลือกกันตามชอบใจว่าใครสนใจหัวข้อไหน เดินเข้าไปฟังได้ตามใจชอบ

ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เปลี่ยนผ่านของวงการสื่อ ปฏิเสธไม่ได้กับดิจิตัลเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ หลายๆวงที่ตั้งขึ้นมาคุยเรื่องนี้มักจะใช้คำว่า “engage and conversation” หมายถึงว่าสื่อเองต้องทำงานแบบพูดคุยสร้างสัมพันธ์ และพูดคุย ติดตามงานมากขึ้นทั้งก่อนและหลังการออกอากาศหรือการเผยแพร่งาน

ฉันไปนั่งฟังหลายๆห้องแล้วพอจะรับรู้ได้ถึงบรรยากาศการพูดคุยเรื่อง “Digital Journalism” กับบทบาทเทคโนโลยีที่กำลังหลั่งไหลเข้าหาวิชาชีพสื่อ ซึ่งไม่ต้องถามแล้วว่าจะรับหรือไม่รับ คำถามนี้คงเชยไปแล้ว เพราะว่าถ้าไม่รับคงอยู่ไม่ได้ ที่ต้องถามคือจะปรับตัวอย่างไรมากกว่ากับการใช้เทคโนโลยี สื่อสังคมออนไลน์ จะใช้ขนาดไหน ในระดับใด เพื่อเอื้อต่อการทำงานทั้งในระดับปัจเจก และระดับองค์กรให้มากที่สุด เส้นบางๆที่แบ่งว่า คนนี้คือช่างภาพข่าว นักข่าว นักเขียน คนทำเวป อาจจะกำลังค่อยๆเลือนหายไป เพราะทุกคนต้องทำให้ได้ทั้งหมดเพื่อเป็น “digital journalist”  แต่ขณะเดียวกันจะลืมไม่ได้เป็นเด็ดขาดถึง อาวุธ สำคัญของการเป็นคนข่าว คือ ทักษะในการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบข้อเท็จจริง ความแม่นยำ การวิเคราะห์ และการเล่าเรื่องทักษะพื้นฐานเหล่านี้จะยังคงความเป็นหัวใจของวิชาชีพสื่อต่อไป แต่ที่เข้ามาแล้วก็คือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังท้าทายคนในวงการสื่อเป็นอย่างมาก ว่าจะ อยู่หรือไป

ส่วนหนึ่งที่การประชุม ONA13 เป็นที่กรี๊ดกร๊าดฮือฮา อย่างมากก็คือมี “Nate Silver” มาเป็นผู้บรรยายในเวทีใหญ่ เรื่องทักษะของนักข่าวกับการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ คุณ Nate เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในความเป็นนักเขียน นักสถิติ และนักข่าวของ สร้างชื่ออย่างมากกับความแม่นยำคะแนนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2008 และ 2012 เจาะรายละเอียด คาดการณ์ได้แม่น จนโพลล์หลายสำนักยังต้องอาย โดยวิเคราะห์ผ่านเวปไซต์ FiveThirtyEight.com


วันนี้ Nate มาบรรยายแบบสบายๆ แต่เต็มไปด้วยเนื้อหา เรื่องทักษะของนักข่าวกับการอ่านค่าสถิติต่างๆ Nate ระบุว่ายิ่งนักข่าวอยู่ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่วันๆมีข้อมูลไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านล้านไบท์ ยิ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากว่า จะทำอะไรกับข้อมูลมากมายแบบนี้: how the hell to do with data”

Nate แนะนำพร้อมสไลด์ที่เตรียมมา 8 ห้วข้อใหญ่ๆคือ
1.      Statistics aren’t just numbers  สถิติไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขเท่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงบอกว่าตัวเลขคือเท่าไร เปอร์เซ็นต์คืออะไร เพราะถ้าไม่เข้าใจและอธิบายไม่ได้ ตัวเลขจะไม่มีความหมาย
2.      Data requires context
ข้อมูลต้องการบริบทในการทำความเข้าใจ อย่างเช่น นักข่าวมักจะรายงานว่าจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองของโลก บอกแค่นี้อาจจะไม่ได้มีความเหมายอะไรเลย เพราะที่จริงต้องอ่านให้ลึกลงไปว่าที่จริงรายได้ประชากรต่อหัวต่อปี ของคนจีนยังต่ำมาก อยู่ที่อันดับ 93 ของโลก เพราะฉะนั้นถ้าจะเทียบในเชิงสังคม ความใหญ่ของเศรษฐกิจจีนในเชิงจีดีพี คงไม่ได้มีความหมายกับประชากรจีนโดยรวม เพราะคนส่วนใหญ่ยังยากจน

3.      Correlation is not causation ต้องพยายามหาที่มาที่ไปของตัวเลขให้ได้ ไม่ใช่เห็นตัวเลขแล้วรายงานไปตามนั้น เพราะว่านักข่าวทีดีจะต้องถามคำถามที่ดีจากข้อมูลที่มีอยู่ เป็นทักษะที่ต้องพัฒนา
4.      Take the average, stupid.
อย่าเชื่อในเรื่องค่าเฉลี่ย นักข่าวที่ดีจะต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียด มิใช่บอกแค่ในภาพรวมๆ อย่างเช่น ประธานาธิบดีโอบามามีคะแนนนำในรัฐนู้น รัฐนี้
5.      Intuition is a poor judge of probability
สัญชาตญาณไม่ใช่ตัวตัดสินความน่าจะเป็น อย่าเชื่อหรือคิดไปเองว่าแนวโน้มจะเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้
6.      ควรมีทักษะอ่านสูตรคณิตศาสตร์ระดับพื้นฐานได้
7.      Insiderism is the enemy of objectivity
พยายามอย่าปักใจเชื่อข้อมูลจากวงในเพราะจะทำให้ขาดความเป็นกลาง หรือขาดการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ผู้สื่อข่าวต้องมั่นคงไม่ตกเป็นเหยื่อของความพยายามปล่อยข่าว หรือปล่อยตัวเลขต่างๆ แต่ควรต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ต้วเลขด้วยตนเอง
8.      Making predictions improve accountability
ความกล้าที่จะคาดการณ์จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับคุณ อาจจะเริ่มจากมีสมมุติฐานก่อนว่าถ้าผิดจะเป็นอย่างไร

Nate บอกว่าขอให้ลองคิดถึงทักษะที่ใกล้เคียงกันระหว่างความเป็นนักข่าว นักสถิติ หรือนักเศรษฐศาสตร์ ทั้งหมดล้วนต้องอาศัยข้อมูล ฉะนั้นทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล และตัวเลข เป็นเรื่องจำเป็นมาก และเป็นทักษะพื้นฐานที่นักข่าวจะต้องรู้ คุณเนท ระบุว่าไม่จำเป็นต้องรู้ในเชิงเทคนิคเท่ากับนักสถิติ แต่นักข่าวต้องตีความได้ และนำมาประยุกต์เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมได้


สนใจหาอ่านเพิ่มเติมถึงความฮิตของ 538 เชิญอ่าน FiveThirtyEight.com 

ONA 13 เชิญอ่านในเวปอย่างตื่นตาตื่นใจ 

No comments: