23.10.13

บันทึก EF2013 21-22 ตุลาคม 2556 "48 ชั่วโมงที่ Portland, Oregon"

บันทึก EF 21-22 ตุลาคม 2556
48 ชั่วโมงใน Portland รัฐ Oregon
#EF2013 

แว้บเดียวจริงๆกับเวลา 48 ชั่วโมงที่เมืองพอร์ตแลนด์ ผ่านไปไวเหมือนสายลม แต่กว่าจะไปถึงเยือนพอร์ตแลนด์มีลุ้นกันนานทีเดียวค่ะ 20 ตุลาคม ตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อที่จะไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินแอตแลนต้า เพื่อต่อไปพอร์ตแลนด์ ปรากฏว่าพอไปถึงอาคารผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่บอกว่าขอโทษด้วยที่เครื่องจะล่าช้าออกไป 2 ชั่วโมง ระลอกแรกก็ไม่เท่าไร พอจะเข้าใจ พอไปปนั่งรอตรงทางขึ้นเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ประกาศว่าจะช้าออกไปอีก 3 ชั่วโมง รวมแล้วคือเที่ยวบินนั้นช้าไป 5 ชั่วโมง  ได้แต่เซ็งนิดหน่อย แต่พอหันไปรอบๆตัวเห็นผู้โดยสารคนอื่นก็คงเซ็งคล้ายๆกัน และต้องอดทนรอเช่นกัน ฉันเลยหายเซ็ง ยอมรับชะตากรรม สนุกกับการอ่านหนังสือ และการรอคอยต่อไป

ได้นั่งเครื่องบินเกือบ 5 ชั่วโมงเต็มโดยปลอดภัย ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะทางสายการบิน Delta Airlines บอกว่าที่เที่ยวบินล่าช้าเพราะว่าต้องนำเครื่องไปเช็คที่ญี่ปุ่น เสร็จแล้วถึงมาแวะรับผู้โดยสารที่แอตแลนต้า เพื่อพาไปส่งที่พอร์ตแลนด์ ความปลอดภัยสำคัญที่สุด (แม้จะต้องรอนานก็ตาม)

โชคดียังพอไปถึงได้เห็นแสงแดดชั่วโมงสุดท้ายในพอร์ตแลนด์ ก่อนที่ตะวันจะลับฟ้า และพอได้มีเวลานิดหน่อย ไปชื่นชมร้านหนังสือ Powell’s Books ร้านขนาดใหญ่ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำเมือง อวดต่อสายตาผู้ไปเยือนว่าเมืองเล็กที่ไม่เล็กอย่างพอร์ตแลนด์ มีร้านหนังสือที่ใหญ่น่าประทับใจขนาดนี้ เข้าไปดูแล้วละลานตามากค่ะ หัวใจเต้นแรง เมื่อเห็นหนังสือเรียงรายวางอยู่บนชั้นต่างๆ เดินไล่เรียงดูอย่างเพลิดเพลิน เสียดายเวลาน้อยไปหน่อย แต่ได้ไปเยือนก็ชื่นใจมากแล้ว

พอร์ตแลนด์เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในรัฐออรีกอน แต่ขนาดใหญ่ที่สุดแล้วประชากรรวมที่นี่ยังไม่ถึง 600,000 คนค่ะ พอร์ตแลนด์ขึ้นชื่อเรื่องความน่าอยู่ ความเป็นเมืองที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และคนมีการศึกษา มีความคิดก้าวหน้า  แต่ที่สังเกตคือมีคนไร้ที่อยู่อาศัยเดินตามถนนหนทางไม่น้อย

Portland, Oregon, the U.S. 

นัดแรกของวันที่ 21 ตุลาคม ฉันได้พบกับ ศ. Steven Ward อาจารย์ชาวแคนาดา ผู้อำนวยการศูนย์ Turnbull Center ที่มหาวิทยาลัยแห่งออรีกอน อาจารย์ Ward เป็นผู้ศึกษาด้านจริยธรรมสื่อมายาวนาน และเมื่อคุยเรื่องนี้เพลินมาก รู้เลยว่าอาจารย์ อิน หรือว่าสนอกสนใจในเรื่องที่ศึกษาอย่างจริงจัง Turnbull Center  เน้นหลักสูตรสอนผู้สื่อข่าวให้เก่งรอบด้านในการใช้สื่อ โดยเปิดอบรม 2 ด้าน 1. Multimedia journalist 2. Strategic Communications

Turnbull Center, University of Oregon. 



ถามอาจารย์ Ward ว่ามองว่ารูปแบบการทำสื่อ ทั้งสื่อระดับองค์กร และระดับบุคคลจะพัฒนาไปในรูปแบบใด อาจารย์ตอบตรงๆว่าไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะถ้ารู้รูปแบบก็คงรวยไปนานแล้ว ต้องยอมรับว่าการทำสื่อขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเงินสนับสนุนอยู่มาก คนทำสื่อถ้าไม่มีเงินทุนสนับสนุนก็คงไม่มีงานทำ หรือไม่มีทางพัฒนางานตนเอง

ต้องยอมรับว่าเรื่องทุนเป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อตอนนี้มีสื่อสังคมออนไลน์ ที่คนทั่วไปเป็นนักข่าวได้ ยิ่งเป็นเสมือนสัญญาณว่าสื่อที่ต้องการทำงานสื่อเป็นอาชีพยิ่งต้องปรับตัว

อ.วาร์ด มองว่าจริยธรรมจะสร้างความแตกต่างให้กับสื่อที่ต้องการอยู่ยงคงกระพันในอาชีพนี้ และเป็นหนทางที่จะสร้าง ความน่าเชื่อถือ และยี่ห้อของตนเอง ยิ่งสื่อสังคมเอื้อให้คนกระจายข่าว รายงานข่าวกันมากขึ้น คนที่ทำงานสื่อยิ่งต้องมีจริยธรรมมากขึ้น และยิ่งต้องเห็นคุณค่าของจริยธรรมสื่อ อ.วาร์ด อธิบาย

อ.วาร์ด แนะนำว่า สื่อทุกคนควรมองว่าตนเองเป็นสื่อมวลชนที่ทำงานในระดับโลก ไม่ได้อยู่แค่ในระดับท้องถิ่นอีกต่อไป และสื่อใหม่กำลังสร้างประชาธิปไตยในวงการสื่อ เรียกว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ แห่งสื่อ ฉะนั้นจริยธรรมยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเพื่อที่จะยกระดับคุณภาพของงานให้ได้มาตรฐานมากขึ้น

เรื่องจริยธรรมสื่อ และเสรีภาพสื่อ เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยอาจารย์ย้ำว่าเสรีภาพต้องมากับความรับผิดชอบ อ.วาร์ด บอกว่าไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับการเปิดเผยทุกอย่างอย่างโจ่งแจ้ง อย่างที่ Julian Assange หรือ Wikileaks พยายามทำ บอกว่าเห็นด้วยในระดับหนึ่ง แต่บางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ เกี่ยวข้องกับความลับทางทหาร เห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและไม่ควรจะเปิดเผยอย่างหมดเปลือก เพราะว่าจะส่งผลต่อความปลอดภัยของคนในชาติ เมื่อสื่อได้รับข้อมูลมาจะต้องพึงใช้วิจารณญาณในการนำเสนอ ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งกับเสรีภาพสื่อ และจริยธรรมในการนำเสนอ

อาจารย์บอกว่าไม่เคยมียุคไหนที่การนิยามจริยธรรมสื่อจะยากเท่ากับยุคนี้อีกแล้ว เพราะเมื่ออินเตอร์เนต สื่อสังคมมีบทบาทมากขึ้น คนมีเสรีภาพมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้น คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่าอะไรจะเปิด อะไรจะปิด จะเผยอะไรได้มากขนาดไหน จะปิดจะบังข้อมูลอะไรไว้ เหล่านี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต่างกับสมัยก่อนที่ผู้สื่อข่าวอาจจะยึดตามตำรา

แต่เมื่อไม่มีสูตรตายตัว สื่อที่พยายามจะยกระดับมาตรฐานในการทำงาน ยิ่งต้องยึดหลัก ตรวจสอบที่มาที่ไปของข้อมูลเพื่อให้มั่นใจในสิ่งที่รายงาน อาจารย์พูดไว้หนึ่งประโยคที่น่าสนใจมากว่า “Competition should not be fighting to be right first, but getting right first” และต้องพยายามไม่ทำตัวเป็น “cowboy” หรือเสือปืนไว ในการเปิดเผยข้อมูล เพราะว่าการรายงานอย่างถูกต้อง แม่นยำ แม้จะช้ากว่า จะมีคุณค่ามากกว่า

อาจารย์ Ward เชื่อว่าสื่อกระแสหลัก สื่อรายใหญ่ๆที่ทำงานชิ้นใหญ่ๆจะอยู่ได้ต่อไป แต่จะต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน และหาแนวร่วมทำงานร่วมกับสื่ออิสระ สื่อเล็ก สื่อน้อย ต่างสำนักมากขึ้น โดยรวมคือสื่อทุกประเภทต้องปรับตัว จะอยู่โดดๆได้ยาก สถานการณ์จะซับซ้อนมากขึ้น หลายชั้นมากขึ้น แต่ก็จะได้ร่วมมือกันมากขึ้นเช่นกัน

อีกสื่อที่ได้ไปเยี่ยมคือ Oregon Public Broadcasting สื่อสาธารณะแห่งรัฐออรีกอน ที่เป็นส่วนหนึ่งของ PBS รูปแบบการทำงานคล้ายกับ GPB หรือ Georgia Public Broadcasting ที่ฉันไปเยือนมาแล้วก่อนหน้านี้ที่แอตแลนต้า



ทางเข้า OPB

บริเวณทางเข้า OPB นำเครื่องไม้เครื่องมือตั้งแต่วันเริ่มเปิดสถานีเมื่อ ค.ศ. 1922 มาโชว์ให้ดู และอุปกรณ์ในยุคถัดๆมา เห็นแล้วอดยิ้มไม่ได้ ว่าเครื่องมือสมัยก่อนดูใหญ่และเทอะทะมาก หมดสิทธิ์ที่คนทำงานสื่อรุ่นปัจจุบันอย่างฉันจะบ่นว่าอุปกรณ์หนัก เพราะสมัยนี้เบาและกะทัดรัดมากขึ้น เอื้อต่อการทำงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นจงอย่าบ่น แต่จงเดินหน้าทำงานต่อไป J

OPB มีรายงานที่ผลิตเองสามรายการ เป็นรายการด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และประวัติศาสตร์ เน้นการให้ความรู้กับคนท้องถิ่นในรัฐออรีกอนเป็นหลัก รายการข่าวส่วนใหญ่เป็นรายการวิทยุที่ประสานเรื่องเนื้อหากับวิทยุบีบีซี  OPB อายุใกล้จะ 100 ปีเต็มแล้ว ทุกวันนี้มีพนักงานประจำประมาณ 177 คน

ที่เหมือนกันอย่างมากสำหรับ OPB และ GPB คือรายการยอดฮิตคือ Downton Abbey ซีรีย์สดังจากประเทศอังกฤษ กลายเป็นว่ารายการฮิตสำหรับคนอเมริกันเป็นละครเกี่ยวกับประวัติศาตร์ และชีวิตคนอังกฤษ

OPB เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งสำหรับคนที่พอร์ตแลนด์ และรัฐออรีกอน มีคนจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจไม่ดูช่องเคเบิล เช่น CNN หรือ MSNBC และดูเฉพาะสถานีหลักอย่าง ABC NBC CBS และ PBS เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ คนขับแท็กซี่คนหนึ่งที่ฉันได้คุยด้วยที่พอร์ตแลนด์ บอกว่าชื่นชม OPB มากเพราะเป็นเสมือนต้วแทนของคนออรีกอนได้เป็นอย่างดี หมายถึงว่ารายการมีคุณภาพและสะท้อนว่าคนมีคุณภาพเช่นกัน

Morgan Holm, Senior VP Content Officer, OPB 
คุณมอร์แกน ฮอล์ม ผู้บริหาร OPB บอกให้ฟังอย่างใจเย็นๆว่า ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าระยะยาว OPB จะปรับตัวอย่างไร กับกระแสเติบโตของ social media ตอนนี้ยังมองสถานการณ์ไม่ออกเช่นกัน แต่นโยบายก็คือให้ความสำคัญมากขึ้น ลงทุนมากขึ้น และหันมาทำสารคดียาวๆ เน้นการผลิตงามๆ เพื่อลง ipad สนใจหาดาวน์โหลด ipad ได้โดยพิมพ์คำว่า OPB ค่ะ

ทุกวันนี้ OPB อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป และภาคธุรกิจเป็นหลัก และช่วงหลังพยายามขอทุนจากกลุ่มผู้สูงอายุ ว่าขอให้ทำพินัยกรรมยกมรดกหรือเงินให้กับ OPB เมื่อเสียชีวิต ปรากฎว่ารายได้จากส่วนนี้เป็นกอบเป็นกำ ช่วยต่อลมหายใจให้กับ OPB ได้อย่างมาก

คุณมอร์แกน เชื่อมั่นว่าหัวใจสำคัญที่สุดของ OPB คือคุณภาพและชื่อเสียงที่สะสมมาเกือบ 100 ปี ที่ทำให้คนดูเชื่อมั่นว่าถ้าอยากรับรู้ข่าวสาร รายการที่เป็นกลาง โดยที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องมาที่ช่องนี้

มาพอร์ตแลนด์ช่วงนี้กำลังสวนเลยค่ะ อากาศไม่หนาวมาก และได้เห็นใบไม้กำลังเปลี่ยนสีพอดี สวยงามสดชื่นมากทีเดียว คนที่พอร์ตแลนด์บอกก่อนหน้านี้ฝนตกตลอด ฉันมาจังหวะดีมาก เอาละแม้จะเวลาน้อยแต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามาก


ต้องลาแล้วสำหรับเมืองน่ารักแห่งนี้ “City of Roses” หรือ Stumptown หรือ PDX  เหล่านี้ล้วนหมายถึง Portland ค่ะ ///

No comments: