17.8.08

สื่อสาธารณะ กับ สื่อของ "รัฐ"

อย่างน้อยก็ 3-4 สัปดาห์แล้วค่ะ ที่นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช พาดพิงถึงทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ที่ออกอากาศทางช่อง NBT ทุกเช้าวันอาทิตย์

วันอาทิตย์นี้ คุณสมัครพูดถึง “ช่อง 6 ที่ได้งบปีละ 2,000 ล้านบาท” และแสดงท่าทีไม่พอใจรายงานที่ออกอากาศทางทีวีไทย เรื่องการประท้วงของเด็กนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะต่อการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยบอกว่าอย่างไรก็ต้องสร้างอาคารรัฐสภาและไม่ใช่เรื่องที่เด็กๆจะมาประท้วงเพราะโรงเรียนจะย้ายออกไปไกลเพียง 1,700 เมตรจากที่ตั้งในปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีคงจะลืมไปว่า นักเรียนมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกทางประชาธิปไตย เพราะนักเรียนไม่ได้รับการปรึกษาหารือก่อนเลยเรื่องการเปิดทางให้สร้างอาคารรัฐสภาใหม่บนพื้นที่ของโรงเรียน

ที่สำคัญทีวีไทยไม่ได้สร้างสถานการณ์ หรือไม่ได้จัดฉากให้นักเรียนประท้วง แต่ทีวีไทยเพียงทำหน้าที่รายงานข่าว สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะ

นอกจากนั้น คุณสมัคร ยังกล่าวถึงรายการ “ความจริงวันนี้” ทางช่อง NBT ว่าเป็นรายการที่มีคุณภาพ คลาสสิค ผิดกับช่อง ASTV ที่มีเนื้อหาโจมตีรัฐบาล

ตอนปิดท้ายรายการสนทนาประสาสมัคร นายกรัฐมตรียังพูดด้วยว่าเมื่อมีสถานีอย่าง ASTV ก็จำเป็นที่จะต้องมีการตอบโต้จากทางรัฐบาล จึงน่าจะสมเหตุสมผลที่มีรายการความจริงวันนี้ และมีรายการสนทนาประสาสมัครทุกวันอาทิตย์

คุณสมัครอาจจะลืมไปอีกเช่นกันว่าช่อง NBT นั้นเป็นช่องของ “รัฐ” (ซึ่งหมายถึงของประชาชนไม่ใช่รัฐบาล) ที่จะต้องทำหน้าที่สื่ออย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรจะเป็นพื้นที่ที่ให้รัฐบาลหรือผู้สนับสนุนรัฐบาลนำมาโจมตีกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับตน

เมื่อคุณสมัครพูดถึงความไม่ชอบมาพากลของ ASTV ซึ่งเป็นสถานีเคเบิล จะไม่สมควรกว่าหรือที่จะใช้สถานีพีทีวี ซึ่งเป็นสถานีดาวเทียมเช่นเดียวกับ ASTV และไม่ได้ใช้ภาษีประชาชน ตอบโต้ แทนที่จะมาใช้เวลาและพื้นที่ของสื่อของรัฐอย่าง เอ็นบีที มาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว

น่าสงสัยนะคะว่านายกรัฐมนตรี เข้าใจอุดมการณ์ของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะหรือไม่ เพราะถ้าหากคุณสมัครเข้าใจก็จะรู้ว่าทุกสังคมประชาธิปไตยต้องการให้มีสื่อโทรทัศน์ที่ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมืองและอิทธิพลทางธุรกิจ เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง

การก่อเกิดของไทยพีบีเอส อาจจะไม่เป็นที่พอใจของนักการเมืองที่ต้องการสั่งสื่อทีวีให้ซ้ายหันขวาหันได้ อย่างที่เคยเป็นมา แต่ไทยพีบีเอส เมื่อทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ก็จะเป็นเครื่องมืออันสำคัญของประชาชนในการติดตามข่าวสารและเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

และนี่คือข้อแตกต่างระหว่างไทยพีบีเอสกับช่องเอ็นบีที อย่างชัดเจนที่สุด















5 comments:

Anonymous said...

นายสมัครเป็นนักบิดเบือนมาตลอดชีวิต อย่าไปใส่ใจเลยครับ เมื่อสื่ออย่างคุณทำงานเต็มที่ และตรงไปตรงมา นักบิดเบือนจำพวกนี้ก็ย่อมจะออกอาการปวดแสบปวดร้อนหน้าจอทีวีให้เห็นเป็นธรรมดา.. เป็นกำลังใจให้ครับ :)

kidzero said...

การที่นำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมานำเสนอผมว่า ไม่ได้เป็นการสร้างสถานการณ์ แต่เป็นผลกระทบที่เรายังไม่รู้ ถ้าเราฟังแต่นายสมัครอย่างเดียวก็จะรู้แค่สร้าง รัฐสภาขึ้นมาใหม่เท่านั้น โดยตัวเค้าเองก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องมีผลกระทบยังไงบ้าง การกระทำทุกอย่างต้อง มีทั้งดี ไม่ดี เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย การนำเสนอแบบนี้ดีแล้วครับแสดงถึงความเป็นกลาง สู้ สู้ เป็นกำลังใจให้ครับ

Anonymous said...

จะไปคิดอะไรมาก กับนักการเมืองไทย ถ้าชี้นิ้วสั่งไม่ได้ก็ไม่ใช่พวกเขา ประเทศถึงไม่เจริญไปกว่านี้ และที่สำคัญ เงินซื้อทุกอย่างได้ แม้แต่ศักดิ์ศรีและจรรยาบรรณของการเป็นสื่อ ก็หวังว่า รายการทีนี่ทีวีไทย พร้อมทีมงาน ยังคงมีอุดมการณ์อยู่ในหัวใจ อย่าไปร้อนไปหนาวกับคำพวกนี้ ถ้าเรารู้ว่า เราทำดีที่สุด และไม่เคยคิดร้ายใคร ก็จะได้รับผลที่ดีเช่นกัน เป็นกำลังใจ และแอบห่วงใยอยู่ห่างๆ

krit said...

คุณณัฏฐา ผมว่าการแทรกแซง และ คุกคามสื่อมีทั้งโดยอำนาจรัฐโดยตรง(แบบโบราณ) และคุกคามโดยกลุ่มทุน ที่ต้องแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว อันนี้สื่อเองก้อต้องพิสูจน์ตัวเองนะผมว่า ผมขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

hypoboyz said...

ผมชอบการนำเสนอข่าว แบบจริงใจ อย่างพี่ณัฏฐามากครับ เป็นแบบอย่างให้สื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ อย่างผมและเพื่อน ๆ ที่เพิ่งเข้ามาในวงการสื่อ ขอชื่นชมจริง ๆ

ส่วนนายกสมัคร เขาจะว่าอะไรทีวีไทย อย่าไปสนใจแล้วก็อย่าไปหวั่นไหวนะครับ ยุคนี้ สมัยนี้ รัฐบาลแทรกแทรงสื่ออย่างทีวีไทย ไม่ได้